กลุ่มวิศวะ จุฬาฯ ตั้งวงหารือแนวทางปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง
กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมปฏิรูปประเทศไทย(วศ.รปปท) ประชุมร่วมหาแนวทางปฏิรูป ชี้ต้องมีองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่ พร้อมจัดโครงสร้างการทำงาน
วันที่ 6 มกราคม 2557 กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมปฏิรูปประเทศไทย(วศ.รปปท) จัดประชุมระดมความเห็น เพื่อหารือเรื่องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ณ ห้อง 209 ตึก 3 คณะวิศวฯ จุฬาฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวัตถุประสงค์ของการระดมความเห็นครั้งนี้ ผู้จัดระบุว่า ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง และไม่มีส่วนเกี่ยวกับคณะ หรือจุฬาฯ แต่อย่างใด เพียงแต่ใช้เป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อให้ได้มีส่วนร่วมในระดับชาติ ในการปฏิรูปประเทศไทย โดยกลุ่มวิศวะ จุฬาฯ เห็นว่า ในหลายครั้งเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย มักเกิดขึ้นในสายงานวิศวกรรมศาสตร์ ผู้รับเหมา หรือที่ปรึกษาโครงการที่มาจากนโยบายของรัฐ รวมถึงการคอร์รัปชันในด้านอื่นๆ
สำหรับการระดมความเห็นครั้งนี้ได้มีการหารือและหาข้อตกลงร่วมกันในเบื้องต้นว่า กลุ่มที่ก่อตั้งนี้เพื่อต้องการผลักดันให้เกิดองค์กรปฏิรูป ที่สามารถทำตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารประเทศได้ ซึ่งจุดยืนของ วศ.รปปท. คือต้องการปฏิรูปทางการเมืองให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง และหากเป็นไปได้ก็ต้องการให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน เพื่อให้มีเวลาปฏิรูปโดยให้มีกฎ กติกาที่เที่ยงธรรม
ขณะที่นายชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ หนึ่งในคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กล่าวว่า ปัญหาทางการเมืองไม่ได้ยาก เพียงแค่คนที่มีหัวคิดไม่ได้ใส่ใจปัญหาทางการเมือง ปัญหาประเทศใหญ่ เราต้องแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นคือการปฏิรูป แล้วค่อยหาวิธีการแก้ปัญหาในระยะกลางและระยะยาวต่อไป โดยอาจมีการบริหารเฉพาะหน้า บางเรื่องเราเสนอให้กลุ่ม กปปส.ทำ บางเรื่องเราทำตามคำขอของ กปปส. รวมถึงการทำงานร่วมกับแบบคู่ขนาน ซึ่งกลุ่มวิศวะฯ อาจจะสอบถามถึงการต้องการความช่วยเหลือ อย่างด้านเทคโนโลยี เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ได้มีผู้เสนอแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้มีการปรองดองระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ในเมื่อกลุ่มรัฐบาลและประชาชนก็ต้องการปฏิรูปทั้งสองฝ่าย โดยมีความเห็นว่าต้องมีการปรึกษาพูดคุยและหารือกันเพื่อหาแนวทางปฏิรูปต่อไป พร้อมกับเชื่อว่าการ ประกาศปิดกรุงเทพฯ ของ กลุ่ม กปปส. มิใช่ว่าอยากจะทำ แต่เพื่อแสดงให้เห็นว่า เขาจะทำอะไรบางอย่างเท่านั้น อีกทั้งมองว่า ที่ผ่านมาแรงกดดันที่เป็นอารยะขัดขืน จนทำให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร แต่หากเป็นองค์กรที่ไม่ใช่แค่คณะวิศวะ จุฬาฯ แต่เป็นองค์กรที่ขยายไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ หรือมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็จะทำให้เกิดพลังแรงกดดันในการดำเนินการเป็นอย่างมาก