ศาลปค.สูงสุด นัดพิจารณาคดีแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน
ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก หลังสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวก ฟ้องนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 4 คน ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมิได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม 2557 เวลา 09.30 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ อ. 1103/2556 ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ 1 กับพวกรวม 45 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ นายกรัฐมนตรี ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมิได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน)
สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 45 คน ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการดำเนินการต่อมาตามแผนแม่บทดังกล่าว กระทำการที่เป็นการฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ด้วยการไม่จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือทักท้วงไปยังผู้ถูกฟ้องคดีฯ แล้วหลายครั้ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ทบทวนการดำเนินการหรือการใช้อำนาจทางปกครองดังกล่าว จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง และปฏิบัติหรือดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 57 วรรคสองและมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยการนำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง ก่อนที่จะดำเนินการออกแบบและก่อสร้างในแต่ละแผนงาน (Module) เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ผู้ฟ้องคดีทั้ง 45 อุทธรณ์คำพิพากษาสรุปความได้ว่า การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่กระบวนการออกกฎหมาย การรวบรวมอำนาจจัดการของ กบล.การกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการบริหารจัดการน้ำฯ ไม่ผ่านงบประมาณของแผ่นดิน การจัดซื้อจัดจ้างไม่นำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 มาใช้ เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล ดังนั้น แผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเป็นให้เพิกถอนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่อุทธรณ์คำพิพากษาสรุปความได้ว่า แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำเป็นเพียงกรอบแนวความคิดโดยมีรายละเอียดที่แตกต่างเพิ่มมากขึ้น ยังไม่มีข้อยุติว่าจะดำเนินการตามแผนอย่างไร จึงยังไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อประชาชน รวมทั้งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้มีแผนการที่จะดำเนินการศึกษา ประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จึงมิได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด
ซึ่งเมื่อมีข้อยุติเกี่ยวกับโครงการที่จะดำเนินการแล้ว ก็จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป