สพฉ.เตือนคนไทยฉลองปีใหม่ปลอดภัย ขับรถอย่างมีสติ-ไม่ดื่มเหล้า
เลขาฯ สพฉ.ชี้คนไทยตายจากอุบัติเหตุอันดับ 3 ของโลก เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน เหตุ ‘คน-รถ-สภาพถนน’ เตือนปีใหม่ 57 ขับรถอย่างมีสติ-ไม่ดื่มเหล้า หวังป้องกันอันตรายได้
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดเสวนา “ลดตาย-ลดเจ็บ” สัญจรปีใหม่อย่างปลอดภัย ด้วยการเรียนรู้เทคนิคช่วยชีวิตฉุกเฉิน” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่ในแต่ละปีนั้นจะมีผู้ป่วยฉุกเฉินและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เป็นจำนวนมาก โดยจากสถิติในช่วง 7 วันอันตรายของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556 พบว่ามีผู้เสียชีวิต 365 ราย บาดเจ็บ 3,329 คน ซึ่งจากการวิเคราะห์พบสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุนั้นมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ 3 ด้าน คือ 1.คน โดยเกิดจากการขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ผู้ขับขี่ มีอาการอ่อนล้า หลับใน ทำให้ชนวัตถุริมข้างทาง การไม่สวมหมวกนิรภัย และการโดยสารท้ายรถกระบะและการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 2. รถ คือ สภาพรถไม่พร้อมต่อการเดินทาง และ 3.สภาพถนน คือ ถนนที่มีการเปลี่ยนแปลง ทางโค้ง ทางลาด ทางแยก
“จากสถิติอุบัติเหตุดังกล่าว ส่งผลให้ไทยมีสถิติอยู่ในอันดับ 3 ของโลก ที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุด คิดเฉลี่ยเป็นชั่วโมงละ 2 ราย นอกจากนี้ยังพบอีกว่าบุคคลที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดอีกกลุ่มหนึ่ง คือ บุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน ที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น ๆ ถึง 6 เท่า เนื่องจากต้องใช้เวลาอยู่บนท้องถนนมากและใช้ความเร็วสูงในการขับรถเพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน และอุบัติเหตุส่วนมากจะพบบริเวณทางแยก ทางโค้ง อีกทั้งยังไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จึงทำให้ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตเพิ่มเป็น 2.5-2.8 เท่า” เลขาธิการ สพฉ. กล่าว
นพ.อนุชา กล่าวอีกว่า ดังนั้นในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้จึงจำเป็นที่เราจะต้องช่วยกันหาทางออกในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุด โดยในส่วนของประชาชนทั่วไปจะต้องขับรถอย่างมีสติ ไม่ดื่มสุรา และใช้ความเร็วในอัตราที่กฎหมายกำหนด และหลีกเลี่ยงอุปนิสัยหลักที่คนไทยชอบทำ คือ การฝ่าไฟแดง ขับรถย้อนศร ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุได้ และในส่วนของผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน เมื่อขับรถผ่านทางแยกทางร่วมจะต้องชะลอและใช้ไฟไซเรนช่วย โดยใช้ความเร็ว 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทั้งในส่วนของทีมกู้ชีพและผู้ป่วยฉุกเฉิน และระหว่างการช่วยเหลือควรวางกรวยเบรกทางอย่างน้อย 300 เมตร เพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุในเบื้องต้น
อย่างไรก็ตาม สพฉ. ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแผนป้องกันและลดอุบัติเหตุ โดยได้ประสานไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทางการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ 78 ศูนย์ ให้ตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ 1669 ให้พร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้สิ่งสำคัญในการช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินอีกทางหนึ่ง คือจิตสำนึกของประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน ที่จะต้องหลีกทางให้ทันทีเมื่อได้ยินเสียงรถพยาบาลฉุกเฉิน โดยหลักของการหลีกทางไม่ว่าจะขับรถอยู่ทางขวาหรือทางซ้าย ควรชิดซ้ายหรือชิดขวาเพื่อเปิดช่องทางให้รถพยาบาลสามารถผ่านไปได้ และเราควรคิดเสมอว่าผู้ป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในรถอาจจะเป็นญาติของเรา
ด้านนพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผอ.สำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน กล่าวว่า สำหรับบทบาทของสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) ในการเตรียมพร้อมรับมือกับอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้น จะทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยในช่วงเทศกาล จะมีจำนวนผู้บาดเจ็บเป็น 2 เท่าของสถานการณ์ปกติ ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมพร้อมให้มากขึ้น โดยมีการจัดทีมเฝ้าระวังเป็นพิเศษในพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยง ส่วนสถานพยาบาลทุกแห่งก็ได้เตรียมการโดยมีการเพิ่มอัตรากำลังคนผู้ปฏิบัติงานทั้งในห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด หอผู้ป่วย มีการสำรองเลือด สำรองยา เพื่อให้การช่วยเหลือในกรณีวิกฤติฉุกเฉินได้ทันกาล ส่วนเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยก็มีการเตรียมความพร้อม ซึ่งในกรณีจำเป็นอาจใช้ช่องทางพิเศษ (fasttrack) คือจะมีการนำคนไข้จากห้องฉุกเฉินไปห้องผ่าตัดได้ทันที เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ขณะที่รอ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สพฉ. กล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้จัดทำมาตรฐานรถที่จะใช้รับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยจะมีสัญญาณไฟวับวาบสีน้ำเงินแดง มีตราสัญลักษณ์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และมีสติ๊กเกอร์สีเขียวรับรองมาตรฐาน ซึ่งประชาชนทั่วไปที่พบเห็นรถพยาบาลเหล่านี้ก็ควรหลีกทางให้ และอยากสงวนไฟฉุกเฉินไว้เฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉิน อยากให้สีแดงน้ำเงินเป็นสีแห่งการช่วยชีวิต ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ประชาชนเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัยคือ ต้องตรวจเช็คสภาพรถก่อนเดินทาง และกล่องเครื่องมือปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ประกอบด้วยถุงมือ ผ้าทำแผล ยาล้างแผล พลาสเตอร์เทปปิดแผล กรรไกร ผ้าก๊อซ เข็มกลัด สำลี ไม้พันสำลี น้ำเกลือหรือน้ำสะอาดสำหรับล้างแผลและยาฉุกเฉินอาทิยาแก้ปวด และผงเกลือแร่
ทั้งนี้ หากเราเป็นผู้ประสบเหตุควรตั้งสติและประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของเหตุการณ์นั้นๆ จากนั้นควรรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ แต่หากผู้ป่วยฉุกเฉินหัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจกะทันหัน ผู้ประสบเหตุจะต้องรีบเข้าไปตรวจดูอาการของผู้ป่วยว่ารู้สึกตัวหรือไม่โดยการใช้มือทั้ง 2 ข้างจับบริเวณไหล่ เขย่าให้แรงพอสมควรพร้อมเรียกผู้ป่วยดัง ๆ ลองคลำดูชีพจรโดยวัดจากตำแหน่งลูกกระเดือกไปด้านข้างประมาณ 5 เซนติเมตร ซึ่งหากผู้ป่วยไม่มีชีพจร ไม่ตอบสนอง ไม่หายใจหรือหายใจเฮือก ในระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่ควรช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานหรือทำ CPR ให้กับผู้ป่วยตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
“ขั้นตอนแรกของการช่วยฟื้นคืนชีพหรือการทำ CPR คือการกดนวดหัวใจ จัดให้ผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นแข็งโดยผู้ช่วยเหลือนั่งคุกเข่าอยู่ทางด้านข้างของผู้ป่วย วางส้นมือลงไปตามแนวกึ่งกลางของหน้าอกหรือกึ่งกลางระหว่างหัวนมทั้งสองข้างของผู้ป่วยแล้วนำมืออีกข้างมาประกบ ประสานนิ้วและทำการล๊อกนิ้ว กระดกข้อมือขึ้นลง โดยให้สันมือสัมผัสกับหน้าอกเท่านั้น โน้มตัวมาให้แนวแขนตั้งฉากกับหน้าอกของผู้ป่วย แขนตรงและดึง ออกแรงกดลงไปโดยใช้แรงจากหัวไหล่ จุดหมุนอยู่ตรงสะโพก กดให้หน้าอกยุบลงไปอย่างน้อย 5 เซนติเมตร โดยให้สันมือสัมผัสกับหน้าอกผู้ป่วย ตลอดการนวดหัวใจ สันมือจะต้องไม่หลุดออกจากหน้าอกผู้ป่วยด้วยความเร็ว100 ครั้งต่อหน้าที หรืออัตราความเร็วตามจังหวัดเพลง ‘สุขกันเถอะเรา’ หรือเพลง ‘จังหวะหัวใจ’ ” ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน สพฉ. กล่าวในที่สุด .