กสท.เผยผลประมูลฯ ดิจิตอลทีวีได้ผู้มีสิทธิชนะ 24 ราย ยอดวงเงินสูงลิ่ว
กสท.เผยประมูลฯ ดิจิตอลทีวีประสบความสำเร็จทั้ง 4 หมวดหมู่ ได้ผู้มีสิทธิเป็นผู้ชนะการประมูล 24 ราย ลุ้นผลรับรองทางการภายใน 15 วัน ยันได้ผู้ประกอบการมีศักยภาพ
พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (ประธาน กสท.) กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติที่สำนักงาน กสทช. จัดขึ้นทั้ง 4 หมวดหมู่ 24 ใบอนุญาต ได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยมีวงเงินประมูลรวมมูลค่าการเสนอราคาทั้งหมด 50,862 ล้านบาท ซึ่งการจัดประมูลครั้งนี้นับเป็นการจัดประมูลครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ของประเทศไทย และประสบผลสำเร็จด้วยดี เนื่องจากผู้ที่เข้าแข่งขันเคาะราคาในแต่ละหมวดหมู่ ล้วนเป็นผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าสู่ระบบการแข่งขันเสรีตามกลไกของตลาดในยุคเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยจากระบบแอนะล็อคไปสู่ระบบดิจิตอลซึ่งประชาชนผู้รับข่าวสารจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของช่องฟรีทีวี (ประเภทบริการธุรกิจ) จากเดิม 6 ช่องรายการเป็น 24 ช่องรายการ
โดยในรอบสุดท้ายเป็นการประมูลในหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว จำนวน 3 ใบอนุญาต ได้ผู้มีสิทธิเป็นผู้ชนะการประมูล 3 ราย คือ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 1 เสนอ 666 ล้านบาท , บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 2 เสนอ 660 ล้านบาท และบริษัท ไทยทีวี จำกัด เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 3 เสนอ 648 ล้านบาท ซึ่งรวมมูลค่าการเสนอราคาในหมวดเด็กฯ 1,974 ล้านบาท
ทั้งนี้ผลการประมูลทั้ง 2 วัน สรุปว่า ในหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (ทั่วไป HD) จำนวน 7 ใบอนุญาต ได้ผู้มีสิทธิเป็นผู้ชนะการประมูล 7 ราย คือ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 1 เสนอ 3,530 ล้านบาท , บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 2 ราคา 3,460ล้านบาท , บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 3 ราคา 3,370 ล้านบาท , บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 4 ราคา 3,360 ล้านบาท, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 5 ราคา 3,340 ล้านบาท , บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 6 ร่วม ในราคา 3,320 ล้านบาท, และบริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด เสนอราคาสูงสุดที่เป็นลำดับที่ 6 ร่วม ในราคา 3,320 ล้านบาท ซึ่งรวมมูลค่าการเสนอราคาในหมวดHD 23,700 ล้านบาท
ส่วนหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (ทั่วไป SD) จำนวน 7 ใบอนุญาต ได้ผู้มีสิทธิเป็นผู้ชนะการประมูล 7 ราย คือ บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 1 ในราคา 2,355 ล้านบาท, บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 2 ในราคา 2,315 ล้านบาท, บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 3 ในราคา 2,290 ล้านบาท, บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 4 ในราคา 2,275 ล้านบาท, บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 5 ในราคา 2,265 ล้านบาท, บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 6 ในราคา 2,250 ล้านบาท และบริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 7 ในราคา 2,200 ล้านบาท ซึ่งรวมมูลค่าการเสนอราคาในหมวด SD15,950 ล้านบาท
และในหมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 7 ใบอนุญาต ได้ผู้มีสิทธิเป็นผู้ชนะการประมูล 7 ราย ได้แก่ บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 1 ในราคา 1,338 ล้านบาท, บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 2 ในราคา 1,330 ล้านบาท, บริษัท ไทยทีวี จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 3 ในราคา 1,328 ล้านบาท, บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 4 ในราคา 1,318 ล้านบาท, บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 5 ในราคา 1,316 ล้านบาท, บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 6 ในราคา 1,310 ล้านบาท, และบริษัท 3 เอ. มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดลำดับที่ 7 ในราคา 1,298 ล้านบาท ซึ่งรวมมูลค่าการเสนอราคาในหมวดข่าวสารและสาระ 9,238 ล้านบาท
