ลูกพระดาบส ไม่มีวุฒิ แต่มีกิน วิชาชีพเลี้ยงตัวได้
"เรียนฟรี อยู่ฟรี ใครอยากเป็นศิษย์ต้องมีความเพียร และอดทน เป็นโรงเรียนเถื่อน ไม่เข้าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ไม่มีวุฒิ แต่มีกิน"
โรงเรียนพระดาบส โรงเรียนหนึ่งในแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เปิดโอกาสให้เด็กยากจน ด้อยโอกาส ได้ศึกษาวิชาชีพให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยจะเปิดสอน 8 สาขาวิชา ได้แก่ ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างซ่อมบำรุง การเกษตรพอเพียง เคหะบริบาล ช่างไม้เครื่องเรือน และช่างเชื่อม
ในแต่ละปีจะรับนักเรียนเข้ามาไม่เกิน 150 คนเท่านั้น โดยผู้ที่จะได้รับคัดเลือกต้องเป็นเด็กที่มีความประพฤติดี ขาดโอกาสเรียนต่อและต้องมีผู้รับรองความประพฤติว่าเด็กจะสามารถเรียนจนจบหลักสูตรและจบออกไปทำประโยชน์ให้แก่ครอบครัวและชุมชนได้ โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักเรียนแต่ละคนจนจบหลักสูตรจะตกประมาณ 80,000-100,000 บาท
ดร.สมยศ เจตน์เจริญรักษ์ ผอ.โรงเรียนพระดาบส เล่าว่า ในหลวงได้พระราชทาน โอกาสครั้งที่สอง ที่ว่าครั้งหนึ่งเด็กๆ เขาเติบโตมาตามระบบการเรียนขั้นพื้นฐานที่จบไปมีอาชีพ แต่โอกาสคนเราไม่เท่ากัน หลายคนไม่มีโอกาสเรียนต่อ ดังนั้น การสร้างโรงเรียนพระดาบส ตามแบบโบราณนั้นคือจะมีฤๅษีเป็นผู้ให้ความรู้ สั่งสอนโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ในขณะเดียวกันศิษย์ก็ปรนนิบัติดูแลผู้สอน เรานำแนวทางนี้มาใช้ โดยการสอนให้เขามีวิชาติดตัวโดยผู้สอนไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ เพียงขอแค่ให้ศิษย์ ทำเป็น คิดเป็น และรับผิดชอบ
ผอ.โรงเรียนพระดาบส ยังกล่าวถึงแนวคิดของโรงเรียนที่ว่า "ไม่มีวุฒิ แต่มีกิน" ที่ปรากฏในโฆษณา ของ บริษัท พีทีจีฯ โครงการ “พีที เต็มพลังสัมมาชีพ” ว่าเด็กที่จบจากโรงเรียนทุกคนแม้จะไม่มีวุฒิการศึกษาตามหลักสูตรเหมือนกันคนที่เรียนตามโรงเรียนอาชีวะ แต่มีความรู้ความชำนาญในสาขาที่เรียนมาไม่น้อยไปกว่า แม้เราจะเรียนเพียง 1 ปี แต่เรามุ่งสอนการปฏิบัติงานจริง ทำให้คนมีอาชีพได้
" 1 ปี ที่เด็กใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียน แม้เวลาจะน้อยนิด แต่ก็ทำให้เด็กเราจบไปมีงานทำ ได้เงินเลี้ยงตัวเอง เพราะบริษัทให้ค่าจ้างตามฝีมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเหล่าได้เข้ารับความเมตตาให้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับประกาศนียบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และยิ่งทำให้เราได้รับความเชื่อใจจากบริษัท"
