คุยกันปีละหน:"จุดยืน-ธงรบ" ศูนย์ข่าวสืบสวน ว่าด้วยหน้าที่สื่อ "สาธารณะ"
"..หน้าที่ของสื่อคืออะไร ถ้าสื่อไม่ทำหน้าที่ตีแผ่ความจริงเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ จะให้นำเสนอข่าวขายเนื้อหนังมังสา หรือข่าวแจก ข่าวแถลง ข่าวกระบอกเสียงของพรรค และนักการเมือง หรือหน่วยงานภาครัฐอย่างนั้นใช้หรือไม่ ถ้าอย่างนั้น ก็มีแค่ข่าวกรมประชาสัมพันธ์อย่างเดียว.."
ในรอบปี 2556 ที่ผ่านมา ศูนย์ข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริงในเชิงสืบสวนสอบสวน หรือ ข่าวเจาะ ไว้จำนวนมากมายหลายร้อยชิ้น
โดยแบ่งแยกประเภทตามหมวดหมู่ต่างๆ อาทิ การจัดซื้อจัดจ้าง บัญชีทรัพย์สิน ร่ำรวยผิดปกติ การทำผิดของเอกชน และข่าวบุคคลดัง
หลายคนที่ติดตามผลงานข่าวจาก "เรา" อาจจะนึกสงสัยว่า กระบวนการทำงานของ ศูนย์ข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีลักษณะ รูปแบบ และจุดยืนอย่างไร
นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป “เรา” มีคำตอบให้
@กระบวนการทำข่าวสืบสวนสอบสวน และการเผยแพร่ชิ้นงาน
การทำข่าวสืบสวน ในสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีที่มา (hint) หรือประเด็นข่าว มาจาก 2 ส่วนหลัก
1. มีผู้แจ้งเบาะแส อาจเป็นแหล่งข่าว คนรู้จัก ผู้หวังดีที่รักความถูกต้อง คนอ่าน ส่งข้อมูลหรือโทรศัพท์มาให้ข้อมูล
2. มาจากการสืบค้นของตัวนักข่าวเอง ซึ่งเกิดจากการเก็บสั่งสมประสบการณ์
อาจได้จากการแกะรอยติดตามข้อมูลด้วยเอกสาร (Paper Trail) หมายถึง กระบวนการหาเอกสารมาใช้เป็นข้อมูลในการนำเสนอข่าวสืบสวน
การแกะรอยข้อมูลบุคคล (Human Trail) หมายถึงกระบวนการติดตามข้อมูล เจาะลึก แกะรอยบุคคลที่ตกเป็นข่าว
การสืบค้นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Trail) หมายถึงการใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออินเทอร์เน็ต ในการทำข่าว
ซึ่งในการทำข่าวสืบสวนเรื่องใหญ่อาจต้องใช้ทั้ง 3 วิธี
เบื้องแรกเมื่อได้ข้อมูลต้องตรวจสอบตรวจเช็คอย่างละเอียดผ่านการหารือในระดับกองบรรณาธิการก่อนนำเสนอข่าว เช่น
กรณีการทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากร ที่กลุ่มเอกชนร่วมกับข้าราชการจัดตั้งบริษัทกระดาษขึ้นมาเพื่อขอคืนภาษี เมื่อนักข่าวได้ข้อมูลที่เป็นเอกสารจะต้องพิจารณาว่าข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เบื้องต้นการตรวจสอบความน่าเชื่อถืออาจดูจากแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูล ตรวจสอบกับหน่วยงานนั้น หลังจากนั้นตรวจสอบการจดทะเบียนผู้ถือหุ้นและการเป็นกรรมการบริษัทนั้นที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ถือหุ้น กรรมการ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ในแง่ที่ตั้งสำนักงาน ที่อยู่ผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น และเปิดให้โอกาสผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ชี้แจง
ในกรณีที่เห็นว่าข้อมูลที่ได้รับมากมีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก ในการนำเสนอข่าวครั้งแรก อาจไม่ต้องรอให้ครบกระบวนการดังกล่าวก็ได้ ขึ้นอยู่กับการประเมินข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้มาว่ามีความน่าเชื่อถือสูงหรือไม่ และเมื่อนำเสนอข่าวแล้วก็ดำเนินการในกระบวนการต่อมาก็ได้ และให้ผู้มีส่วนได้เสียชี้แจง(ในกรณีที่ผู้ถูกพาดพิงมีความประสงค์ชี้แจง)
ถ้าข้อมูลส่วนหนึ่งส่วนใดมีความคลาดเคลื่อน จะต้องแก้ไขให้ถูกต้องทันที
