ภาพรวมปัญหาเชิงโครงสร้าง ค้นหาเงื่อนปม ก่อน "ปฏิรูปประเทศ"
"การปฏิรูปไม่ได้อาจทำได้สำเร็จด้วยอำนาจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่สำเร็จได้ด้วยความฝันร่วมกันที่จะทำให้สังคมของเราเป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีความยุติธรรม และมีสมรรถนะที่จะทำให้ศักยภาพของบุคคลและสังคมได้พัฒนาไปได้สูงสุด"
นับตั้งแต่เริ่มการทำงาน เดือนกรกฎาคม 2553 คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ชุดที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน มีความเห็นว่า ปัญหานานัปการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ ล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเองอย่างสลับซับซ้อน โดยรากเหง้าของปัญหา "ไม่ใช่" ความบกพร่องของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งอาจแก้ไขได้เป็นเรื่องๆ ไป แต่ทั้งหมดเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เชื่อมโยงกันเอง
การปฏิรูปประเทศจะไม่ได้ผลอะไร หากไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ซึ่งมีข้อบกพร่องเหล่านี้ทั้งระบบ ระยะเวลา 10 เดือน ก่อนจบภารกิจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 คปร.ได้เสนอภาพรวมของปัญหาเชิงโครงสร้าง อันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในสังคมไทย เอาไว้
กล่าวโดยสรุป ก็คือ ตัวโครงสร้างของการจัดสรรอำนาจ กีดกันมิให้คนจำนวนมากเข้าถึง "ทรัพยากร" หรือเข้าถึงได้อย่างไม่เท่าเทียมกัน คำว่า ทรัพยากร มีความหมายกว้างว่าทรัยากรที่จับได้เพียงอย่างเดียว แต่ถึง "โอกาส" และพลังที่เพิ่มพูนขึ้นในการใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองด้วย
ในที่นี่รวมเรียกว่า "ทรัพยากร" ทั้งหมด
ภาพรวมการปฏิรูปของ คปร. เห็นว่า หากไม่ปรับโครงสร้างของการเข้าถึงทรัพยากร ก็ไม่มีทางที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งนับวันจะเลวร้ายลงยิ่งขึ้น และเป็นสาเหตุแห่งการชะงักงันในเกือบทุกด้านของสังคมไทยเวลานี้
ที่่มา:แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2554