จับตาทหาร "เทคโอเวอร์" โต๊ะเจรจา "ดร.วัน" ที่ปรึกษา และเบื้องหลังคาร์บอมบ์หาดใหญ่
การพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยนำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มของ นายฮัสซัน ตอยิบ ต้องสะดุดไปโดยปริยายจากปัญหาการเมืองภายในของประเทศไทย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาขัดแย้งภายในของบีอาร์เอ็นและขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนอื่นๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญด้วยเช่นกัน
จนถึงขณะนี้มีการคาดการณ์กันไปหลายแนวทาง บ้างก็ว่าการพูดคุยสันติภาพในช่องทางนี้ ซึ่งหมายถึงช่องทางการสื่อสารระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ซึ่งมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก น่าจะถึงทางตันแล้ว บ้างก็มองแง่ร้ายว่าโต๊ะพูดคุยถือว่าล้มไปแล้ว ขณะที่บางกระแสก็ยังมองแง่ดีว่าการพูดคุยยังคงมีอยู่ เพียงแต่อยู่ในช่วง "พักยาว"
ประเมินกันว่าหากจะมีการพูดคุยกันในช่องทางนี้อีก ก็ต้องรอหลังเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 แต่นั่นตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ต้องเกิดขึ้น และพรรคเพื่อไทยจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกรอบ โดยระหว่างทางไม่มีการเปลี่ยนตัว พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร บนเก้าอี้เลขาธิการ สมช.ด้วย
จะเห็นได้ว่าโอกาสของการพูดคุยกันต่อในช่องทางเดิม แม้จะยังมีอยู่ แต่ก็มีเงื่อนไขประกอบเยอะเหลือเกิน รวมทั้งท่าทีของบีอาร์เอ็น เนื่องจากเพิ่งมีการเผยแพร่แถลงการณ์ที่อ้างมติ "สภาปฏิวัติ" เมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค.ว่าจะไม่มีการส่งตัวแทนร่วมพูดคุยกับรัฐบาลไทยอีก เพราะไทยยังไม่นำข้อเรียกร้อง 5 ข้อเข้าขอคำรับรองจากรัฐสภา อีกทั้งนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่ประกาศเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ (ปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบไปแล้ว และนายกฯก็มีสถานะเพียงนายกฯรักษาการ)
ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ที่กล่าวมา ทำให้หลายคนเชื่อว่าโต๊ะพูดคุยที่ริเริ่มอย่างเปิดเผยเป็นทางการเมื่อ 28 ก.พ.2556 นั้น เสมือนหนึ่ง "ล้มไปแล้ว" แต่สิ่งที่สมควรให้ความสนใจมากกว่าก็คือ จะมีการพูดคุยใน "ช่องทาง" (Track) อื่นอีกหรือไม่
ความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา คือ บทบาทของกองทัพผ่าน พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ประสานงานชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน กองทัพบก ในฐานะเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 12 (ตท.12) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งมีประสบการณ์การพูดคุยเจรจาทั้งกับกลุ่มพูโล และโจรจีนคอมมิวนิสต์ (จคม.) โดยเฉพาะกลุ่มหลัง ได้ช่วยมาเลเซียเจรจาจนกระทั่ง จคม.ยอมวางปืน
