นพ.ประเวศ ชี้ " โรงเรียนสุขภาวะ" เป็นการปฏิรูปประเทศไท
ศ.นพ.ประเวศ ชี้ “ โรงเรียนสุขภาวะ” เป็นการปฏิรูปประเทศไทยที่สำคัญ สามารถเปลี่ยนการศึกษาที่สร้างความสุข หยุดสอนเด็กเรียนรู้แบบท่องจำ ด้าน รศ.ดร.ประวิต เห็นพ้องให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสุขใน 4 มิติ
วันที่ 23 ธ.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ มูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การเสริมสร้างพลังอำนาจการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียน” ภายใต้โครงการเสริมสร้างพลังอำนาจการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเสวนา ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา ครู ศึกษานิเทศก์ กรรมการสถานศึกษา นักวิชาการ และผู้สนใจกว่า 500 คน
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถานำเรื่องการเสริมสร้างพลังอำนาจการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียน ว่า การเสริมสร้างพลังอำนาจการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียนถือเป็นการปฏิรูปประเทศไทยที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการศึกษาที่ผ่านมาก่อให้เกิดทุกข์ทั่วไปหมด ฉะนั้นหากเราสามารถเปลี่ยนการศึกษาที่สร้างความสุขให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งเด็ก ผู้ปกครอง ครู ถือเป็นการปฏิรูปที่สำคัญ เพราะการปฏิรูปการศึกษาถือเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าทุกฝ่ายร่วมกันคิดถือเป็นพลังที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุข อีกทั้งที่ผ่านมาแผนการศึกษาแห่งชาติเป็นแผนที่ครอบคลุมทุกอย่างแต่มักไม่เกิดขึ้น เพราะขึ้นอยู่ที่คนทำหรือไม่ทำ เข้าใจหรือไม่เข้าใจ ซึ่งประเทศไทยขาดภูมิปัญญาด้านการจัดการ เพราะเราเรียนเป็นรายวิชา เน้นการท่องจำให้กับนักเรียนมากกว่าสอนความเข้าใจ ฉะนั้นการจัดการถือเป็นความเชื่อมโยงที่ดี
"ขณะนี้ ประเทศไทยขาดการจัดการไปอย่างน่ากลัว จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมายเพราะขาดการจัดการที่ดี"
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า การเรียนรู้ทำให้เกิดปัญญาจนนำไปสู่ความสุข ถ้าการศึกษาเป็นความทุกข์ คนไทยก็เกลียดการศึกษา อะไรที่ทำให้เกิดความสุขคนจะมุ่งทำเรื่องนั้นๆ ซึ่งหากการศึกษาทำให้คนเกิดความสุข คนไทยก็จะมุ่งกลับไปเรียน และหากทุกโรงเรียนสร้างสุขภาวะในโรงเรียน ก็ทำให้เกิดความสุขได้อย่างยั่งยืน การศึกษาของประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนหลักคิดใหม่โดยการศึกษาต้องเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เพราะการศึกษาคือชีวิต เด็กต้องเรียนรู้จากชีวิต อย่าแยกการศึกษาออกจากชีวิต
ด้านรศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า การเสริมสร้างพลังอำนาจการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียน เป็นโจทย์ใหม่ที่ต้องการกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องต่อการจัดการศึกษา ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา ครู พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ชุมชน และสังคม ตระหนักและให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นสุขใน 4 มิติ คือ โรงเรียนเป็นสุข สิ่งแวดล้อมเป็นสุข ครอบครัวเป็นสุข และชุมชนเป็นสุข นำสู่นักเรียนเป็นสุขมากกว่าการไปมุ่งเก่งวิชาการ ความเป็นเลิศ การแข่งขันที่มากเกินไป จนหลงลืมชีวิตความเป็นจริงในมิติของความเป็นมนุษย์ การอยู่ร่วมกัน การเคารพศักดิ์ศรี
