เวทีปชช.แนะปฎิรูปประเทศ 5 เรื่อง ย้ำสร้างปชต.ทางตรงคู่ระบอบตัวแทน
เวทีปชช.แนะปฎิรูปประเทศ 5 เรื่อง ย้ำสร้างปชต.ทางตรงคู่ระบอบตัวแทนควบคู่ระบอบตัวแทน ขณะที่ประชาชนเสนอแก้ปัญหาทุจริตต้องเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรง ตั้งศาลดูคดีคอร์รัปชันเฉพาะ
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2556 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มธรรมศาสตร์อภิวัฒน์ประเทศไทยจัดเวทีประชาชนครั้งที่ 1 “ปฏิรูปประเทศไทย ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ศูนย์สิทธิมนุษยชนและสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ อ.คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ และมหาวิทยาลัยรามคำแหง นายไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้ประสานงานเครือข่าย NGO และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท.เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.รัตพงษ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาการทุจริตบทบาทของผู้นำประเทศมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ก่อนปี 2540 และหลังปี 2540 ยังไม่มีผู้นำคนใดออกมาแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างชัดจน ยิ่งหลังปี 2540 ยิ่งเห็นกลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก การเลือกตั้งมีการใช้เงินอย่างมหาศาล องค์กรต่างๆที่แก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริต รวมถึงในส่วนของรัฐบาลมียุทธศาสตร์แต่ไม่เคยตั้งเป้าว่าใน 5 ปีจะขยับอันดับคะแนนของความโปร่งใสหรือแก้ปัญหานี้อย่างไรบ้างเรากลับไม่เคยพูดถึง ประสิทธิภาพของการทำงานของคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ยังไม่เพียงพอ
ดังนั้นในขณะที่มีการตื่นตัวของประชาชนจึงเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่เราจะแก้ปัญหานี้ เนื่องจากที่ผ่านมากฎเกณฑ์หลายอย่างมีการปรับตัวหมด ยกเว้นพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ยังไม่ปรับตัวเอง ดังนั้นช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและเป็นความสวยงามของประชาธิปไตย
ด้านนายไพโรจน์ กล่าวถึงการกระจายอำนาจว่า แม้ว่าจะมีการกระจายอำนาจในรูปแบบต่างๆ แท้จริงอำนาจรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง อยู่ที่กระทรวง ทบวง กรม แม้จะกระจายแบบไหนก็ยังไม่ถึงมือท้องถิ่น แม้ในปี 2540 มีการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ชุมชนท้องถิ่นกำหนดชะตากรรมตัวเองในหลายรูปแบบผลคือเกิดการเคลื่อนไหวขนานใหญ่ในรอบ15ปี ประชาชนฝืนอำนาจรัฐและมีการเคลื่อนไหวตรวจสอบ เรื่องที่ดิน ทรัพยากร ชุมชนเริ่มขอมีส่วนร่วมในการจัดการและตัดสินใจ ดังนั้นในการจัดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อให้ชุมชนจัดการตนเองอำนาจหน้าที่ของรัฐส่วนกลางจัดการเพียง 4 เรื่องเท่านั้น คือ 1.การป้องกันประเทศ 2.การเงินการคลัง 3.ศาล และ 4.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นอกนั้นให้เป็นหน้าที่ของชุมชนท้องถิ่นที่จะต้องดูแลตนเอง ในขณะเดียวกันยังมีการออกแบบให้จังหวัดขนาดใหญ่ปกครองตนเองและสามารถบริหารจัดการเรื่องภาษีการคลังสู่ท้องถิ่น รวมไปถึงจะมีการออกแบบจังหวัดขนาดใหญ่ปกครองดูแลตนเอง ต้องมาดูเรื่องการเงินการคลัง ภาษี และรายได้สู่ท้องถิ่น มีพื้นที่สภาพลเมือง ทำหน้าที่กำกับทิศทางของจังหวัด ขณะเดียวกันใช้ “ประชามติ” เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่ตัดสินใจในโครงการสำคัญๆ เป็นต้น