พล.อ.อกนิษฐ์ ออกสื่อบ่อยครั้งในช่วงหลัง (ก่อนยุบสภา) แต่ละครั้งก็ย้ำถามหาความจริงใจของมาเลเซียในการช่วยไทยแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ ท่าทีของ พล.อ.อกนิษฐ์ ถูกจับตาจากหลายฝ่ายว่าเป็นการแสดงบทบาทแทน ผบ.ทบ.ที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการพูดคุยแบบเปิดของรัฐบาล ที่เสมือนเป็นการยกระดับบีอาร์เอ็นขึ้นมาเป็นคู่เจรจากับไทยในสถานะเท่าเทียมกันหรือเปล่า
ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พ.ย.2556 จู่ๆ ก็มีความเคลื่อนไหวที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับผู้ติดตามปัญหาภาคใต้ คือ การปรากฏกายของ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานเบอร์ซาตู ขึ้นเวทีปาฐกถา "10 ปีปัญหาภาคใต้" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีหน่วยข่าวทั้งไทย เทศ และผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาภาคใต้ในมิติต่างๆ ไปรอรับฟังกันแน่นห้องประชุม
เพราะสถานะของ ดร.วันกาเดร์ คือผู้ที่เคยพยายามรวบรวมขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น บีอาร์เอ็น พูโล บีไอพีพี และจีเอ็มไอพี ให้มาอยู่ใต้ร่มเดียวกัน คือ "เบอร์ซาตู" เพื่อความเป็นเอกภาพและเพิ่มอำนาจต่อรองกับรัฐบาลไทย แม้แนวทางของ ดร.วันกาเดร์ จะไม่ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นบุคคลที่อยู่ใน "ยุทธจักร" คนหนึ่ง
ทัศนะของ ดร.วันกาเดร์ ที่ได้แสดงปาฐกถาและให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทยบางสำนัก รวมทั้งศูนย์ข่าวอิศรา คือ คู่เจรจาบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการอยู่นั้น ยังไม่ใช่ตัวจริง หากแต่ตัวจริงอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ จึงไม่ควรไปให้น้ำหนักกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว (บีอาร์เอ็น) ในการพูดคุย
ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ยังปรากฏภาพ ดร.วันกาเดร์ เข้าพบ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ถึงที่ทำเนียบรัฐบาล และยังมีการระบุจากผู้รับผิดชอบว่า หลังจากนี้ ดร.วันกาเดร์ จะมาร่วมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางพูดคุยเจรจากับผู้เห็นต่างจากรัฐ หรือกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
และล่าสุดในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ ดร.วันกาเดร์ จะไปขึ้นเวทีพูดถึงปัญหาภาคใต้ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี งานนี้จัดโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ทั้งๆ ที่ ดร.วันกาเดร์ แสดงท่าทีคัดค้านการพูดคุยในช่องทางของรัฐบาล ระหว่าง สมช.กับบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซันอย่างชัดเจน
นี่คือสาเหตุที่นำมาสู่ข้อสังเกตที่ว่า "กองทัพ" หรือ "ทหาร" กำลังรุกคืบเข้ามาเพื่อ "เทคโอเวอร์" กระบวนการพูดคุยเจรจาดับไฟใต้หรือไม่ และหากใครได้ฟังทัศนะของ ดร.วันกาเดร์ แบบเต็มๆ ที่สมาคมนักข่าวฯ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ก็จะพอมองเห็นทิศทางของการพูดคุยเจรจาในช่องทางใหม่
"ศูนย์ข่าวอิศรา" นำคำปาฐกถาฉบับเต็มมานำเสนอดังนี้...
