ถอดชนวนระเบิด10ปีไฟใต้ "มือประกอบ"มีไม่เกิน40ชีวิต!
เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สร้างความสูญเสียมากที่สุดตลอด 10 ปี ย่อมหนีไม่พ้นการก่อความรุนแรงด้วยวิธีลอบวางระเบิด และน่าจะเป็นเช่นนี้ในทุกพื้นที่การรบ ไม่ว่าจะเป็นอิรัก อัฟกานิสถาน หรือที่อื่นๆ ก็ตาม
กล่าวเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระเบิดที่คนร้ายใช้เริ่มตั้งแต่หลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส นั่นก็คือเหตุ "มอเตอร์ไซค์บอมบ์" กลางเมืองปัตตานี ทำให้ต้องสูญเสียเจ้าหน้าที่อีโอดี หรือชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด จากนั้นคนร้ายก็ใช้วัตถุระเบิดโจมตีเป้าหมายเรื่อยมา เหยื่อระเบิดมีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนทั่วไป รวมไปถึงทรัพย์สินทั้งของราชการและเอกชน
ตลอด 10 ปีนับรวมเหตุระเบิดได้ทั้งสิ้น 2,889 ครั้ง!
เฉพาะปี 2556 ฝ่ายรัฐต้องสูญเสียเจ้าหน้าที่อีโอดีฝีมือดีไปถึง 6 นาย หนึ่งในนั้นคือ "ดาบแชน" ร.ต.ต.แชน วรงคไพสิฐ นายตำรวจกู้ระเบิดจาก จ.นราธิวาส และยังมีเหตุลอบวางระเบิดรถหุ้มเกราะรีว่า ซึ่งเป็นรถหุ้มเกราะรุ่นใหม่คุณภาพดี จนกระเด็นตกถนน กำลังพลในรถเสียชีวิต ซึ่งนับเป็นการใช้ดินระเบิดปริมาณมากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้
หลายคนคงสงสัยว่า การวางระเบิดของคนร้ายมีพัฒนาการ และมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้นหรืออย่างไร เพราะแม้แต่เจ้าหน้าที่อีโอดีซึ่งเชี่ยวชาญวัตถุระเบิดเอง ก็ยังต้องสังเวยชีวิตไปเป็นจำนวนมาก และรถหุ้มเกราะอย่างรีว่าก็ยังไม่อาจต้านทานอานุภาพของมัน...
จากลอกเลียนสู่พัฒนาการ
พ.อ.กฤตภาส เครือเนตร ผู้บังคับหน่วยทำลายวัตถุระเบิด หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย เล่าย้อนถึงพัฒนาการระเบิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ว่า คนร้ายที่ทำระเบิดแสวงเครื่องในยุคแรกของเหตุการณ์ความไม่สงบ ส่วนใหญ่เรียนรู้มาจากต่างประเทศ แต่ไม่ได้เป็นการศึกษาอย่างเป็นทางการ เพียงแต่เป็นการเรียนรู้กันมาเอง เนื่องจากระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบขึ้น มีการลอกแบบจากต่างประเทศอย่างชัดเจน อุปกรณ์ที่นำมาใช้ประกอบวงจรระเบิดแสวงเครื่องก็เป็นไปตามแบบที่ต่างประเทศใช้ อย่างเช่น วงจรระเบิดใช้นาฬิกาคาสิโอ หรือโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกียรุ่นไหน คนร้ายในพื้นที่ก็ใช้รุ่นนั้น การประกอบระเบิดก็เหมือนกันอย่างไม่มีผิดเพี้ยน