ประธาน กสท.ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ผลการประมูลทั้งสองวันได้ยืนยันแล้วว่ามีการแข่งขันเสนอราคาจริง จากผู้ให้บริการที่มีศักยภาพสูงโดยใช้ยุทธศาสตร์และแผนธุรกิจเป็นหลักการและแนวทางในการประมูลครั้งนี้ เห็นได้จากพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่ม Save Zoneเป็นผู้เสนอราคาที่มีศักยภาพสูงโดยในการแข่งขัน จะเป็นผู้เสนอราคาที่อยู่ในลำดับที่ 1-5 จาก 7 ใบอนุญาต กลุ่มที่ 2. Battle Zone เป็นผู้เสนอราคาที่มีศักยภาพน้อยกว่ากลุ่มแรก แต่ยังอยู่ในกลุ่มที่ยังมีโอกาสเป็นผู้ชนะ กลุ่มนี้จะอยู่ในลำดับที่ 6-7 และ 8-9 กลุ่มสุดท้าย เป็นผู้เสนอราคาที่ไม่สามารถสู้ได้ แต่ก็มีความพยายามที่จะเสนอราคาเพื่อขยับขึ้นไปมา เพื่อสร้างโอกาส
โดยในการเสนอราคาช่วงแรกจะมีการแข่งขันกันเสนอราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อไปสู่ลำดับที่วางไว้ โดยกลุ่มที่ 2 เมื่อเสนอราคามาจนถึงวงเงินลงทุนที่กำหนดในระดับแรกก็จะเริ่มมีการหยุดการเสนอราคาเพื่อตัดสินใจ ซึ่งมีผลให้ลำดับที่ 1-5 หยุดการเพิ่มราคาด้วยเช่นกัน จนเมื่อผู้เสนอราคาลำดับที่ 7 และ 8 มีการเคาะเพิ่มราคา ผู้เสนอราคาลำดับที่ 1-5 ก็จะเสนอราคาเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาลำดับตาม
การที่ผู้ประมูลไม่เคาะสู้ราคากันอย่างต่อเนื่องทำให้เห็นได้ว่าผู้เสนอราคาทุกรายมีการใช้ยุทธศาสตร์และแผนธุรกิจในการตัดสินใจ และการที่ผู้เสนอราคาลำดับที่ 1-5 สามารถเคาะเพิ่มราคาตามได้อย่างต่อเนื่องแสดงว่าวงเงินลงทุนยังมีอยู่เพียงพอ การประมูลครั้งนี้นับว่าได้ผู้ที่มีความพร้อมและมีความต้องการอย่างแท้จริงในการเป็นผู้ดำเนินการกิจการโทรทัศน์ ภาพการเสนอราคาที่สื่อมวลชนและสักขีพยาน ตลอดจนประชาชนที่เฝ้าติดตามการประมูลในครั้งนี้ได้เห็น เป็นข้อยืนยันได้ว่าเป็นประมูลที่มีการแข่งขันจริง ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย ตลอดจนประโยชน์สู่ประชาชนในการได้รับข่าวสารสาระที่มีคุณภาพและหลากหลายได้ตามความต้องการ ซึ่งผลการประมูลในครั้งนี้เป็นไปตามสมมติฐานและความมุ่งหวังในการจัดประมูลครั้งนี้ กล่าวคือ เป็นการแข่งขันของผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และอยู่บนพื้นฐานการลงทุน ที่มีการวางแผนเพื่อสร้างธุรกิจโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลอย่างแท้จริง
ประธาน กสท. กล่าวว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จะพิจารณารับรองรายชื่อผู้ชนะการประมูลภายใน 15 วัน นับแต่สิ้นสุดเวลาการประมูล โดยหลังได้รับหนังสือแจ้งการเป็นผู้ชนะการประมูล ผู้ชนะการประมูลจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขก่อนรับใบอนุญาต ให้ครบถ้วนภายใน 45 วันจึงจะได้รับใบอนุญาต ซึ่งเงื่อนไขก่อนรับใบอนุญาตประกอบด้วย การชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 1 จำนวนร้อยละ 50 ของราคาขั้นต่ำ พร้อมวางหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินสำหรับค่าธรรมเนียมงวดที่ 2 (ภายใน 30 วันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล) ดำเนินการขอใช้โครงข่ายโทรทัศน์กับผู้ให้บริการโครงข่ายฯภายใน 30 วัน และดำเนินการตามประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ภายใน 45 วันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล
จากนั้น เมื่อผู้ชนะการประมูลปฏิบัติตามเงื่อนไขการประมูลครบถ้วนแล้ว คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จะออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติให้ โดยใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลมีอายุ 15 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาต
ภาพประกอบจาก truelife.com