ข้อเสนอเครือข่ายลุ่มน้ำแห่งประเทศไทย :: "เวทีสัญญาประชาคม ประชาชนพบนักการเมือง"
ข้อเสนอเครือข่ายลุ่มน้ำแห่งประเทศไทย
โครงการรณรงค์เลือกตั้ง 2554 "เวทีสัญญาประชาคม ประชาชนพบนักการเมือง"
ณ มหาวิทยาลัยรังสิต
24 มิถุนายน 2554
ปัญหาการจัดการน้ำ ที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อพี่น้องประชาชนมายาวนาน รัฐต้องทบทวนบทบาทในการจัดการน้ำ และการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า โดยเครือข่ายลุ่มน้ำแห่งประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ มีข้อเสนอ ดังนี้
1 ข้อเสนอต่อภาครัฐ
1.1 รัฐต้องทบทวนแผนการจัดการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ และหันมาผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำโดยชุมชน ซึ่งจะเป็นทางออกในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
1.2 รัฐต้องยุติการผลักดัน พรบ.น้ำ ที่จะเป็นการรวมศูนย์อำนาจรัฐ
1.3 รัฐต้องกระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และระบบการ จัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ
1.4 รัฐต้องจัดตั้งกองทุนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และผลกระทบจากภัยเขื่อนแตก รวมทั้งภัยที่เกิดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากรัฐภัย
1.5 รัฐต้องยุติการผลักดัน และยกเลิกโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทย เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการเขื่อนแม่น้ำยม โครงการเขื่อนยมบน จ.แพร่, โครงการเขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์, โครงการเขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, โครงการเขื่อนแม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร, โครงการเขื่อนท่าแซะ โครงการเขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร, โครงการเขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี, โครงการเขื่อนเขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช, โครงการเขื่อนสายบุรี จ.ปัตตานี เป็นต้น
1.6 รัฐต้องยอมรับและส่งเสริมการจัดการน้ำโดยชุมชน เคารพต่อภูมิปัญญาชาวบ้านแต่ละท้องถิ่น ที่มีความแตกต่างในการจัดการน้ำของแต่ละชุมชนท้องถิ่น อาทิ ระบบเหมืองฝาย
1.7 รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก
1.8 รัฐต้องส่งเสริมให้ชาวบ้านและชุมชนฟื้นฟูสภาพป่าอย่างเร่งด่วน
1.9 รัฐต้องแสดงความรับผิดชอบ รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ผ่านมา อาทิ เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี, เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีษะเกษ, เป็นต้น
1.10 โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า แร่ ฯลฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจากชุมชน รวมทั้งต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ และผ่านกระบวนการประชาวิจารณ์ที่เป็นธรรม
1.11 รัฐต้องยุติการผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำสาละวิน รวมทั้งหยุดผลัดดันโครงการผันน้ำ กก อิง น่าน โครงการโขง ชี มูน เป็นต้น
1.12 รัฐต้องประสานการร่วมมือในการทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำชาวบ้าน การกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน โดยตระหนักถึงระบบนิเวศน์ และภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นเป็นสำคัญ
1.13 รัฐต้องทบทวนนโยบายการพัฒนาลุ่มน้ำ ที่เน้นสร้างโครงการขนาดใหญ่ โครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ
1.14 รัฐต้องทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ ที่ทำลายป่า
2 ข้อเสนอต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2.1 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล อบต. อบจ.) จัดทำฐานข้อมูลลุ่มน้ำ แบบมีส่วนร่วม
2.2 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้โอกาสในการใช้สิทธิของภาคประชาชน ในการจัดการลุ่มน้ำ ด้วยภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชุมชน
2.3 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดการความรู้ โดยเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จัดแหล่งเรียนรู้ หรือศูนย์เรียนรู้ หลักสูตรท้องถิ่น และการวิจัย ในแต่ละลุ่มน้ำ
2.4 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำแผนแม่บทพัฒนา หรือวาระการจัดการลุ่มน้ำ และสนับสนุนงบประมาณ แบบบูรณาการ
2.5 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการบังคับใช้กฎหมาย มาตรการ กฎระเบียบ ที่เป็นการฟื้นฟู อนุรักษ์ ควบคุมป้องกัน และส่งเสริมการจัดการลุ่มน้ำ แบบมีส่วนร่วม ที่โปร่งใส และเป็นธรรม กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
2.6 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการสื่อสารสาธารณะ เกี่ยวกับการจัดการลุ่มน้ำ รวมถึงผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติ จากการพัฒนาโครงการต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ
2.7 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมการปลูกป่าที่เน้นการใช้ประโยชน์ พืชกินได้ ใช้ประโยชน์ได้ในพื้นที่ป่าชุมชน รวมไปถึงการเพาะกล้าไม้พื้นบ้าน ไม้ป่าในท้องถิ่น ไม้มงคล เช่น ไม้พระเจ้าห้าพระองค์ มะม่วงป่า มะค่าโมง กฤษณา ผักหวานป่า เป็นต้น
2.8 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกข้อบัญญัติท้องถิ่น จัดสรรงบประมาณมาดูแลเรื่องป่าชุมชน เช่น สำรวจแนวเขตป่า ดับไฟป่า แหล่งเรียนรู้ในการจัดการป่าชุมชน เป็นต้น
2.9 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนกิจกรรมการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมในการจัดการป่าชุมชน เช่น เลี้ยงผีขุนน้ำ บวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ การปลูกป่า
3 ข้อเสนอต่อภาคประชาชน
3.1 ให้ภาคประชาชนจัดทำฐานข้อมูลลุ่มน้ำให้เป็นระบบ สามารถเข้าถึง รับรู้ และนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
3.2 ให้ภาคประชาชนพัฒนากลไกและเชื่อมโยงกลไก ในรูปคณะกรรมการ หรือเครือข่าย หรืออาสาสมัครลุ่มน้ำ ที่มีสัดส่วนของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่สมดุล และเป็นธรรม
3.3 ให้ภาคประชาชนจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จัดการความรู้ จัดแหล่งเรียนรู้ หรือศูนย์เรียนรู้ หลักสูตรท้องถิ่น และการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ในแต่ละลุ่มน้ำ
3.4 ให้ภาคประชาชนพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการลุ่มน้ำ ที่สอดคล้องกับบริบทวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาชุมชน
3.5 ให้ภาคประชาชนจัดตั้งกองทุนลุ่มน้ำ ในการบริหารจัดการลุ่มน้ำ เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร การผลิตและระบบนิเวศที่สมดุลเป็นธรรม และยั่งยืน
3.6 ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อเสนอการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการบริหารจัดการลุ่มน้ำ และเสนอให้ออกกฎหมายใหม่ ที่เน้นการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วน ที่โปร่งใส และเป็นธรรม
ดาวน์โหลด