4 แนวทาง "กปปส.-ปชป." คู่ขนานสกัดเลือกตั้ง 2 ก.พ.57
ยุทธศาสตร์ของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) คือการคว่ำกระดานเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 โดยมีแนวร่วมจาก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่บอยคอยการเลือกตั้ง เดินยุทธวิธีสู้เต็มรูปแบบ มีการวิเคราะห์แนวทางต่างๆ ที่ กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ จะคัดค้านการเลือกตั้งไว้หลายแนวทาง
แนวทางแรก - ล้มการเลือกตั้งไม่ให้กระบวนการสมัครรับเลือกตั้ง สมบรูณ์และถูกต้องตามกฎหมาย
แนวทางสอง - สกัดไม่ให้ได้ ส.ส. เกิน 475 คน จาก 500 คน เพื่อไม่ให้เปิดประชุมรัฐสภานัดแรก ตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ ถ้าเปิดประชุมรัฐสภาไม่ได้ กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน
แนวทางสาม - รณรงค์โหวตโนทั่วประเทศเพื่อให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ตอบโจทย์ประเทศไทย ถ้าไม่มีการปฏิรูป ความขัดแย้งก็ยังวนกลับมาแบบเดิมและฝ่ายทักษิณก็ยังคงใช้เสียงข้างมากเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง
แนวทางสี่ - ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มิชอบ
วิเคราะห์ “แนวทางแรก” ล้มการเลือกตั้ง ไม่ให้ กกต. รับสมัคร สส.ได้ โดย กปปส.ปลุกมวลชน เผชิญหน้าให้เกิดความวุ่นวาย โดยตั้งเป้าปิดเกมในช่วงกลางเดือนม.ค. 2557 หลังวันเด็ก เพื่อบีบให้ กกต.ยอมเลื่อนการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557 ออกไปโดยเหตุผลเหตุสุดวิสัย เพราะเสี่ยงเกิดความรุนแรงและจัดการเลือกตั้งไม่ได้ซึ่งเริ่มเห็นบรรยากาศความไม่สงบเกิดขึ้นนับตั้งแต่เริ่มต้น การเลือกตั้ง ในการจับเบอร์ผู้สมัครบัญชีรายชื่อที่สนามกีฬ่าไทยญี่ปุ่น-ดินแดง เกิดความโกลาหล ทุลักเล เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุม จะเข้าไปล้มการจับเบอร์ แต่ถูกตำรวจยิงแก๊สน้ำตานับสิบๆลูก และ กระสุนยางใส่จนบาดเจ็บหลายราย เป็นการเลือกตั้งที่เริ่มต้นด้วยแก๊สน้ำตาท่ามกลางการประท้วงวุ่นวาย ยังไม่รู้ว่าเกือบ 60 วันจากนี้ จนถึงวันเลือกตั้งจะเกิดเหตุร้ายแรงแค่ไหนหรือไม่
การต่อสู้ที่เข้มข้นและรุนแรง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หรือแม้แต่ กกต.ก็เป็นห่วงใย การเลือกตั้งครั้งนี้เสี่ยงที่จะนองเลือด เพราะทั้งสองฝ่ายต่างปลุกปั่นให้ทำลายล้างกัน ขณะที่ กกต. ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเพื่อคลี่คลายสถานการณ์
“แนวทางสอง” สกัดไม่ให้ได้ ส.ส. เกิน 475 คน จาก 500 คน เพื่อไม่ให้ประชุมรัฐสภานัดแรกได้ ภายใน 30 วัน ตามกฎในรัฐธรรมนูญมาตรา 127 ที่ว่า “ภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกมาประชุมเป็นครั้งแรก”
และยังบัญญัติในมาตรา 93 (รัฐธรรมนูญ2550แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่1 พ.ศ. 2554 )ว่า ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปมีจำนวน สส. ไม่ถึง 500 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 95 ของจำนนวน สส.ทั้งหมดให้ถือว่า สมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร
เมื่อเปิดประชุมสภานัดแรกไม่ได้ ก็ตั้งประธานรัฐสภาไม่ได้ เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีไม่ได้ และตั้งรัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้เช่นกัน
วิธีทำนองนี้เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งเมื่อ 2 เม.ย.2549 ช่วงวิกฤตการเมืองยุคปลาย
รัฐบาลทักษิณสมัยสอง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะในสองประเด็น คือ ระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งไม่เที่ยงธรรม และการจัดคูหาเลือกตั้งมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พร้อมกับสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ จนต่อมานำมาสู่การรัฐประหาร 19 ก.ย.2549