ส่วนนายชัชวาลย์ กล่าวว่า ระบบการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้เกิดหายนะ คนเข้าไปมีอำนาจไปรับใช้นายทุนเกิดการกินรวบประเทศ จนทำให้การบริหารประเทศมีปัญหา ดังนั้น เราน่าจะต้องมีประชาธิปไตยทางตรงควบคู่กับประชาธิปไตยตัวแทน
"สภาพลเมืองและสภาประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ 2 ระดับ 1. ระดับจังหวัดมีเลือกตั้งผู้ว่าฯ สภาพลเมือง เพื่อให้ประชาชนเข้าไปดูแล มีบทบาทสามอย่าง เสนอทิศทางนโยบายการพัฒนาจังหวัด กำหนดนโยบายจากภาคประชาชน 2. ตรวจสอบถ่วงดุล ไต่สวนตั้งกระทู้ เปิดการไต่สวนถอดถอน และสร้างบทบาทในการหนุนเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชน
สำหรับสภาประชาชนในระดับชาติต้องแก้ให้มี 1. ฝ่ายบริหารนิติบัญญัติ 2.กลไกและโครงสร้างในการจัดความสัมพันธ์เสนอทิศทางการพัฒนามีบทบาทในการสนับสนุนให้มีการตื่นตัวอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวถึงการปฏิรูปที่ดิน สิ่งที่ทำให้การปฏิรูปที่ดินล้มเหลวเนื่องจากเราขาดความจริงใจการแก้ปัญหาที่ดิน ฝ่ายการเมืองไม่มีเจตจำนงค์ในการแก้ปัญหาในการกระจายที่ดิน หน่วยราชการไม่สามารถนำกฎหมายที่ดินมาบังคับใช้ได้ ตุลาการมีปัญหาคือศาลไม่เข้าใจเรื่องที่ดินที่ดิน และมีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบรุนแรงต่ออนาคตของชาติบ้านเมือง
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวถึงข้อเสนอในการปฏิรูปที่ดินว่า 1.จะต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ดินได้ เพราะในขณะนี้การถกเถียงแต่ไม่สามารถรู้ข้อมูลที่แท้จริงได้ว่า ใครถือครองที่ดินเท่าไร หากประชาชนรับทราบข้อมูลที่แท้จริงจะสามารถปลุกจิตสำนึกในเรื่องนี้ได้ 2.ควรมีการวางแผนการใช้ที่ดิน 3.กำหนดเพดานในการถือครองที่ดิน เพื่อการเกษตร และที่สำคัญต้องสนับสนุนให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองด้วย
สุดท้ายผศ.อิทธิพล กล่าวถึงเรื่องของทรัพยากร ป่าไม้ น้ำ ควรมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นจัดการบริหาร ส่วนกรมต่างๆที่เคยมีหน้าที่ดูแลมีหน้าที่ในการตรวจสอบและทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้กำกับเท่านั้น ซึ่งการบริหารจัดการเช่นนี้จะเป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริงโดยไม่ต้องอาศัยมติจากคณะรัฐมนตรี
"ดังนั้นจะต้องมีการปฏิรูปการจัดการและพยายามผลักดันเรื่องบริหารจัดการแบบลุ่มน้ำให้เกิดขึ้น โดยแผนบริหารจัดการนี้จะเชื่อมโยงกับการจัดการป่า และทรัพยากรอื่นๆ ส่วนกรมยังสามารถตรวจสอบได้เหมือนเดิม แต่ให้ท้องถิ่นดูแลจัดการเอง เป็นผู้กำกับดูแล กระจายอำนาจที่แท้จริง แนวเขต โดยไม่ใช้มติค.ร.ม."ผศ.อิทธิพล กล่าว
ทั้งนี้ในวงเสวนายังมีการเสนอแนวทางเพิ่มเติมในการปฏิรูปในเรื่องต่างๆดังนี้ เช่นในการแก้ปัญหาคอรัปชั่น มีศาลคอรัปชั่น เพิ่มบทลงวโทษให้รุนแรง แก้กฎหมายให้คดีคอรัปชั่นไม่มีการหมดอายุความ ประชาชนมีสิทธิฟ้องร้องได้หากเห็นการทุจริต การบริหารจัดการเกี่ยวกับทุจริตให้มีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น