จรัญ มะลูลีม...10 ปีไฟใต้รัฐยังไร้เอกภาพ แนะมองมิติชาติพันธุ์-ชาตินิยม
"รัฐไทยให้ทุกอย่าง ยกเว้นความยุติธรรม เป็นคำพูดของคนในพื้นที่ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาชายแดนใต้ควรพิจารณา"
เป็นคำกล่าวของ ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมุสลิมศึกษาและโลกอาหรับ ที่ชี้เปรี้ยงไปยังต้นเหตุสำคัญประการหนึ่งซึ่งทำให้พื้นที่ชายแดนใต้ปะทุสู่ความรุนแรงมาตลอดหลายสิบปี โดยเฉพาะห้วง 1 ทศวรรษหลัง
แม้จะไม่มีชื่อปรากฏบ่อยนักเวลาที่มีการควานหาความเห็นหรือทัศนะของนักวิชาการเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสื่อมวลชนแขนงต่างๆ แต่แท้ที่จริงแล้วอาจารย์จรัญเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง ณ ดินแดนปลายด้ามขวานในหลายมิติ โดยเฉพาะการร่วมเป็นกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงหลายต่อหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรือเซะ ตากใบ เผาบันไดวัดช้างให้ หรือทำลายกระถางธูปเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
นอกจากนั้น อาจารย์จรัญ ยังมีคอลัมน์ประจำในนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ชื่อดังให้ได้อ่านความคิดความเห็นกันทุกๆ 7 วันอีกด้วย
ชาติพันธุ์-ชาตินิยม-ศาสนา
"เราเห็นปัญหามาเยอะมาก การอุ้ม รีด นำไปสู่การสังหารเคยเกิดมาก่อน มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ช่วงเวลา" เขาย้อนอดีตของดินแดนแห่งนี้ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์บาดแผล พร้อมกับชี้จุดอ่อนของรัฐไทยในการปลดชนวนปัญหาในห้วง 10 ปีหลัง
"เราไม่เคยมองในมิติของชาติพันธุ์ จากการศึกษาในแง่ อิสลามิก แอคติวิตี้ กรณีภาคใต้ของไทยไม่ได้เป็นอิทธิพลของนิกายในศาสนาอิสลาม แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องชาตินิยม ชาติพันธุ์ และศาสนารวมกัน บรรดานักต่อสู้ (จูแว) เน้นความเป็นอิสลาม แต่ไม่ใช่สายอนุรักษ์นิยม"
อาจารย์จรัญ ขยายความต่อว่า จากการศึกษาของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (กอส.) พบว่า คนพื้นที่ชายแดนใต้อยากให้เรียกตัวเองว่ามาเลย์มุสลิม มากกว่าไทยมุสลิม เพราะตีความว่าไทยคือพุทธ
"คำๆ หนึ่งที่ใช้มากโดยกลุ่มจูแว และรัฐไทยโกรธมาก คือ ปัตตานีที่ถูกยึดครอง ทั้งๆ ที่ถูกยึดครองจริงในอดีต เหมือนกับปาเลสไตน์ก็พูดมาตลอด ออคคิวพาย ปาเลสไตน์ (ปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง) เพราะถูกอิสราเอลครอบครองโดยรวมหัวกับนานาประเทศ"
"ชายแดนใต้ของเราก็เหมือนกัน เขาเรียกว่าสยามผู้ยึดครอง ลักษณะการเรียกแบบนี้มีมานานแล้ว ไม่ใช่แค่ในคำแถลงของบีอาร์เอ็น (หลังเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพเมื่อต้นปี 2556) เพียงแต่เราไม่ให้การยอมรับ แม้เราลืมอดีต แต่เราไม่ควรไปตีความตามตัวอักษรมากเกินไป ดินแดนส่วนหนึ่งเคยเป็นของไทยจริง และดินแดนนี้ส่วนหนึ่งก็ไปอยู่กับมาเลเซียด้วย พื้นที่ตอนเหนือของมาเลเซียกับตอนใต้ของไทยจึงเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก"
เทียบตะวันออกกลาง-มาเลย์
10 ปี 7 รัฐบาล 6 นายกฯของปัญหาชายแดนใต้ มีคนตายไปหลายพันคน บาดเจ็บเกือบหมื่นคน อาจารย์จรัญ บอกว่า ถ้ามองเทียบกับสงครามในตะวันออกกลางก็ถือว่าใกล้เคียง
"บางคนบอกว่าสถานการณ์บ้านเราคล้ายๆ อิรัก ผมก็ไม่ปฏิเสธ เพราะมี 3 อย่างที่เหมือนกัน คือ 1.ความขัดแย้ง 2.การต่อสู้ และ 3.ความทุกข์ทรมานของผู้คน หรือ Conflict Fighting and Mystery"
หากพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ซึ่งแท้ที่จริงแล้วก็มีความขัดแย้งภายในเช่นกัน อาจารย์จรัญ บอกว่า ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยต่างกับปัญหาขัดแย้งระหว่างคนมาเลย์ ฮินดู และมาเลย์จีน เพราะที่มาเลเซียคนชาติพันธุ์ต่างๆ จะอยู่รวมกันหมด ปะปนกันไป หากเกิดความรุนแรงจะส่งผลกระทบถึงกันทุกกลุ่มชาติพันธุ์ จึงช่วยกันระวัง และช่วยกันป้องกันแก้ไข แต่ที่ภาคใต้คนมลายูอยู่รวมกันพื้นที่เดียว ผลกระทบจึงตรงไปที่นี่ การแก้ปัญหาของภาครัฐก็เกิดการเหมารวม มองคนเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันหมด
"อันวาร์ อิบรอฮิม (ผู้นำฝ่ายค้านมาเลเซีย) เคยเสนอว่า การแก้ปัญหาต้องไม่มองคนชายแดนใต้อยู่นอกวง น่าจะมีสิทธิมีเสียงในการแสดงตัวตนของตนเอง จริงๆ กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐมีหลายแนวคิด ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรนิยม หรือแม้แต่พวกนิยมคอมมิวนิสต์ กลุ่มที่ต้องการเป็นเอกราช ต้องการรวมกับมาเลเซีย และรวมกับรัฐไทย นี่คือลักษณะ"
"แต่กลุ่มที่มองข้ามไม่ได้และต่อต้านรัฐไทยมาตลอด คือ พี่น้องมาเลย์มุสลิมที่เรียกตัวเองว่านักต่อสู้ หรือ 'จูแว' กลุ่มนี้กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ ทั้งชายแดนใต้ของไทยและในมาเลเซีย"
ไฟใต้...ไร้องค์กรภายนอกแทรก
10 ปี 7 รัฐบาล 6 นายกฯ อาจารย์จรัญ เห็นว่ายังมีความไม่เป็นเอกภาพในการปฏิบัติและบังคับบัญชาเพื่อจัดการปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่สำคัญรัฐบาลไทยแทบทุกสมัยยังมองประเทศมุสลิมและองค์กรมุสลิมอย่างไม่ไว้วางใจ...
"เราเข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์ในโอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) ซึ่งมีชาติสมาชิกมากที่สุดรองจากยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) เราจะเป็นสมาชิกก็ได้ แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยให้ความสนใจ กระทั่ง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ (ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย) จึงเสนอตัวเป็นผู้สังเกตการณ์ และโอไอซีช่วยไทยหลายด้าน แต่หน่วยงานความมั่นคงบางหน่วยกลับมองอย่างไม่ไว้ใจ ผมยืนยันว่าปัญหาภาคใต้ของเราไม่มีอำนาจภายนอกเข้ามา แต่เป็นเรื่องชาติพันธุ์ ชาตินิยม ศาสนา เรื่องความไม่เท่าเทียม กรณีนี้จึงเป็น absolutely local (เป็นปัญหาระดับพื้นที่อย่างแท้จริง)"
สงครามอุดมการณ์
10 ปี 7 รัฐบาล 6 นายกฯ อาจารย์จรัญ อธิบายถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่า มีทั้งอุดมการณ์ และความไร้อุดมการณ์สลับกันไป
"ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ มี 7 ศพที่ญาติขอฝังรวมกัน การกระทำที่ต่อสู้กับรัฐถือเป็นชาฮีด (ตายในหนทางศาสนา) เป็นญิฮาด (ตายในแนวทางของพระเจ้า) ไม่ต้องล้างศพ ไม่ต้องล้างเลือด ไม่ต้องล้างฝุ่นผงตามตัว ฉะนั้นจะบอกไม่มีอุดมการณ์คงไม่ได้ อย่างเหตุการณ์กรือเซะ (28 เม.ย.2547) เป็นการเตรียมตัวพร้อมจะตาย"
อาจารย์จรัญ อธิบายว่า จากการสอบสวนหลายกรณีที่เกิดขึ้น พบกลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่แตกออกเป็นหลายกลุ่ม บางกลุ่มมีอุดมการณ์ บางกลุ่มที่ไร้อุดมการณ์ก็มี หรือกลุ่มที่มีความคิดเรื่องล้างแค้น ผมคิดว่าระหว่างการมีอุดมการณ์กับการล้างแค้นน่าจะกระจัดกระจาย