เท้าความเหตุการณ์วิกฤตตอนนั้น พรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับพรรคฝ่ายค้านอื่น คือพรรคชาติไทยและพรรคมหาชน บอยคอตการเลือกตั้งเพราะคัดค้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยุบสภาหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หวังใช้การเลือกตั้งครั้งใหม่ฟอกผิดปัญหาการขายหุ้นชินคอร์ปโดยไม่เสียภาษีที่เกิดแรงต้านทั่วเมือง
การเลือกตั้งครั้งนั้นมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย เพราะพรรคไทยรักไทยต้องแข่งกับตัวเอง จากที่ฝ่ายค้านไม่ส่งผู้สมัครลง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากกฎใน “พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง สว.” มาตรา 88 ระบุว่า ถ้าเขตใดมีผู้สมัครเพียงคนเดียว ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็น ส.ส. จะต้องได้คะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น”
พรรคไทยรักไทย ต้องแข่งกับ กฎ 20% หลายจังหวัดในภาคใต้ฐานที่มั่นพรรคประชาธิปัตย์ ผู้สมัครหลายคนต้องเจอปัญหาคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ จนที่สุดต้องมีการจัดเลือกตั้งใหม่รอบสอง 40 เขต ใน 17 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้
เมื่อเลือกกันอีกรอบ ผู้สมัครพรรคไทยรักไทย ก็ยังไม่ผ่านเกณฑ์ 20% อีกจำนวน 13 เขต 8 จังหวัด กกต.ต้องจัดเลือกตั้งใหม่รอบสามขึ้น โดยทั้งรอบสองและรอบสาม เกิดการร้องเรียนหลายจุด ว่า กกต.จัดการเลือกตั้งไม่กลาง ช่วยผู้สมัครพรรคไทยรักไทยเพื่อปลดล็อคกฎ 20% เนื่องจาก กกต. ให้ผู้ที่เคยสมัครในการเลือกตั้งรอบแรกใช้หมายเลขเดิม เปิดโอกาสให้ผู้สมัครเวียนเทียนสมัคร โดยผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติ หรือแพ้การเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.2549 จนที่สุดมีการยื่นฟ้องว่า พรรคไทยรักไทยจ้างวานพรรคเล็กพรรคน้อย ลงแข่งกับ พรรคไทยรักไทยเพื่อปลดล็อค กฎ 20% ซึ่งต่อมา ตุลาการรัฐธรรมนูญ ตัดสินให้พรรคไทยรักไทยมีความผิดและยุบพรรค และ มีการดำเนินคดีกับ กกต. ชุดนั้นด้วย
ครั้งนี้ ถ้าประชาธิปัตย์ และ กปปส. ตั้งเป้าบล็อกให้ได้ 25 เสียงขึ้นไป เพื่อสกัดไม่ให้เปิดประชุมรัฐสภาได้ ก็คงหวังในภาคใต้เป็นหลัก ถ้าเจาะรายพื้นที่ คงเน้นจังหวัดใหญ่ๆ ที่พรรคไทยรักไทยเคยแพ้กฎ 20% โดยไม่มีพรรคใดลงสมัครแข่ง เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ตรัง ปัตตานี พังงา สตูล นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สงขลา กระบี่
ไล่เลียงดูจำนวน สส. ภาคใต้ ตามการแบ่งเขตปี 2554 มีทั้งหมด 59 ที่นั่ง ประกอบด้วย
กระบี่ 3 พังงา 1 พัทลุง 3 เพชรบุรี 3 ภูเก็ต 2 ยะลา 3 ระนอง 1 สงขลา 8 สตูล 2 สุราษฎร์ธานี 6 ชุมพร 3 ตรัง 4 นครศรีธรรมราช 9 นราธิวาส 4 ประจวบคีรีขันธ์ 3 และ ปัตตานี 4
กระนั้น เกมนี้ไม่ง่ายเหมือนก่อนเพราะพรรคเพื่อไทยได้บทเรียนมาแล้ว ครั้งนี้จึงต้องรอบคอบ ปิดจุดอ่อนทุกด้าน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยจนเป็นสุญญากาศหลังเลือกตั้ง นำมาสู่การตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7
แน่นอน การบอยคอตรอบนี้แม้จะดูเหมือนกับการเลือกตั้งปี 2 เม.ย.2549 แต่ก็มีความต่างหลายประเด็น 1.ฝ่ายค้านไม่ได้บอยคอตทุกพรรค ครั้งนี้เหลือแค่ประชาธิปัตย์พรรคเดียวที่ไม่ส่งผู้สมัคร 2.กกต.ชุดนั้นถูกวิจารณ์ว่า เป็นกลุ่มของทักษิณ การจัดการเลือกตั้งให้ได้ ส.ส.ครบตามจำนวนจึงเอนเอียนเข้าข้างพรรคไทยรักไทยอย่างเห็นได้ชัด จึงถูกศาลตรวจสอบการกระทำผิด 3. ความขัดแย้ง การแบ่งขั้วของมวลชนรุนแรงกว่าช่วงก่อนเกิดรัฐประหาร ปี 2549
จึงเชื่อว่า ในพื้นที่ภาคใต้ จะมีพรรคเล็ก พรรคน้อย รวมถึงพรรคการเมืองปัจจุบัน อย่างพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคมาตุภูมิ ที่มีฐานเสียงอยู่ภาคใต้ จะลงแข่งกับพรรคเพื่อไทยทุกจังหวัด เพื่อไม่ต้องใช้ “กฎหิน 20%”