@ ปัจจัยอะไรที่ทำให้สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ยังคงนำเสนอข่าวทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งที่ สื่อกระแสหลัก ไม่ค่อยนำเสนอข่าวประเภทนี้
-ประการแรกปัจจัยในเรื่องโครงสร้าง
เจตนารมณ์ในการก่อตั้งสำนักข่าวอิศราในช่วงปี 2554 ซึ่งพัฒนามาจากศูนย์ข่าวอิศราคือการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงและตรวจสอบการใช้อาจรัฐในทั้งเรื่องนโยบายและตัวบุคคล ซึ่งโครงสร้างของสำนักข่าวอิศราอยู่ภายใต้สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่ในเชิงตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของสำนักข่าวอิศราจึงทำได้คล่องตัวกว่าสื่อกระแสหลักที่สังกัดหน่วยงานภาครัฐหรือบริษัทเอกชนที่ต้องอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ซึ่งแบกออกเป็นประเภทคือ
ระบบอุปถัมภ์ส่วนตัวระหว่างเจ้าของสื่อ(ownership) กับผู้ตกเป็นข่าว ซึ่งอาจเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ ในเรื่องนี้บางคนมองว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย เป็นธรรมดาที่ต้องมีพรรคพวก ต้องรู้จักกัน พอมีเรื่องราวเกิดขึ้นจะติดต่อคนรู้จัก ขอร้องทำนองว่า “อย่าเขียนข่าวได้ไหม พอแล้ว หยุดนำเสนอข่าวได้ไหม หรือหยวนๆกันไป”
ระบบอุปถัมภ์ทางธุรกิจ สื่อคือธุรกิจ รายได้หลักของสื่อมาจากโฆษณา เมื่อผู้ตกเป็นข่าวหรือได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าว คุมอำนาจรัฐซึ่งควบคุมกลไกเม็ดเงินโฆษณาอีกทอดหนึ่งด้วยแล้ว ผู้ตกเป็นข่าว หรือผู้เสียผลประโยชน์จะสั่งการผ่านเครือข่าย มายังฝ่ายโฆษณา กองบรรณาธิการ หัวหน้าข่าว ตัวนักข่าว ไม่อย่างนั้นจะถอนโฆษณาสินค้าสื่อในเครือทั้งหมด เช่นในยุครัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยเกิดกรณีทำนองนี้มาแล้วเมื่อกลุ่มชินคอร์ปถอนโฆษณาในสื่อเครือมติชนแทบทั้งหมด ในช่วงที่มีการสำเสนอข่าวซุกหุ้น
ประการที่สอง เราเห็นว่าปัจจุบันปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศเป็นต้นเหตุแห่งความอ่อนแอของรัฐในประเทศนี้ เห็นได้จากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่สร้างความเสียหายมหาศาล ซึ่งมาจากนโยบายของรัฐบาล หรือแม้กระทั่งการฉ้อฉลของนักการเมืองและข้าราชการ การทำหน้าที่ของสำนักข่าวอิศราแม้ว่าเป็นสื่อทางเลือกแต่ถือว่าเป็นตัวจุดประกายให้สาธารณะได้รับรู้ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ เป็นความกล้าหาญในเชิงการทำหน้าที่มากกว่า
ประการที่สาม เห็นได้ว่าสื่อกระแสหลักที่มีอยู่ทั้งสื่อทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือแม้กระทั่งสื่อทางเลือกบางแห่ง ข่าวที่นำเสนอต่อสาธารณะเป็นข่าวคล้ายกัน แทบไม่มีความแตกต่างในเรื่องเนื้อหา เหมือนเดินเข้าไปร้านอาหาร 10 ร้านมีแต่แกงจืดทุกร้าน แต่มีอยู่ร้านหนึ่งขายแกงจืดนิดหน่อยนอกนั้นเป็นแกงเผ็ด เป็นทางเลือกให้กับคนกิน ถ้าคนต้องการกินแกงเผ็ดต้องมาร้านนี้ แต่ไม่ใช่เผ็ดแบบสีสัน เป็นเผ็ดที่ปรุงด้วยพ่อครัวเครื่องปรุงอย่างดี
เพราะฉะนั้น ในเชิงการตลาดก็ต้องถือว่าเป็น “จุดขาย” สร้างความแตกต่างให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งในแต่ละวันมีข่าวสารเกิดขึ้นจำนวนมาก ขณะเดียวกันสื่อก็มีจำนวนมาก จึงทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และคุณนำเสนอข่าวเหมือนสื่อกระแสหลัก ใครจะอ่านข่าวของคุณถูกต้องไหม
@ข่าวสืบสวนสอบสวน ที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอผ่านสื่อเว็บไซต์ www.isranews.org มีความน่าเชื่อถือต่อประชาชน และองค์กรตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่รับทราบข่าวอย่างไรบ้าง