"ไม่ว่าจะอย่างไร ผมเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี แต่ก็ต้องดำเนินนโยบายอย่างมียุทธศาสตร์ เพราะ ยัตเซอร์ อาราฟัต (อดีตประธานองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ หรือพีแอลโอ) เคยบอกว่า สันติภาพนั้น ถ้าทำไม่สำเร็จจะรุนแรงกว่าสงคราม"
"สำหรับปัญหาของบ้านเรา สันติภาพที่ปราศจากความยุติธรรมมีหลายเรื่อง เช่น ส่งนโยบายจากข้างบนลงไปข้างล่าง มากกว่ารับความต้องการจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน ฉะนั้นต้องช่วยกันแก้ สิบปีที่ผ่านมาน่าจะสรุปบทเรียนได้หลายอย่าง จากที่ไม่เชื่อเรื่องการพูดคุยคุยกับผู้ก่อเหตุรุนแรง ปัจจุบันก็เชื่อว่าต้องคุย และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นความปรารถนา อาเจะห์เองก็เป็นตัวอย่างที่ดี ตอนแรกคิดจะแยกจากอินโดนีเซียไปเลยเหมือนติมอร์ แต่บทเรียนจากติมอร์ก็บอกว่าทำอย่างนั้นไม่ได้"
5จุดอ่อนทำโต๊ะพูดคุยล้ม
10 ปี 7 รัฐบาล 6 นายกฯ ปรากฏว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นซึ่งเริ่มขึ้นในปีที่ 9 เป็นนโยบายสันติวิธีที่หลายคนเชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนความรุนแรงสู่ความสงบ ทว่าดำเนินการมาไม่ถึงปีก็ทำท่าจะล้มไปเสียแล้ว
อาจารย์จรัญ มองว่า คนที่มาร่วมโต๊ะพูดคุยส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจเหนือกลุ่มจูแว เห็นได้จากมีการโจมตีตลอดตั้งแต่เดือน ก.พ.2556 ที่มีการลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการสันติภาพ
เขาอธิบายว่า ปัญหาการพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมาเป็นปัญหาที่เกิดจากไทยเองด้วย กล่าวคือ 1.การตีความข้อเรียกร้องของฝ่ายไทย ปรากฏว่าไทยรับไม่ได้ทุกเรื่อง แล้วจะคุยไปทำไม ระยะหลังมีการนำข้อเรียกร้องที่เดิมรับไม่ได้มาพิจารณาใหม่หลายข้อ แต่ก็เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองเสียก่อน (ยุบสภา)
2.การพูดคุยไม่ควรให้ความสำคัญกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งในลักษณะที่ไปผูกกับตัวบุคคลมากเกินไป 3.ปัญหาภาคใต้มีนายหน้าค้าโครงการความมั่นคงกับรัฐอยู่เยอะ ฉะนั้นการไปฟังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมักไม่ได้ภาพที่แท้จริง การพูดคุยเจรจาที่ขีดเส้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมักไม่สำเร็จ
4.เราแยกแยะสถานการณ์ต้นเหตุได้ไม่ชัดเจน ประกอบกับวิธีการตีความข้อเรียกร้องของรัฐไทยมีกลุ่มผูกขาดความรักชาติคอยคัดค้าน ทำให้ขยับไม่ค่อยได้
5.การให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกฝ่ายเดียว ถือเป็นจุดอ่อนเหมือนกัน เพราะถ้ามองความสำเร็จของฟิลิปปินส์ที่เจรจากับกลุ่มอิสลามโมโร จะพบว่ามีหลายกลุ่มเข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างเปิดเผย ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย สหภาพยุโรป องค์กรสตรี และอื่นๆ อาจรวมถึงอาเจะห์ด้วย
"การพูดคุยควรจะปิดลับตลอด เหมือนกรณีปาเลสไตน์กับอิสราเอล ไปคุยกันโดยใช้รัฐมนตรีต่างประเทศ มีนอร์เวย์เป็นคนกลาง โดยไม่เป็นข่าว ถ้าขึ้นโต๊ะแบบเปิดเผย เราไม่คุ้นเคยกับให้อิสรภาพคนในประเทศได้วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่างๆ สภาพจึงเป็นอย่างที่เห็น"
ต้องขยายกลุ่มคุย
อาจารย์จรัญ ชี้ด้วยว่า ปัญหาสำคัญของการพูดคุยเจรจาตลอดหลายรัฐบาลที่ผ่านมา คือ การมีกลุ่มนักต่อสู้หรือผู้เห็นต่างจากรัฐเข้าร่วมไม่หลากหลายพอ
