คนไทยเจ๋งประดิษฐ์เครื่องช่วยฟังคนพิการ เตรียมนำร่อง 1,000 ราย
สวทช. เนคเทคพัฒนาระบบบริการอุปกรณ์เครื่องช่วยฟังดิจิตอลคนพิการครั้งแรกของไทย สปสช.หนุนเสริมผลักงบ 7 ล้านบ. นำร่องครั้งแรก 1,000 ราย
วันที่ 26 ธันวาคม 2556 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ มีการจัดพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบบริการอุปกรณ์เครื่องช่วยฟังสำหรับคนพิการทางการได้ยิน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระหว่าง นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) และนายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (สวทช.)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ( สวทช.และเนคเทค)
นพ.วินัย กล่าวว่า สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพให้การดูแลคนพิการ โดยเฉพาะด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ปัจจุบันมีจำนวนคนพิการสะสมในระบบ 1,123,273 คน เป็นคนพิการทางการได้ยินหรือหูหนวก 166,536 คน หรือร้อยละ 14.82 ซึ่งได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยฟังไปเพียง 27,302 คน แม้ว่าคนพิการทางการได้ยินจะมีสิทธิ์ได้รับเครื่องช่วยฟังฟรีตามสิทธิประโยชน์ แต่พบว่ายังมีคนพิการกลุ่มใหญ่ที่ยังมีปัญหาในการเข้าถึง เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องนักแก้ไขการได้ยินมีจำนวนน้อย การประเมินและลองใส่เครื่องช่วยฟังสำหรับสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายใช้เวลานาน การตอบสนองต่อการฟังเสียงไม่เหมือนกัน ทั้งยังเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เกณฑ์การเบิกจ่ายมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 13,500 บาทต่อราย สูงกว่าอุปกรณ์สำหรับคนพิการอื่นๆ และในปี 2556 มีการเบิกค่าใช้จ่ายรวม 113 ล้านบาท
เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สปสช. จึงได้ร่วมมือกับสวรส. และเนคเทค ในการพัฒนาระบบบริการอุปกรณ์เครื่องช่วยฟังไทยสำหรับคนพิการทางการได้ยินในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยสวทช. เนคเทคได้พัฒนาเครื่องช่วยฟังแบบกล่องที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และผ่านการทดสอบทางคลินิกโดยความร่วมมือของสวรส. ซึ่งจะเป็นเครื่องช่วยฟังที่ประดิษฐ์โดยคนไทยเอง ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง เพื่อให้คนพิการได้รับเครื่องช่วยฟังมากขึ้น ทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ทางเทคโนโลยีเครื่องช่วยฟังที่ประดิษฐ์ในประเทศไทยเอง โดยสปสช.สนับสนุนงบประมาณซื้อเครื่องช่วยฟัง 7 ล้านบาท สำหรับ 1,000 เครื่อง เครื่องละ 7,000 บาท
ด้านนพ.สมเกียรติ กล่าวว่า เบื้องต้นจะขยายให้คนพิการ 1,000 ราย ได้รับเครื่องช่วยฟังที่สวทช. และเนคเทค ประดิษฐ์เอง 1,000 เครื่อง โดยให้ผ่านโรงพยาบาลที่สปสช.ร่วมกับสวรส.คัดเลือก ซึ่งโรงพยาบาลที่เข้าร่วมจะต้องเป็นโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการให้บริการเครื่องช่วยฟัง ทั้งในด้านแพทย์ นักแก้ไขการได้ยิน สถานที่และอุปกรณ์ตามเกณฑ์ของสปสช.
ขณะที่สวรส.จะทำหน้าที่ในการออกแบบข้อมูลและติดตามประเมินผลการใช้งานต่อไปในระยะเวลา 1 ปี หรือจนถึงกันยายน 2557 หลังจากนั้นนำผลที่ได้มาขยายผลพัฒนาระบบบริการเครื่องช่วยฟังไทยต่อไป ที่ผ่านมาสวรส.ได้ศึกษาวิจัยปัญหาการเข้าไม่ถึงเครื่องช่วยฟังของคนพิการ ผลการวิจัยได้นำมาพัฒนาเป็นนโยบายการพัฒนาระบบบริการอุปกรณ์เครื่องช่วยฟัง ประกอบกับไทยสามารถผลิตเครื่องช่วยฟังได้แล้ว สวรส. จึงได้ร่วมมือกับสปสช. สวทช.และเนคเทคในการพัฒนาระบบ ตั้งแต่การตรวจคัดกรองคนพิการเพื่อให้ได้รับเครื่องช่วยฟัง การฟื้นฟูทางการได้ยิน การพัฒนาทางสื่อความหมาย
นายพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สวทช.และเนคเทค ได้พัฒนาเครื่องช่วยฟังแบบกล่องรุ่น P02 รุ่นอินทิมา(Intima) ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นเครื่องช่วยฟังประสิทธิภาพสูงราคาประหยัด ออกแบบให้ใช้แบตเตอรี่แบบชาร์ตไฟใหม่ได้ ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายระหว่างใช้งาน ผ่านการทดสอบการใช้งานทางคลินิกตามมาตรฐานสากล มีระบบควบคุมการผลิตตามมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ISO 13485 จนได้รับเครื่องหมาย CE สามารถวางจำหน่ายได้ในสหภาพยุโรป มีราคาเครื่องละ 7,000 บาท ถูกกว่าเครื่องช่วยฟังนำเข้าจากต่างประเทศครึ่งหนึ่ง ซึ่งโครงการพัฒนาระบบบริการเครื่อช่วยฟังไทยนี้ จะนำไปสู่การส่งเสริมความสามารถพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีเครื่องช่วยฟังไทย และข้อมูลที่ได้จะพัฒนาเครื่องรุ่นต่อไป รวมถึงพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาระบบบริการเครื่องช่วยฟังด้วย .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์โพสต์จัง