“ยะลาสไตล์” ทางเลือกทางรอดการศึกษาไทย
ปี 2557 เป็นปี ‘รวมพลังชาวยะลา พัฒนาสู่อาเซียน’ เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และภายในปี 2558 อย่างน้อยร้อยละ 90 เด็กด้อยโอกาส เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษากว่า 11,000 คน จะต้องกลับเข้ามาสู่ระบบของการศึกษา
ข้างต้น คือ การพัฒนาและการสร้างโอกาสทางการศึกษา ที่ “เดชรัฐ สิมศิริ” ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา จัดลำดับความสำคัญให้อยู่ในวาระแรก จาก 16 วาระของจังหวัดยะลา
การจัดการศึกษาของจังหวัดยะลา หากวัดกันที่เรื่องคุณภาพ คงต้องยอมรับว่า ยะลา ก็คงเหมือนปัตตานี และนราธิวาส คือมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ เด็กยังคงอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดแก้ปัญหาไม่เป็น แต่ในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา ประเด็นที่จังหวัดยะลาพยายามเร่งแก้ไขมากที่สุด คือ เด็กและเยาวชน 6,000 คน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะพ่อแม่ยากจน
เด็กที่หลุดออกไปจากระบบการศึกษา และหลุดไปทุกช่วงชั้นนั้น ผศ.ไกรสร ศรีไตรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา อธิบายว่า นอกจากยากจนแล้ว ยังมีเด็กด้อยโอกาส เด็กกลุ่มเสี่ยงจากปัญหายาเสพติด ปัญหาสังคม รวมถึงกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบก็ทำให้เด็กหลุดออกไปจากระบบการศึกษาด้วย
ขณะที่การจัดการศึกษาที่ผ่านมาก็ต่างคนต่างทำ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาถึง 35 หน่วยงาน ต่างมีข้อมูลอยู่ในมือ แต่ไม่ได้นำมารวมกัน เพื่อขับเคลื่อนการศึกษา
การรวมพลังจึงถือเป็นจุดเด่นของยะลา เมื่อเกิดเครือข่ายบูรณาการการทำงานร่วมกัน จากความหลากหลายสู่ความร่วมมือ มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลสำหรับป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน มีระบบประกบดูแลเด็กด้อยโอกาส ทำเป็นข้อมูลพื้นฐานตั้งแต่แรกเกิดถึง 18 ปี รวบรวมไว้ทั้งหมด เพื่อให้เห็นชัดว่า เด็กกลุ่มไหนอยู่ในความรับผิดชอบของใคร เด็กกลุ่มไหนต้องดูแลเป็นพิเศษ
ซึ่งเมื่อมีข้อมูลเหล่านี้แต่ละหน่วยก็มาใช้ข้อมูลร่วมกัน และร่วมแก้ไขปัญหาของเด็กแต่ละกลุ่มทำให้เห็นปัญหาและสิ่งที่ต้องติดตามแก้ไขที่ชัดเจนมากขึ้น
การจัดการศึกษารูปแบบที่เรียกว่า “ยะลาสไตล์” ผศ.ไกรสร ชี้ให้เห็นว่า จุดเด่นแรก เริ่มจากหลักคิด Education for All หรือ All for Education เรื่องของการศึกษาเด็กทุกคนต้องได้รับการดูแล โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน ตั้งแต่แรกเกิดถึง 18 ปี ซึ่งจากหลักคิดตรงนี้ ทุกส่วนก็ได้ร่วมกันสร้างฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ทุกภาคส่วนสามารถนำไปใช้และเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน
จุดเด่นที่สอง เมื่อทุกภาคส่วนต้องระดมสรรพกำลัง ในการจัดการศึกษาเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน ส่วนราชการ ท้องถิ่น ชุมชน ผู้ปกครอง
จุดเด่นที่สาม การกำหนดให้เป็นวาระของจังหวัดยะลา
จุดเด่นที่สี่ ความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การพัฒนาทั้งหมดต้องเริ่มจาก “ต้นน้ำ” คือเด็กปฐมวัย เปรียบเหมือนฐานรากของตึก ถ้าทำฐานตึกให้มั่นคงแข็งแรง ก็จะสร้างตึกในชั้นที่สูงขึ้นไปได้อย่างมั่นคงแข็งแรง และไม่เฉพาะที่ตัวเด็กอย่างเดียว ต้องดูบริบทที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็กด้วย ซึ่งครู ก็คือบุคลากรสำคัญที่ต้องพัฒนาศักยภาพ
“ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จากที่ต่างคนต่างทำ โยนได้โยน รอฟ้า รอฝน รอรัฐบาล รอส่วนกลางว่าจะส่งอะไร หรือจะให้ทำอะไร ปัจจุบันเกิดการจัดการตนเองของท้องถิ่นขึ้นในการจัดการศึกษา อบต. เทศบาล ท้องถิ่น ชุมชนเริ่มวางแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อให้ปรากฏในแผนของท้องถิ่นในการจัดการศึกษาของตนเองอย่างที่เห็นในปัจจุบัน”
ขณะที่มุมมองของท้องถิ่น “มุขตาร์ มะทา” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ชี้ให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ของท้องถิ่นต่อการจัดการศึกษาว่า มีทั้งหมด 63 แห่ง ก็เริ่มมีบทบาทต่อการจัดการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ มีอปท.เกินกว่า 40 แห่งที่มีแผนพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน ส่วนอีก 20 กว่าแห่ง ก็พยายามริเริ่ม ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแล้ว
ที่สำคัญทุกๆ ปี นายกอบจ.ยะลา บอกว่า เขาจะจัดสรรงบประมาณเรื่องการศึกษา การพัฒนาเด็กและเยาวชน ไว้เป็นงบประมาณหลักลำดับต้นๆ เสมอ แม้ว่า ที่ผ่านมาจะมีความพยายามเรียกร้องจากส่วนกลางให้จัดสรรงบประมาณลงท้องถิ่นให้ได้ ร้อยละ 35 ตามกฎหมายกำหนด แต่ความเป็นจริงขณะนี้ท้องถิ่นได้แค่ร้อยละ 27 ยังไม่นับรวมกิจกรรม นโยบายรัฐบาลมอบให้ท้องถิ่นทำเสมอๆ ซึ่งมาเฉือนงบฯ ส่วนนี้ไปอีก
ด้าน “ครูจงจิตร อินทจักร์” ครูสอนดีจังหวัดยะลา จากโรงเรียนบ้านด่านสันติราษฎร์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มองว่า ปัญหาของพื้นที่มีมีความเสี่ยงสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสอนให้เด็กเป็นคนดี ก่อนคนเก่ง และสิ่งที่โรงเรียนต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องต่อการจัดการศึกษาช่วยส่งเสริม คือ เรื่องครอบครัวก่อน เพราะจุดเริ่มต้นของปัญหามาจากผู้ปกครอง ครอบครัวแตกแยก และทำอย่างไรให้ครอบครัวเข้มแข็ง
ครูจงจิตร ครูสอนดีจังหวัดยะลา เดิมเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ วันนี้ต้องเปลี่ยนมาสอนเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม เพราะเด็กว่าร้อยละ 80 ครอบครัวแตกแยก มีพฤติกรรมเสี่ยงมากทั้งเรื่องยาเสพติด การท้องก่อนวัยเรียน และปัญหาความรุนแรงในฟื้นที่ส่งผลให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา
การแก้ปัญหาครอบครัวของเด็ก จึงเป็นประเด็นแรก ที่ครูจงจิตร นำเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ใช้หลักศาสนาเข้ามาจับ เน้นให้เด็กมีความกตัญญูกตเวที ส่งเสริมจัดค่ายให้เด็กกับผู้ปกครองอยู่ด้วยกัน พูดคุยกันมากขึ้น
ทางเลือกทางรอดการศึกษาไทย หนึ่งในคำตอบหาได้ที่ยะลา คำตอบที่ว่า การศึกษาไทย การปฏิรูปการศึกษาที่เราๆท่านๆอยากเห็น จำเป็นอย่างยิ่งต้องเป็นการจัดการเชิงพื้นที่ “วาระชาติไม่สำคัญเท่าวาระจังหวัด” และการลงทุนลงแรงลงเวลาไปกับการสร้างคน ก็น่าจะมีความสำคัญมากกว่าการไปลงทุนลงแรงกับการไปสร้างถนนหนทางหรือสร้างอย่างอื่นเป็นแน่แท้
เมื่อเร็วๆ นี้ เดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าฯ ยะลา ประธานพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้พิการประจำอำเภอเบตง
ณ โรงเรียนบ้านใหม่ (วันครู) 2503 กม.39 ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
ขอบคุณ:สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดทริปสัญจร "ยะลา ต้นแบบจังหวัดจัดการศึกษาตนเองในพื้นที่สีแดง"