"การพูดคุยเริ่มชัดสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นเรื่องแปลกที่รัฐบาลทหารให้การยอมรับไดอะล็อก (การพูดคุย) เมื่อก่อนเราพูดเสมอว่าเราจะไม่คุยกับโจรใต้ แต่สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ไปเยือนมาเลเซียมากที่สุดถึง 4 ครั้ง และยอมรับการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะการคุยกับพูโลและบีอาร์เอ็น ยอมรับบทบาทของ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด (อดีตผู้นำมาเลเซีย ให้เป็นผู้เกี่ยวข้องกับการพูดคุย และยังฟื้น ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ขึ้นมาด้วย"
"ต่อมาเมื่อเดือน มี.ค. 2555 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไปพบกลุ่มแยกดินแดนที่เคแอล กระทั่ง 28 ก.พ.2556 นำไปสู่การพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ พ.ต.ท.ทักษิณ อยากแก้ปัญหาภาคใต้ เพราะรู้สึกผิดพลาดจากเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ คุณทักษิณเข้าใจมุสลิมมากขึ้น เพราะหลังถูกรัฐประหารมีแต่ประเทศมุสลิมที่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พำนัก"
"ปฐมบทการพูดคุยเจรจารอบนี้เริ่มจากบทความฝรั่ง (สื่อมวลชนต่างประเทศ) ที่เขียนเมื่อเดือน มี.ค.2555 ว่าคุณทักษิณไปคุยจริง แต่ไม่มีการขอโทษเหมือน พล.อ.สุรยุทธ์ แต่ปัญหาคือกลุ่มหลายกลุ่มไม่ได้ถูกเชิญขึ้นโต๊ะเจรจาด้วย กลุ่มที่ทำมานานแล้วได้รับเชิญ แต่กลุ่มที่กำลังเป็นปัญหาหรือต่อต้านรัฐอย่างรุนแรง กลับถูกทิ้งเอาไว้"
"เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วผมได้ไปซีเรีย เป็นช่วงก่อนเกิดสงครามกลางเมือง ได้ไปเยือนหลุมศพนักต่อสู้ชาวเคิร์ด และต้องไม่ลืมว่า ตนกูบีรอ กอตอนีรอ หัวหน้าพูโล ได้ไปจบชีวิตลงที่ซีเรีย ฉะนั้นพูโลจึงถือเป็นกลุ่มเก่าแก่ มีบทบาทสำคัญ กลุ่มที่เหลือก็ตามกันมา แต่รัฐไทยไปให้ความสำคัญกับ บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต เป็นหลัก เพราะคิดว่าเป็นหลักในพื้นที่ เราต้องพิจารณาให้มีกลุ่มที่เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยมากขึ้น ให้ครอบคลุมสถานการณ์ เพราะที่ผ่านมาบนโต๊ะเจรจาคุยกันสนุกสนาน แต่วันรุ่งขึ้นกลายเป็นอีกอย่าง"
ดันเป็นวาระประเทศ
10 ปี 7 รัฐบาล 6 นายกฯ อาจารย์จรัญ สรุปทิ้งท้ายว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้การแก้ปัญหาชายแดนใต้ไม่สำเร็จ มาจากการเมือง การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นไปได้ว่าหลังจากนี้น่าจะมีการยกเครื่องการเจรจาสันติภาพ แม้แต่นิยามของคำว่า "เขตปกครองพิเศษ" ก็มีการถกเถียงกันอยู่ บ่อยครั้งเรายกการแก้ปัญหาให้กับฝ่ายการเมืองทั้งหมด ทั้งที่เป็นเรื่องของทุกคน ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน
"มีการสำรวจว่าในชายแดนใต้มีการประท้วงน้อยที่สุด น้อยกว่าภาคอื่น เพราะความรักสงบ หากกลับกลายเป็นพื้นที่ที่ผู้คนถูกเรียกไปสอบสวนมากที่สุด คนที่จัดการงานความมั่นคงช่วงหลังเข้าใจพื้นที่มากขึ้น การจะผลักดันให้ปัญหาภาคใต้เป็นวาระของประเทศเป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมารัฐบาลทำแค่ครึ่งเดียว ไม่ได้ทำเต็มที่ ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ต้องทำอย่างแท้จริง"
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : งานเขียนชิ้นนี้รวบรวมจากคำอภิปรายของ ดร.จรัญ มะลูลีม บนเวที "หนึ่งทศวรรษปัญหาใต้" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อ 28 พ.ย.2556 และ เวที "สันติภาพปาตานี ทางออกของปัญหาชายแดนใต้" ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อ 24 ธ.ค.2556 รวมทั้งการให้สัมภาษณ์นอกรอบกับ "ทีมข่าวอิศรา"