กระทิงกุยบุรีตายถึง16 ตัว ตร.มุ่งสอบ-ปมวางยา!
กระทิงป่ากุยบุรีตายแล้ว 16 พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน จเรตำรวจแห่งชาติ นำทีมรุดคลี่ปมวางยาพิษ
ความคืบหน้ากรณีกระทิงในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ พากันล้มตายเป็นเบือตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งหมด 13 ตัว โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ชุดลาดตระเวนของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี 13 องค์กร รายงานว่าพบกระทิงตายเพิ่มอีก 3 ตัว เป็นตัวเมีย 2 ตัว และตัวผู้ 1 ตัว ที่บริเวณหุบมะกรูด หมู่ 7 ต.หาดขาม อ.กุยบุรี โดยสภาพซากแต่ละตัวเน่าเปื่อยจนเกือบหมด พร้อมทั้งรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อเตรียมจัดกำลังเจ้าหน้าที่และทีมสัตวแพทย์เข้าตรวจสอบซากอย่างละเอียด ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) รุดเดินทางมายังอุทยานฯ กุยบุรี เพื่อร่วมตรวจสอบด้วย
ต่อมานายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี พร้อมด้วยนายปรีชา วิทยพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และ ร.ท.ณรงค์ชัย แตงอ่อน หัวหน้าชุดประสานงานโครงการพระราชดำริ บ้านรวมไทย นำกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เดินทางไปตรวจสอบซากกระทิง 3 ตัวที่พบล่าสุด สภาพบางตัวมีร่องรอยสัตว์ป่าแทะเล็ม ส่วนเขากระทิงยังอยู่ครบทุกตัว คาดว่าตายมาแล้ว 15-20 วัน ใกล้เคียงกับตัวอื่นๆ ที่พบซากก่อนหน้านี้
นายพงษ์พันธ์กล่าวว่า รวมมีกระทิงตายขณะนี้ 6 ตัวแล้ว จึงได้รายงานให้นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ทราบ และสั่งการให้พิสูจน์ทราบให้ชัดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เพราะประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก และอยากทราบถึงสาเหตุการตายของกระทิงป่าฝูงนี้ แต่จากการตรวจสอบและสันนิษฐานเบื้องต้นสงสัยเกิดจากสารพิษ ไม่น่าใช่พืชไมยราบไร้หนาม เนื่องจากมีปริมาณน้อยมากไม่น่าทำให้กระทิงตายทั้งฝูงได้ ขณะนี้จึงเชื่อว่าเกิดจากสารพิษในวัตถุ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่ขอยืนยันว่าบริเวณที่เกิดเหตุเป็นต้นน้ำและเป็นพื้นที่ปิด ไม่อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไป
ส่วนนายปรีชากล่าวว่า ในพื้นที่รับผิดชอบมีกระทิงอยู่กว่า 100 ตัว แบ่งเป็น 3 ฝูง โดยฝูงที่ตายอยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของโครงการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีอยู่ 22 ตัว จากการตรวจสอบหากระทิงในฝูงที่เหลือพบกระทิงยังมีชีวิตอยู่ 4 ตัวที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว ส่วนฝูงอื่นยังไม่พบการตาย จึงให้เจ้าหน้าที่กันเขตไม่ให้กระทิงฝูงอื่นข้ามเข้ามาในจุดที่มีปัญหา
ด้านนายสุทธานาถ สุขโข อายุ 42 ปี ชาวบ้านหมู่ 7 บ้านรวมไทย ต.หาดขาม อ.กุยบุรี กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องกระทิงตายว่าเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ และเสียใจมากที่เกิดเรื่องร้ายขึ้น แม้ในอดีตชาวบ้านเคยมีปัญหากับช้างป่า แต่ปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างหมดไปแล้ว ส่วนกระทิงป่าไม่เคยเป็นปัญหากับชาวบ้าน แถมชาวบ้านยังได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว เพราะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาชมกระทิงและช้างป่าที่กุยบุรี ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการนำชม จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเร่งหาข้อเท็จจริงและเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดโดยเร็วที่สุด เพราะสิ่งที่ชาวบ้านต่างกังวลคือการวางยาพิษ และโรคระบาด
ขณะเดียวกัน นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประสานกับนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กรณีเข้าไปตรวจสอบสารพิษในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยในขณะนี้ต้องเฝ้าระวังไม่ให้กระทิง วัวแดงอีก 2 ตัว และสัตว์ป่าชนิดอื่นที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเข้าไปในบริเวณต้องสงสัย คาดว่าอาจมีกระทิงตายอีกแต่ยังหาไม่เจอ
ส่วนนายวิเชียรกล่าวว่า ในวันที่ 26 ธ.ค. กรมควบคุมมลพิษจะลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำ ดิน พืช ในบริเวณดังกล่าวนำมาพิสูจน์ในห้องแล็บ คาดว่า 2 สัปดาห์หรือช่วงหลังปีใหม่จะรู้ผล แต่เท่าที่ทราบเบื้องต้นบริเวณที่กระทิงตายเคยเป็นพื้นที่เกษตรกรรมมาก่อน จึงเป็นไปได้ที่จะมีสารเคมีทางการเกษตรตกค้าง เช่น ยากำจัดศัตรูพืช หรือกลบฝังสารเคมีแล้วทำให้ไปปนเปื้อนแหล่งน้ำและดิน หรือพืชที่กระทิงกินเข้าไป
"แม้จะยังไม่รู้ที่มาที่ไปของสารเคมีเป็นไปอย่างไร แต่มีอีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ผมได้คุยกับนายธีรภัทรก่อนหน้านี้คือ ในพื้นที่นั้นมีการทำฝายแม้วมาก่อน และมีการขนอุปกรณ์ เช่น หิน ดิน ปูน ใส่ในถุงปุ๋ยเข้าไปในพื้นที่ จึงอาจมีสารเคมีบางอย่าง เช่น สารละลายพวกฟอสเฟตจากถุงปุ๋ยอาจจะปนเปื้อนอยู่ในน้ำแล้วกระทิงไปกินน้ำจนตาย ซึ่งเป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจเท่านั้น" อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าว
รายงานข่าวจากผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ป่ากุยบุรีระบุด้วยว่า ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมาพบกระทิงตายแล้ว 16 ตัว ในเบื้องต้นมั่นใจว่า 15 ตัวโดนวางยา และอีกตัวตายตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่น่าจะมีสาเหตุใดที่ทำให้กระทิงตายในช่วงระยะเวลาเดียวกันแบบนี้ หากเกิดจากโรคระบาดจริงซากกระทิงที่ตายจะต้องผอมซูบ แต่ที่พบเห็นซากแต่ละตัวก็ตัวใหญ่ ไม่มีแนวโน้มว่าจะตายเพราะโรคระบาด ส่วนข้อสังเกตเกี่ยวกับไมยราบไร้หนามนั้นก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน เพราะในพื้นที่ไม่มีไมยราบมากขนาดนั้น