ดับไฟใต้ไม่ต้องขอใครช่วย
ดร.วันกาเดร์ เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่าทำไมคนไทยจึงไม่แก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่คนไทยฉลาด ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใครในยุคล่าอาณานิคม
"ต้องคิดว่าคนไทยสามารถแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องมองไกล ปัญหาใต้ 10 ปีแก้ยังไม่ได้เพราะอะไร เพราะเราไม่ค่อยใช้ความรู้ความสามารถของเรามาแก้ เราไปมองไกล เอาคนอื่นมาช่วยแก้ นี่คือจุดด้อยจุดหนึ่ง เราให้คนอื่นมาช่วยแก้ปัญหาของเราก่อนที่เราจะพยายามอย่างที่สุด ถ้าคนอื่นมาช่วยแก้ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้านับจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีการแก้ปัญหามาตั้งแต่ตอนนั้น ทำไมจนถึงขณะนี้กว่าครึ่งศตวรรษแล้วยังแก้ไม่ได้ อะไรคือจุดด้อย"
"ที่พูดว่าจะแยกดินแดน สำหรับผมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แล้วในสมัยนี้ ยุคสมัยของการแยกดินแดนได้ผ่านไปแล้ว สมัยที่ประเทศหรือชุมชนในละแวกนี้พากันแยกเป็นอิสระ เราไม่ได้แยก แต่สมัยที่คนอื่นเลิกแยก เรากลับจะแยก มันผิดสมัย ฉะนั้นเราควรเริ่มที่จะอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธี โดยสันติสุข ปัญหาสามจังหวัดควรแก้โดยสันติวิธี"
"วิธีแก้ปัญหาในสมัยใหม่ วิธีแก้ที่ถูกต้องที่ชุมชนในพื้นที่ยอมรับ คือ ไม่ใช้วิธีแบบปราบปราม หากใช้วิธีปราบปรามหรือใช้กำลัง ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จะไม่ยอมรับ ชุมชนนอกพื้นที่และทั่วโลกก็ไม่ยอมรับ ถ้าส่งทหารไปแล้วใช้กำลัง ผมว่าผิดแน่นอน แก้ปัญหาโดยปราบปราม ผิดแน่นอน ไม่ต้องสงสัย มันแก้ไม่ได้ ยิ่งแก้ด้วยกำลังจะยิ่งสร้างปัญหาขึ้นมา"
เจรจาจะได้ผล-เทคนิคต้องถูกด้วย
ดร.วันกาเดร์ กล่าวต่อว่า การพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างเป็นเรื่องดี และอาจส่งผลในทางบวก แต่บางครั้งการพูดคุยเจรจาอาจส่งผลในทางลบก็ได้ถ้าทำไม่ถูกหลัก ไม่ถูกต้อง เพราะเรื่องแบบนี้ถ้าทำผิดวิธีจะเกิดผลทางลบทันที
"ตอนเจรจาที่พูดกันที่เคแอล (เมื่อช่วงต้นปี 2555 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯเชิญแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่อยู่ในมาเลเซีย 16 คนไปประชุม ณ สถานที่แห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีทางการมาเลเซียอำนวยความสะดวก) ผมก็อยู่ด้วย และมีผลลบ เพราะเราทำไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องทางเทคนิค การนัดพูดคุยครั้งนั้นต้องบอกว่ามีความตั้งใจดี แต่เทคนิคไม่ถูกต้อง จึงกลายเป็นผลลบ โดยเฉพาะระหว่างคนที่ไม่รู้จักกัน"