ต่อมาในระยะหลัง มือระเบิดที่ชายแดนใต้เริ่มดัดแปลงและมีพัฒนาการมากกว่าในช่วงต้นของเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่ก็ไม่ได้ถึงกับมีการนำวงจรใหม่ๆ หรือการประกอบระเบิดแบบพิสดารมาใช้ เพราะวงจรก็ยังคงเป็นแบบเดิมๆ เพียงแต่มีการดัดแปลงผสมผสานวงจรระเบิดหลายๆวงจรเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดความซับซ้อน หวังผลในการวางระเบิดมากขึ้น
สาเหตุตรงนี้น่าจะมาจากผลของการลองผิดลองถูกมาตลอดหลายปี รวมไปถึงมือระเบิดรุ่นใหม่ๆ มีความรู้เฉพาะทางมากขึ้น เช่น หลายครั้งที่จับกุมมือระเบิดได้พร้อมอุปกรณ์วงจรประกอบระเบิด พบว่ามือระเบิดเป็นคนมีความรู้ด้านวงจรอิเลคทรอนิกส์
ใช้มือถือตั้งเวลา-ตัดตอนหลักฐาน
"การดัดแปลงหรือพัฒนาการวงจรจุดระเบิดของคนร้ายที่พบมากในระยะหลัง คือ การนำโทรศัพท์มือถือมาใช้ แต่ไม่ได้ใช้จัดระเบิดด้วยการโทรเข้าเหมือนเมื่อก่อน แต่ใช้การตั้งเวลาจากโทรศัพท์มือถือแทน ซึ่งตัวโทรศัพท์ก็จะไม่มีซิม ตัดการเชื่อมโยงถึงตัวคนร้าย และยังลวงเจ้าหน้าที่อีโอดีที่เข้าไปเก็บกู้ได้ด้วย หากไม่รอบคอบก็จะพลาดได้" พ.อ.กฤตภาส ยกตัวอย่างที่เป็นหนึ่งในพัฒนาการของมือระเบิดชายแดนใต้
สำหรับ "ดินระเบิด" ปริมาณมากที่สุดที่ใช้ในระเบิดแสวงเครื่องที่พบ คือ เหตุลอบวางระเบิดรถหุ้มเกราะรีว่า ในพื้นที่ ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2556 คนร้ายใช้ระเบิดบรรจุในถังแก๊ส 2 ถัง น้ำหนักรวมกันถึง 90 กิโลกรัม
"ดาบแชน"โดนวงจรซ้อนหลายชั้น
ส่วนกรณีที่ยังคงคาใจใครหลายคน เกี่ยวกับการลอบวางระเบิดลวงเจ้าหน้าที่อีโอดีมือฉมังอย่าง "ดาบแชน" จนต้องพลีชีพพร้อมเพื่อนร่วมทีมอีก 2 นาย เมื่อ 28 ต.ค.2556 นั้น พ.อ.กฤตภาส กล่าวว่า คนร้ายวางระเบิด 3 ลูก โดยมีวงจรจุดระเบิดซ้อนที่สามารถทำให้ระเบิดทำงานได้พร้อมกันทั้ง 3 ลูก และยังมีวงจรแบบกับดักที่เกิดจากเคลื่อนย้ายวัตถุ (Moving Trap) ที่เป็นวงจรซ้อนอีกด้วย จึงสามารถทำให้เกิดระเบิดได้อิสระในแต่ละลูกหากเกิดการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นระเบิดลูกใดก็ตาม
และการระเบิดในครั้งนั้น ถูกจุดขึ้นจากวงจรแบบกับดักระเบิดของระเบิดลูกที่สอง...