ด้านการเรียนการสอนของโรงเรียนแห่งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกจะเป็นการเรียนพื้นฐานให้ชำนาญ เนื่องจากงานช่างเป็นงานที่ใช้มือทำงาน ต้องบังคับมือให้ได้ เพราะงานบางอย่างใช้ความประณีตในการทำ รวมถึงต้องเรียนรู้ทักษะการเป็นช่างทั้งหมด
เมื่อผ่านช่วงของการฝึกพื้นฐานเรียบร้อยแล้ว ดร.สมยศ บอกว่า จะให้นักเรียนเลือกสาขาที่ตนถนัด โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้คะแนนจากการฝึกมากที่สุดเป็นผู้เลือกก่อน หลังจากนั้นเราจะหาที่ฝึกงานให้ และดูลักษณะงานว่าเด็กของเราต้องไปทำอะไรบ้าง แล้วให้เด็กฝึกงานด้านนั้นๆ อย่างเต็มที่เพื่อความชำนาญ 2 เดือน โดยเราขอความกรุณาให้หัวหน้างานแต่ละบริษัทที่รับเด็กไปฝึกงานมาให้ความรู้ก่อน รวมถึงมีข้อตกลงกับบริษัทว่าหลังจากการฝึกงานเสร็จเด็กเราจะทำอะไรเป็นบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จมาก และก่อนที่จะปล่อยลูกพระดาบสออกไปเผชิญโลกภายนอกเราก็จะให้เขาได้เก็บตกสิ่งที่ยังได้ไม่เต็มที่
หลักสูตรเกษตรพอเพียงนั้น ผอ.สมยศ กำหนดให้เรียน 6 เดือนหลังจากฝึกพื้นฐานการช่างแล้ว โดยจะเรียนเพาะพันธุ์ปลาในห้องปฏิบัติการก่อน และจัดสรรหาที่ดินให้คนละไร่ แล้วให้เด็กทำบ้านมุงใบจาก ให้บริหารพื้นที่ เป็นบ่อปลา แปลงผัก ผลผลิตที่ได้จะนำมาทำอาหารและแบ่งขายเพื่อให้มีรายได้ ให้หาน้ำเอง ไม่มีเครื่องจักรให้ และต้องอยู่ให้ได้ ตอนนี้เรามีโครงการลูกที่ปากน้ำ แต่มีปัญหาคือพื้นที่เค็ม ไม่ได้ผล เรากำลังหาผู้ใจดีให้ยืมที่ดินบุญให้ และผลัดเปลี่ยนรุ่นไปเรื่อย
สำหรับนักเรียนหลักสูตรเคหะบริบาลจะรับเฉพาะนักเรียนหญิง เรียนแยกส่วนกับนักเรียนช่างอื่นๆ โดยจะเรียนเกี่ยวกับการดูแลคนแก่ คนชรา และผู้ป่วย ซึ่งจะได้ลงมือปฏิบัติงานจริงเช่นเดียวกัน เมื่อจบไปก็จะไปทำงานตามโรงพยาบาลและสถานบริบาลทั่วไป
“หากเปรียบเทียบกับวิทยาลัยอาชีวะศึกษา ชัดเจนว่าการเรียนตามอาชีวะสมัครเข้าสาขาวิชาชีพเลย โดยที่บางครั้งนักเรียนไม่รู้ว่าสาขานั้นเรียนอะไร อย่างไร เราจึงต้องเรียนรู้ ฝึกทักษะให้เหมาะสมกับความถนัด การเรียนที่ว่าเราให้สัดส่วนของทฤษฎีกับปฏิบัติไม่เท่ากัน เราให้ความรู้ทฤษฎีเท่าที่จำเป็น เรียนเขียนแบบ คณิตศาสตร์ แต่ไม่เรียนเยอะ ทั้งหมดที่จำเป็นต้องเอาไปใช้ในการประกอบวิชาชีพ เราไม่ให้ในสิ่งที่ไม่จำเป็น ถึงแม้เวลาเรียนเราจะน้อยกว่า แต่เราไม่มีปิดเทอม เรียนวันจันทร์ถึงเสาร์ เทียบดูแล้วเวลาก็พอๆ กัน” ท่าน ผอ.กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทว่าการไม่มีวุฒิ ก็ยังเป็นอุปสรรคอยู่ร่ำไป ผอ.สมยศ เผยว่า เด็กบางคนที่เรียนจบไปแล้วส่วนมากจะมีบริษัทมารับตัวไปทำงาน เกิน 100% ก็ว่าได้ แต่หากต่อไปมีการย้ายถิ่นฐานที่ทำงาน มีแค่ประสบการณ์ แต่พอที่ใหม่เห็นว่าไม่มีวุฒิก็ไม่อยากรับเข้าทำงาน