“แนวทางสาม” รณรงค์ VOTE NO หรือ "ไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใคร" เป็นมาตรการที่พรรคประชาธิปัตย์รวมถึง นักวิชาการกลุ่มต้านระบอบทักษิณ จะปลุกประชาชนให้ไปกา VOTE NO ในวันที่ 2 ก.พ.2557 ถ้ามีพลัง VOTE NO จำนวนมาก ก็จะสร้างความชอบธรรมฝ่ายประชาธิปัตย์และ กปปส.เพื่อสะท้อนให้ว่า คนจำนวนมาก ต้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และ ปฏิเสธ “การเมืองระบบตัวแทน”ที่พรรคเพื่อไทยใช้อ้างนำเสียงข้างมากมาหาประโยชน์ให้ตัวเองออกกฎหมายนิรโทษกรรมพ้นผิด
เสียงโหวตโนเท่าไรถึงจะมีน้ำหนัก มองกันว่า ถ้าระดับ 10 ล้านเสียง หรือ 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือ ถ้ามากกว่านั้นถึงระดับครึ่งครึ่งก็เพียงพอที่จะสร้างแรงสั่นสะเทือน และถ่วงดุล กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
ถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ คำตอบคือ มีโอกาส เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคใหญ่อันดับสองของประเทศและมีจำนวนสมาชิกพรรคมากที่สุด
เมื่อดูคะแนนเสียงที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ ปี 2554 ได้เสียงปาร์ตี้ลิสต์ 11.4 ล้านเสียงจากทั้งหมด 32.5 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ขณะที่เสียงโหวตโนขณะนั้นอยู่ที่ 1.4 ล้านเสียง หรือ 4% ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ 15.7 ล้านเสียง คิดเป็น 48%
และถ้าเทียบกับช่วงเลือกตั้งเมื่อ 2 เม.ย. 2549 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ บอยคอยการเลือกตั้ง มีคะแนนโหวตโน 9.61 ล้านเสียง จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 29ล้านคน คิดเป็น 33.1 % โดยที่พรรคไทยรักไทยได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 16.4 เสียง คิดเป็น 56.4%
ดังนั้น ถ้าจะให้คะแนน VOTE NO วันที่ 2 ก.พ. 2557 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ และสร้างอำนาจการต่อรอง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ อยู่ที่การรณรงค์ที่ต้องเข้มข้นในช่วงเกือบ 2 เดือนจนถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะฝ่ายกปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ก็มีจุดอ่อนถูกโจมตีว่า ไม่ยอมรับกติกาเลือกตั้งซึ่งเป็นกลไกหลักของระบอบประชาธิปไตย ทำให้ “ไทยเฉย” จำนวนไม่น้อยอาจไปเลือกพรรคเพื่อไทยเพื่อปฏิเสธ กปปส.
แต่ถ้านักวิชาการ องค์กรวิชาชีพ กลุ่มพลังต่างๆหลากหลาย ที่เคยร่วมแสดงพลังครั้งใหญ่ในกรุงเทพ ของ กปปส. สามารถก่อกระแสให้เห็นความจำเป็น “การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”ก็มีผลต่อการปลุกกระแส โหวตโนได้
เช่นเดียวกับ พรรคประชาธิปัตย์ถ้าโน้มน้าวคนที่เลือกครั้งที่แล้วให้พร้อมใจกันกาช่อง “โหวตโน” โดยเฉพาะในพื้นภาคใต้ และ กทม. รวมทั้งในเมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัด ที่เป็นฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีผลพอสมควร
ดังที่ วิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ประเมินการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า คาดว่า ในภาคใต้จะมี 50 เขตเลือกตั้ง และ กทม. 25 เขตเลือกตั้ง ที่มีผู้ไปกาโหวตโนชนะผู้สมัครรับเลือกตั้ง
“แนวทางสี่” ยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มิชอบ ไม่ต่างจากการเลือกตั้งปี 2549 ซึ่งขณะนั้น มีการยื่นฟ้อง กกต. ว่าจัดการเลือกตั้งโดยมิชอบในหลายประเด็นดังที่กล่าวมา จนที่สุดศาลตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
สำหรับครั้งนี้ ปมที่ฝ่าย กปปส.จะยื่นฟ้อง อาจมีตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ รวมถึงระหว่างการจัดการเลือกตั้ง และการลงคะแนนในวันที่ 2 ก.พ.2557 มีปัญหาความไม่ชอบทางกฎหมายหรือไม่
ต้องติดตามดูก่อนถึง 2 ก.พ. 2557 ความวุ่นวายจะรุนแรงแค่ไหน นำไปสู่การเลื่อนเลือกตั้งตามเป้าหมายของ กปปส.ได้หรือไม่
- ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต