เปิดสถิติปี 50-56 พบความรุนแรงในผู้หญิงสูง 40%-จี้รัฐใช้กม.คุ้มครองสิทธิจริงจัง
เปิดสถิติปี 50-56 พบความรุนแรงในผู้หญิง 40% เด็ก 60% เฉลี่ย 87 ราย/วัน จี้รัฐบังคับใช้กม.ความรุนแรงในครอบครัวจริงจัง ขับเคลื่อนสถาบันครอบครัวเข้มแข็งเคารพสิทธิ หวังช่วยป้องกันผู้หญิงถูกทำร้าย
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2556 คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดเวทีเสวนา ผู้หญิงถูกทำร้ายที่ชื่อ ‘ภรรยา’ ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ทั้งนี้ จากการเสวนามีข้อสรุปว่า ความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิง จากสถิติมักเกิดจากคนในครอบครัว หรือเป็นบุคคลที่เรียกว่าสามี ตั้งแต่ปี 2550 – 2556 พบไทยมีผู้หญิงและเด็กถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้นสูงถึง 87 รายต่อวัน ในจำนวนนี้เป็นหญิงร้อยละ 40 และเด็กร้อยละ60 ซึ่งการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการกระทำความรุนแรงของผู้ชาย ผู้หญิงที่ถูกกระทำยังอายที่จะแสดงให้สังคมรับรู้ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุได้
ดังนั้น หากจะต้องหากลไกเพื่อคุ้มครองผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงเห็นว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ถือเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงได้เป็นอย่างดี เพียงแต่เครื่องมือดังกล่าวยังมีข้อจำกัดในการใช้ ผู้เกี่ยวข้องควรจะพิจารณาว่าจะใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และสิ่งที่ต้องทำเพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบต้องปรับทัศนคติเดิม ๆ ให้หมดสิ้นไปโดยใช้สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา กล่อมเกลาจิตใจให้เกิดความเคารพสิทธิเพื่อป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงสังคมต้องสร้างกลไกการป้องกัน การแก้ปัญหาอย่างทันเหตุการณ์ การดำเนินการตามกฎหมายและการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ
นางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล กล่าวว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เป็นภรรยา เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ถือเป็นความรุนแรงที่ฝังลึกบ่มเพาะมาเป็นระยะเวลานานและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มักเกิดกับคนในครอบครัว สาเหตุความรุนแรงเกิดจากการเรียนรู้สืบต่อเนื่องกันมา ระบายอารมณ์แล้วสะใจ พึงพอใจกับการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางคำพูด ยกระดับเป็นการทำร้ายร่างกาย และเกิดจากค่านิยมและความเชื่อว่าตนมีสิทธิกระทำคนอื่นได้จากสถิติพบว่าผู้หญิงที่เป็นภรรยา 38 เปอร์เซ็นต์ ถูกสามีของตนเองทำร้าย
ทั้งนี้ กสม.ซึ่งมีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและคุ้มครองให้เกิดสังคมที่เคารพสิทธิ เห็นว่าหากจะให้เกิดการคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงได้อย่างแท้จริง ควรวางยุทธศาสตร์แบบบูรณาการเป็นองค์รวม จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องเชื่อมโยงสหวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกลไกการเฝ้าระวังป้องกันมิให้เกิดการใช้ความรุนแรง การบริการให้เกิดการฟื้นฟูต่อผู้ที่กระทำความรุนแรงและผู้ที่ถูกกระทำ รวมถึงขั้นตอนการเยียวยาที่เข้าถึงง่าย ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นหญิงความเป็นชาย (gender) ซึ่งกสม.จะเสนอแนะเชิงนโยบายต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ประชาธรรม