โอกาสในการต่อยอดในสาขาวิชาชีพก็มีมาก โดย ผอ.ยกตัวอย่างนักเรียนเคหะบริบาลที่ออกไปทำงานข้างนอก พอเจ้าของกิจการเมตตาเห็นว่ามีความสามารถ เขาก็หยิบยื่นโอกาส บางรายโชคดีก็ได้ทุนไป นักเรียนที่จบตามหลักสูตร หรือบางคนที่จบ มัธยมปลายมาแล้วก็ไปเรียนต่อได้วุฒิสูงๆก็มี
แถมในภาคอุตสาหกรรมก็สนับสนุนการต่อยอดอาชีพให้เด็ก โดยการอนุญาตให้หยุดงานวันเสาร์โดยไม่หักค่าแรงเพื่อให้ได้ไปเรียน เป็นต้น
แน่นอนว่า การอยู่กินนอนในโรงเรียนประจำที่กฎระเบียนเคร่งครัดเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับการถูกขัง แต่โรงเรียนพระดาบสได้ใช้วิธีเดินทางสายกลาง ไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไป ซึ่ง ผอ.สมยศ เล่าว่า "คนเราไม่มีใครอยากอยู่กับที่ แต่ก่อนเราไม่ให้ใช้โทรศัพท์เลย กลัวมีคนมาชักชวนให้ทำเรื่องไม่ดี เมื่อใช้มากค่าใช้จ่ายก็ตามมา เราเลยตกลงว่าจะให้ใช้โทรศัพท์เฉพาะตอนเย็นหลังเลิกเรียนเท่านั้น รวมถึงพาออกไปดูงานนอกสถานที่ ไปเที่ยวคลองถม สำเพ็งบ้าง เพราะเด็กเรามาจากต่างจังหวัดการใช้ชีวิตลำพังในกรุงเทพฯ ย่อมเป็นเรื่องที่พวกเขาไม่ถนัด"
การสอนวิชาทักษะการใช้ชีวิตเพื่อให้นักเรียนจบไปสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง โรงเรียนพระดาบสได้รับความกรุณาจากผู้ใหญ่อย่าง พระ อาจารย์อาวุโสจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ทุกคนในโรงเรียนเรียกว่า “ดาบสอาสา” ที่ผ่านประสบการณ์ในชีวิตมามาก มาสอนวิธีการดำเนินชีวิตให้นักเรียนโดยจะจัดเป็นชั่วโมงเรียนรวมในทุกวันศุกร์ รวมถึงการใช้กิจกรรมกลุ่ม
ผอ.สมยศ เปรยว่า มีแผนจะเปลี่ยนเป็นให้เป็นวันเสาร์แทนให้ดาบสอาสามีเวลาว่าง และหานักกิจกรรมมาช่วยอบรม เรื่องการแก้ปัญหา การอยู่ร่วมกัน การสื่อสาร และเรื่องกฎหมาย ให้ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้เด็กไม่เบื่อมากเกินไป
"วิทูล สายแก้ว" หนึ่งในอาจารย์ผู้สอนที่เป็นศิษย์เก่าลูกพระดาบส ที่หลังจากเรียนจบหลักสูตรของโรงเรียนแห่งนี้แล้ว เขาได้รับทุนจากโครงการ IMM (Association for International Manpower Development of Medium and Small Enterprise, Japan : IMM) ของกระทรวงแรงงาน ได้มีโอกาสไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น 3 ปี ถือเป็นการขยายจากโรงเรียนไปสู่สากล
"ผมไปในสาขางานเชื่อม หลังจากนั้นก็เข้ามาเป็นอาจารย์ที่นี่เลย เพื่อนบางคนก็จบแล้วไปทำงานก็จะหาโอกาสศึกษาต่อ"
ครูที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นศิษย์เก่า ไม่ก็เป็นดาบสอาสา ขณะเดียวกันก็จะมีครูผู้ช่วยในทุกๆ แผนกของการเรียนการสอน ซึ่งเมื่อครูผู้ช่วยผ่านการประเมิน โรงเรียนก็จะให้ทุนส่งเรียนต่อ