มีข่าวหลายชิ้นที่ผลิตโดยสำนักข่าวอิศราถูกนำไปอ้างในสื่อกระแสหลักหรือแม้กระทั่งสื่อทางเลือกด้วยด้วย (ในกรณีที่น่าสนใจและไม่มีผลกระทบต่อหน่วยงานต้นสังกัดของสื่อเหล่านั้น) ทั้งข่าวจากศูนย์ข่าวภาคใต้ซึ่งได้รับความเชื่อถือสูงจากหน่วยงานความมั่นคง ข่าวจากศูนย์ข่าวนโยบายสาธารณะในเรื่องการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล หรือข่าวเชิงตรวจสอบนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล ข่าวจากศูนย์ข่าวสืบสวนซึ่งเน้นตรวจสอบนักการเมือง ตรวจสอบการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่หน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นำข้อมูลไปใช้เพื่อประโยชน์ในการ อาทิ
ข่าวการไม่ถือครองหุ้นของนายยุรนันท์ ภมรมนตรี ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่เปิดโปงโดยสำนักข่าวอิศราแล้วสำนักงาน ป.ป.ช.นำข้อมูลได้ตรวจสอบกระทั่งมีมติว่านายยุรนันท์ปกปิดบัญชีทรัพย์สิน
ข่าวการถือครองหุ้นเกิน 5%ของนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สำนักข่าวอิศราสำเสนอ ป.ป.ช.ใช้เป็นข้อมูลในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกระทั่งชี้มูลว่านายวิเชษฐ์ถือครองหุ้นเกิน 5% และส่งเรื่องให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่
ข่าวความร่ำรวยผิดปกติของพล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ป.ป.ช.ใช้ข้อมูลจากสำนักงานอิศราในการติดตามอายัดทรัพย์พล.อ.เสถียรในจ.อุบลราชธานี
ข่าวการทุจริตการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากรกว่า 4.3 พันล้านที่สำนักข่าวอิศราสำเสนออย่างละเอียด หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ กระทรวงการคลัง กรมสรรรพากร กรมสวบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำข้อมูลไปใช้ตรวจสอบทุจริตกระทั่งมีการเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่ เกือบ 20 คน เป็นต้น
เพราะฉะนั้นจึงต้องตอบว่าข่าวของสำนักข่าวอิศรามีความน่าเชื่อถือหรือไม่
@กระบวนการผลิตและเผยแพร่ข่าวสืบสวนสอบสวนของสำนักข่าวอิศรา เป็นการทำหน้าที่สื่อมวลชน ที่ถูกต้องหรือไม่
ประการแรกต้องย้อนกลับไปดูว่าหน้าที่ของสื่อคืออะไร ถ้าสื่อไม่ทำหน้าที่ตีแผ่ความจริงเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ จะให้นำเสนอข่าวขายเนื้อหนังมังสา หรือข่าวแจก ข่าวแถลง ข่าวกระบอกเสียงของพรรค และนักการเมือง หรือหน่วยงานภาครัฐอย่างนั้นใช้หรือไม่ ถ้าอย่างนั้น ก็มีแค่ข่าวกรมประชาสัมพันธ์อย่างเดียว
ประการที่สองต้องไปดูอีกว่าสื่อที่มีอยู่ในปัจจุบันทำหน้าที่นี้หรือไม่ แต่ทั้งนี้เราไม่มีหน้าที่ตัดสิน เรานำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้จากการแสวงหามาเสนอต่อสาธารณะ ต่อคนอ่าน ต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ประการสำคัญเราเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียหรือถูกพาดพิงได้ชี้แจงอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ใช้ผู้ตัดสิน
สำนักข่าวอิศราเป็นการทำหน้าที่อย่างสุจริตเพื่อประโยชน์ของสาธารณอย่างแท้จริง ถ้าผิดพลาดบ้างก็ผิดพลาดจากความไม่รู้ หรือโง่ ไม่ใช่เกิดความความตั้งใจ และต้องแก้ไขให้ถูกต้อง
ทั้งหมดนี่คือ "จุดยืน" และ "ธงรบ" ของ ศูนย์ข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ที่จะทำหน้าที่เป็นสื่อ “สาธารณะ” เพื่อประโยชน์ “สาธารณะ” ตลอดไป