สปสช.เผยผลสำเร็จ 'กองทุนสุขภาพตำบล' จัดตั้งครบเกือบ 100% ทั่วประเทศ
สปสช.เดินหน้าหนุนกองทุนสุขภาพตำบล หลัง 7 ปีผลงานชัด ครอบคลุมการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพประชาชนได้ทั่วถึง ปี 2556 ดูแลประชากร 56 ล้านคนแล้ว แถมเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยดึงท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสุขภาพคนในพื้นที่ได้ตรงจุด
นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากที่ สปสช. ได้ร่วมกับองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล โดยได้เริ่มตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ปัจจุบันได้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบลพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศถึง 7,776 แห่งแล้ว(ร้อยละ 99.68) ครอบคลุมดูแลสุขภาพประชากร 56.66 ล้านคน
โดยกิจกรรมที่ดำเนินการภายใต้กองทุนสุขภาพตำบล อาทิ การจัดซื้อบริการตามชุดสิทธิประโยชน์ให้กับกลุ่มประชากรเป้าหมาย ทั้งเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง, การสนับสนุนหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่และประชาชนในชุมชนดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์/อัมพาต ผู้ป่วยโรคไต หัวใจ มะเร็ง เอดส์
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ช่วงระยะเวลา 7 ปีการจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบลที่ประสบผลสำเร็จ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ดีว่า กองทุนสุขภาพตำบลที่ดำเนินการมานี้ นับเป็นกลไกลและเครื่องมือที่สำคัญเพื่อกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น และให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่สอดคล้องกับบริบทสังคมในพื้นที่ ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ที่ระบุว่า กองทุนสุขภาพตำบลจะช่วยเสริมพลังอำนาจของท้องถิ่นและชุมชนได้ดี ไม่เพียงแต่ทำให้ชุมชนเกิดความตื่นตัวด้านสุขภาพ แต่ยังมีการสมทบงบประมาณในกองทุนเพื่อให้มีศักยภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางเปิดให้องค์กรชุมชนเข้าร่วมมีบทบาทในการเสนอโครงการดูแลสุขภาพได้
“การจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบลที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ทำให้มีการสมทบงบประมาณจากท้องถิ่นเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความตระหนักและลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจากคนในท้องถิ่นและชุมชนเอง เห็นได้จากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพ เรียกว่าให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการดูแลสุขภาพคนในพื้นที่กันเอง ภายใต้การสนับสนุนจาก อปท. สปสช. และสถานีอนามัย ตลอดจนหน่วยราชการในพื้นที่” เลขาธิการ สปสช. กล่าว และว่า นอกจากนี้ยังทำให้ความคิดริเริ่มและนวัตกรรมใหม่ในการดูแลผู้ป่วยขึ้นจากโครงการต่างๆ ที่นำเสนอเข้ามาจากท้องถิ่นมากขึ้น
นพ. วินัย กล่าวอีกว่า ในปี 2557 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบล 40 บาทต่อประชากร และจะเพิ่มเติมอีก 5 บาทต่อประชากร โดยกำหนดให้มีโครงการดูแลกลุ่มประชากรวัยเด็กและผู้สูงอายุ รวมทั้งมีผลการดำเนินงานกองทุนที่เป็นไปตามเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นจัดทำแผนสุขภาพชุมชน การค้นหาผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้วยโอกาสในชุมชนเพื่อให้ได้รับการดูแลที่ทั่วถึง รวมถึงการจัดตั้งกองทุนต้นแบบและบูรณาการสร้างสุขภาวะของชุชนเพื่อให้เกิดความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสุขภาพในระดับต่างๆ เป็นต้น
ด้านนายทรงศักดิ์ โชตินิติวัฒน์ นายกเทศมนตรีพระแท่น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี หนึ่งใน อปท.ที่เข้าร่วมจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบล กล่าวว่า เทศบาลตำบลพระแท่นได้ร่วมจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบล ตั้งแต่ปี 2553 โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพระแท่น (รพ.สต.พระแท่น) เป็นเครือข่ายบริการหลัก ร่วมกัน รพ.สต. และโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ มีการจัดกิจกรรมการเยี่ยมบ้าน ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คนพิการ และเด็กแรกเกิด รวมถึงการเน้นให้ความรู้กับประชาชนในการดูแลสุขภาพ
ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา เทศบาลตำบลพระแท่นได้รับรางวัล “ชุมชนดาวรุ่ง” ให้เป็นชุมชนปลอดขยะและได้จัดทำขยะรีไซเคิล ทำน้ำหมักชีวภาพ และใช้เกษตรอินทรีย์ ในระดับประเทศจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
นายกเทศมนตรีพระแท่น กล่าวต่อว่า สำหรับการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมสุขภาพตำบล จะดึงให้ทุกคนในชุมชนเข้ามีส่วนร่วม โดยมีการตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เป็นคนในชุมชนร่วมบริหาร ทำให้เห็นปัญหาสุขภาพคนในพื้นที่และสามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุด
ทั้งนี้ งบประมาณกองทุนสุขภาพตำบลพระแท่น ตั้งแต่ปี 2553 –ปัจจุบัน มีจำนวน 1,422,136 ล้านบาท ในจำนวนนี้ได้รับสนับสนุนจาก สปสช. 876,440 บาท จากท้องถิ่นอุดหนุน 439,860 บาท เงินสมทบจากชุมชน 91,139บาท และเงินสมทบจากแหล่งอื่นๆ 14,696 บาท นับเป็นความร่วมมือและการร่วมบริหารจัดการระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล ประชาชน และหน่วยงานสาธารณสุข ที่ร่วมกันดำเนินการและบริหารจัดการ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพในพื้นที่