ด้านนายประพัฒร์ ภู่บุบผา ดาบสอาสาช่างอิเล็กทรอนิกส์ ที่เคยทำงานบริษัทปัจจุบันออกมาทำธุรกิจส่วนตัว เล่าว่า การเข้ามาเป็นดาบสอาสาของตนมาจากความคิดที่อยากจะถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ที่เคยผ่านการทำงานด้านนี้กับเด็กๆ พอทราบว่า ที่นี่เป็นโรงเรียนตามพระราชดำริของในหลวงจึงเข้ามาสมัคร พร้อมกับมองว่า การให้วิชาชีพเป็นสิ่งสำคัญเพราะเมื่อเด็กจบไปมีอาชีพเขาก็จะสามารถเลี่ยงตัวเองได้
"การสอนให้เด็กปฏิบัติงานเป็นอย่างเดียวไม่พอเ ราต้องสอนการปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ร่วมสังคมกับผู้อื่นด้วย เพื่อให้จบไปเป็นคนที่มีคุณภาพ"ดาบสอาสาช่างอิเล็กทรอนิกส์ เปิดมุมมอง และเห็นว่า การเรียนเพียง 1 ปี แม้จะดูเป็นการเร่งรัด แต่เราสอนเฉพาะที่ต้องใช้งานจริง
ทฤษฎี เด็กสามารถหาอ่านเองได้ ฉะนั้น แนวการสอนของเขาจึงเน้นสอนแบบสอดแทรกประสบการด้านการบริหารการตลาดและการจัดการไปด้วย เพราะนอกจากจะทำให้เด็กเหล่านี้ ออกไปเป็นช่างที่ชำนาญการแล้ว ยังสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ด้วย เพราะเขาเชื่อว่า คงไม่มีใครอยากเป็นลูกจ้างตลอดไป
นายกิตติพงษ์ วงศ์สุวรรณ นักเรียนช่างอิเล็กทรอนิกส์ วัย 30 ปี อดีตพนักงานโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศยี่ห้อหนึ่งที่มีวุฒิ ม.6 ติดตัว บอกว่า เมื่อครั้งที่เรียนจบ ม. 6 ได้ไปเรียนต่อที่สถาบันราชภัฏแห่งหนึ่ง แต่เรียนไม่ไหวเพราะไม่คุ้นเคยกับการเรียนแบบเป็นผู้รับที่มีครูเป็นคนป้อนอยู่ตลอดเวลา จึงตัดสินใจลาออกมาทำงานโรงงานผลิตแอร์
เมื่อไม่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ เขาก็เริ่มเบื่อ คิดอยากมีความรู้มากกว่านี้เผื่อจะได้มีกิจการเป็นของตัวเองบ้าง และเป็นโชคดีของเขาที่มีคนมาแนะนำให้สมัครโรงเรียนพระดาบส "ตอนเข้ามาครั้งแรกกลัวจะอยู่กับคนอื่นไม่ได้เพราะเราอายุมาก" กิตติพงษ์ เล่าแบบเขินๆ และว่า แต่พออยู่ไปนานๆ ที่นี่สอนให้ทุกคนมีระเบียบวินัย สอนการอยู่ร่วมกับคนอื่นเราก็อยู่ได้ และเหตุผลที่เลือกเรียนสาขานี้เพราะมันเป็นสาขาที่มีงานรองรับค่อนข้างมาก ซึ่งรู้ดีว่าแม้สาขานี้จะเรียนยากแต่ถ้าเราพยายามมันก็ทำได้
"กิตติพงษ์" เป็นนักเรียนที่มีความเชื่อมั่นว่า วิชาชีพที่ได้จากโรงเรียนพระดาบสจะทำให้เขามีอาชีพที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้ เขาสนใจเกี่ยวกับงานระบบคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ไอทีต่างๆ โดยให้เหตุผลว่า อุปกรณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใช้อยู่แล้ว และหากเป็นไปได้เขาอยากเปิดร้านเป็นของตัวเอง
ทั้งหมดเป็นเครื่องพิสูจน์ โรงเรียนเถื่อน ที่ไม่เข้าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการแห่งนี้ มีหลากหลายบริษัทเข้ามาติดต่อขอรับนักเรียนไปทำงาน จนเรียกได้ว่า ผลิตเด็กไม่เพียงพอต่อตามความต้องการของตลาดไปเสียแล้ว
|