การวางระเบิดแสวงเครื่องในรูปแบบเดียวกันนี้ คนร้ายเคยนำใช้มาแล้วเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2556 เป็นระเบิด 3 ลูกซ้อนเหมือนกัน วงจรก็คล้ายกัน ถูกนำไปวางไว้ใต้หลังคาและรอบศาลาที่พักริมถนนสายนราธิวาส-ตากใบ บ้านโคกยามู ต.ไพรวัลย์ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แต่ครั้งนั้นเจ้าหน้าที่อีโอดีสามารถเข้าเก็บกู้และทำลายได้สำเร็จ
"อีโอดี" กับยุทธวิธีใหม่
"จากการสูญเสียเจ้าหน้าที่อีโอดี ทำให้มีการปรับเปลี่ยนการทำงานของเจ้าหน้าที่อีโอดีหน่วยต่างๆ มากขึ้น จากเดิมแต่ละหน่วยทำงานไม่เหมือนกัน อย่างเช่น อีโอดีตำรวจ ใช้การเก็บกู้ระเบิดเป็นหลัก โดยไม่ยิงทำลาย เพื่อหวังผลในเรื่องพยานหลักฐานจากระเบิดเพื่อสาวให้ถึงตัวคนร้าย วันนี้ก็ต้องปรับเปลี่ยนมาใช้การทำลายวัตถุระเบิดเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่อีโอดีแทน"
"วิธีการทำลายวัตถุระเบิดแทนการเก็บกู้ระเบิด ถามว่า พยานหลักฐานคงอยู่ไหม มันก็คงอยู่ แต่อาจจะไม่สมบูรณ์เหมือนเก็บกู้ได้ทั้งลูก และต้องใช้เวลารวมถึงความละเอียดในการเก็บชิ้นส่วนมากหน่อย ที่ผ่านมาระเบิดที่แหลกละเอียดก็เคยใช้เป็นพยานหลักฐานสาวถึงตัวคนร้ายได้มาแล้ว แต่ที่ได้แน่นอนคือความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่อีโอดี" ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจอโณทัย ย้ำ
เขากล่าวด้วยว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกวันนี้ต้องรอบคอบที่สุด อย่างการทำงานของหน่วยเฉพาะกิจอโณทัยเอง เมื่อมีชุดปฏิบัติการออกไปทำงาน ชุดที่เหลือต้องช่วยกันวิเคราะห์ และวางแผนด้วยกัน ยิ่งสมัยนี้มีโทรศัพท์มือถือส่งข้อความผ่านโปรแกรม "ไลน์" ได้ ชุดที่ทำงานสนามก็สามารถส่งภาพระเบิดมาให้ช่วยกันวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ เพื่อความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้นกว่าเดิม
มือประกอบระเบิดมีไม่เกิน 40
"จากการเก็บข้อมูลระเบิด พบว่าการประกอบระเบิดของมือประกอบแต่ละคนจะมี Signature หรือลายเซ็นของตัวเองอย่างชัดเจน เมื่อนำไปประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการซักถาม ทำให้ทราบว่า มือประกอบระเบิดที่ก่อเหตุอยู่ในพื้นที่มีอยู่ไม่เกิน 40 คน แต่ทุกวันนี้น่าจะน้อยลง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมมือประกอบระเบิดได้หลายคน" พ.อ.กฤตภาส บอก
ก่อนจะทิ้งท้ายให้ความมั่นใจถึงศักยภาพของอีโอดีไทย ไม่ว่าจะเป็นของทหาร ตำรวจ หรือ ตชด.ว่า ประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่อีโอดีไทย ได้รับการยอมรับจากอีโอดีหลายชาติ เห็นได้จากการฝึกร่วมอีโอดีนานาชาติที่ผ่านมา อีโอดีไทยได้อันดับหนึ่งในการแข่งขันประเภท Hook and Line คือการบังคับเชือกและตะขอในการย้ายสิ่งของ รวมไปถึงการดัดแปลงอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาใช้ในการเก็บกู้วัตถุระเบิด
นอกจากนั้นอีโอดีไทยยังเชี่ยวชาญระเบิดประเภทมอเตอร์ไซด์บอมบ์ ซึ่งอีโอดีชาติอื่นๆ ให้ความสนใจศึกษาจากเรามาก เพราะระเบิดประเภทนี้ในต่างประเทศไม่ค่อยมี
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พ.อ.กฤตภาส พร้อมตราสัญลักษณ์ของอีโอดี กองทัพบก
อ่านประกอบ : 10 ปีไฟใต้ปืนถูกปล้น 1,965 กระบอก ยอดตายปรับใหม่ 3.7 พันราย เทงบทะลุ 2 แสนล้าน!