สำหรับการทำให้นักเรียนเป็นสุขมี 6 เรื่องสำคัญ คือ 1.ความสามารถเชิงวิชาการ 2.มีทักษะชีวิต 3.มีทักษะสุขภาพ 4.มีคุณธรรม จริยธรรม 5. มีความเป็นประชาธิปไตย รู้หน้าที่พลเมืองและ 6.รู้สิทธิหน้าที่ปฏิบัติตน เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเสมอภาค ดังนั้น การที่จะทำให้ผู้เรียนเติบโตเป็นคนที่สมบูรณ์ได้ ไม่ใช่มุ่งจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรอย่างเดียว แต่จะต้องทำให้ครบทั้ง 6 ข้อนี้ และต้องส่งสัญญาณไปยัง พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ชุมชน ว่า ความคาดหวังที่ต้องการให้ลูกหลานเก่งและดี โดยโยนภาระหน้าที่ทั้งหมดให้โรงเรียนนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะ 40% เด็กอยู่ที่โรงเรียน แต่ 60% เด็กอยู่กับผู้ปกครอง ชุมชน ครอบครัว ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน อย่าผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนฝ่ายเดียว
รศ.ดร.ประวิต กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงเรียนส่วนใหญ่ขาดมิติที่สำคัญด้านครอบครัวและชุมชน เนื่องจากการจัดการศึกษาของประเทศทั้งลักษณะการดำเนินการ การบริหารจัดการเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจ ผ่านลงไปที่เขตพื้นที่การศึกษาทำหน้าที่กำกับดูแล ติดตามการดำเนินงานของโรงเรียน ส่วนพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และชุมชนก็จะโยนภาระมาที่โรงเรียน เมื่อมีผลลัพธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็จะโทษโรงเรียน โทษครู ซึ่งในความเป็นจริงทุกคนทุกฝ่ายจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยเป้าหมายเราต้องการเห็นการลดการรวบอำนาจจากส่วนกลางลงแล้วให้โรงเรียนมีอิสระในการพัฒนา ร่วมกันทำงานโดยดึงความร่วมมือจากพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และชุมชนในการช่วยกันวางแผน ช่วยดำเนินงานร่วมกับโรงเรียนมากขึ้น โดยต้องรีบคืนโรงเรียนให้กับชุมชน ซึ่งจะทำให้สามารถปัญหาเด็กและเยาวชนในปัจจุบันได้มาก
ด้านนพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวถึงการเสริมสร้างพลังอำนาจการจัดการศึกษาที่สร้างสุขภาวะในโรงเรียน มีจุดเด่นตรงที่การสร้างประชาคมการเรียนรู้ทั้งในโรงเรียนและระหว่างโรงเรียนหรือภายนอกรั้วโรงเรียน เพราะที่ผ่านมาแม้องค์กร หน่วยงาน ผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษาต่างพยายามบอกว่า ได้จัดการศึกษาโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แต่ลืมไปว่า ในการจัดการศึกษาอย่างไรก็ตามผู้ที่มีบทบาทสำคัญควบคู่ไปด้วยก็คือครู ดังนั้น ความแตกต่างของโครงการนี้ กับการจัดการศึกษาของโรงเรียนอื่นๆ คือการเน้นให้ครูเรียนรู้ร่วมกันไปกับเด็กให้ได้มากที่สุด และเลิกการให้ครูเรียนรู้ผ่านการอบรม ซึ่งไม่ได้ผล อีกทั้งการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนสุขภาวะซึ่งมุ่งพัฒนาเด็กทั้งร่างกาย ความคิดอ่าน จิตใจและทักษะทางสังคม โดยวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมในหลักสูตรและกิจกรรมเสริมหลักสูตรภายใต้การมีบทบาทของเด็ก เช่น การตั้งชมรม การจัดค่ายส่งเสริมสุขภาวะ ตามความสนใจของเด็กเอง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมินเห็นได้ชัดว่า เด็กมีความสุขในการเรียนมากขึ้น
ขณะที่นายสังคม อินทร์ขาว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาขนวน จ.ศรีสะเกษ กล่าวถึงการเรียนการสอนในปัจจุบันนั้นส่วนมากจะสอนตามตำราในรูปแบบให้ความรู้และการจำมากกว่าความเข้าใจ แต่การจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนบ้านนาขนวนจะเน้นให้เด็กรู้ในสิ่งที่อยากรู้ ส่วนหลักสูตรการเรียนการสอนที่จะให้สอดรับตามกฎกระทรวงอยู่ที่ครูที่จะสอดแทรกเนื้อหาในการสอนให้กับนักเรียน เพราะโรงเรียนเน้นความสุขของผู้เรียนและครูผู้ทำงานเป็นหลัก
“เชื่อว่า ถ้าทำกระบวนการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งก็จะเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ที่เป็นสุขให้กับผู้เรียนได้อย่างลึกซึ้งเช่นกัน เพราะถ้าจัดการเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กอยากรู้ก็จะทำให้เด็กมีความสุขอยากมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น มีความสุขกับการเรียน เพราะผลลัพธ์ไม่ใช่อยู่ที่คะแนนสอบผ่านได้เป็นที่ 1 แต่อยู่ที่เมื่อเด็กจบออกไปความเป็นตัวตนของเด็กจะมีมากขึ้น กล้าคิด กล้าทำ รู้จักวิเคราะห์” นายสังคม กล่าว