"ที่คุยกันที่เคแอล เราไปกัน 16 คน ผมเป็นหนึ่งในนั้นที่ไปฟังท่านทักษิณพูด ซึ่งท่านก็พูดอย่างดีสำหรับผมที่รู้ภาษาไทย แต่คนที่ไปฟัง ครึ่งหนึ่งไม่รู้ภาษาไทย อย่าไปคิดว่าคนจากสามจังหวัดทุกคนรู้ภาษาไทย...มันไม่ใช่ ในวันนั้นมีการนำคนแปลมา แต่คนแปลก็แปลผิดๆ ผมจึงอยู่เฉยไม่ได้ ต้องไปที่โต๊ะคนแปล บอกเขาว่าทักษิณไม่ได้พูดแบบนี้ ถามว่าเรียนจบชั้นไหน เขาบอกจบ ป.4 ในวัดที่กลันตัน (รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย) นี่คือความผิดพลาด อดีตนายกฯพูด เอา ป.4 มาแปล"
ต้นตอคาร์บอมบ์หาดใหญ่-ยะลา
ดร.วันกาเดร์ ชี้ว่า ความผิดพลาดทางเทคนิคจากความตั้งใจดีในครั้งนั้น ส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวง
"เราไปกัน 16 คน แต่เรียกไปเจอท่านทักษิณ 8 คน อย่างผมนั่งเก้อ ไม่ได้ไป แล้วจะเชิญผมไปทำไม คนที่ไม่ได้ไปพบท่านทักษิณเขากระซิบผมทันที มึงคอยดู...กูจะสอนมัน นี่คือเรื่องจริง แล้วเขาก็สอนจริง ระเบิดที่โรงแรมในหาดใหญ่ และยะลา (วันที่ 31 มี.ค.2555 เกิดคาร์บอมบ์ที่โรงแรมลีการ์เด้นส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ อ.เมือง จ.ยะลา) นี่เขาสอน ที่สำคัญ 8 คนที่ไปเจอเป็นคนไม่มีบทบาท ส่วนอีก 8 คนที่มีบทบาทกลับไม่ได้เจอ ปริญญาเอก ปริญญาโท ไม่ได้ไป นั่งเฉย"
"การเรียกไปคุยนั้นถูก แต่เทคนิคไม่ถูก ก็พังเหมือนกัน ตั้งใจทำดี เทคนิคไม่ถูกต้อง จะเกิดผลด้านลบ สำหรับคนที่ไปนั้นผมรู้หมดว่าใครมีบทบาท เพราะผมเป็นประธานเบอร์ซาตูมาก่อน"
ดร.วันกาเดร์ ยังเล่ารายละเอียดเสริมว่า ห้องที่ให้ไปพบกับอดีตนายกฯทักษิณ เป็นห้องขนาดใหญ่ โดยมีกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐนั่งรวมกันอยู่ด้านหนึ่ง จากนั้นก็มีคนมาเรียกแต่ละคนให้ไปพบกับอดีตนายกฯซึ่งนั่งอยู่อีกด้านหนึ่งของห้อง ปรากฏว่าคนที่ได้รับเชิญให้พบปะกับอดีตนายกฯโดยตรงมีเพียง 8 คนจาก 16 คน นอกจากนั้นแต่ละคนยังถูกพาตัวไปกักไว้ล่วงหน้าถึง 2 วัน
"เราไปโดนขัง 2 วันก่อนทักษิณมา กินข้าวกับปลาแห้ง เพื่อนบอกว่าเราเหมือนคนในคุก คนในคุกกินข้าวดีกว่านี้ ทราบว่าฝ่ายไทยให้งบในการเรียกพวกเรามาคุยเยอะพอสมควร ไม่ควรซื้อปลาแห้งตัวเดียวให้เรากิน จะให้เราไม่เจ็บใจได้อย่างไร"
ผิดซ้ำสองคุยบีอาร์เอ็นกลุ่มเดียว
ดร.วันกาเดร์ บอกว่า ตัวอย่างที่ยกมากรณีอดีตนายกฯทักษิณ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการพูดคุยสันติภาพล่าสุดที่ทางการมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก (คุยกับกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ) ก็มีปัญหาทางเทคนิคเช่นกัน
"ไปเอากลุ่มเดียวมากคุย ถ้าคุยลับๆ ไม่เป็นไร นี่คุยโจ่งแจ้ง เอาทีวีมาโชว์ กลุ่มอื่นที่เคลื่อนไหวอยู่ด้วยเขาจะคิดอย่างไร พวกนี้เขาคิดสั้นๆ ไม่เหมือนพวกท่าน โกรธเมื่อไหร่เราเล่นทันที ฉะนั้นเทคนิคเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่ไปพูดไปคุยแล้วจะผลทางบวกเสมอไป"
"ที่คุยอยู่ก็ผิดตัว เพราะคนที่ก่อเหตุอยู่ในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในองค์กร เขาอยู่เหมือนคนอื่นๆ ส่วนคนในองค์กรเขาไม่ได้มีบทบาท คนที่มีบทบาท ปาระเบิดมันคนอื่น มันกลุ่มอื่น ที่เผาโรงเรียนหลายปีก่อนต้องเอาไว้ก่อน วันนี้ต้องเอาพวกปาะระเบิดมาคุยก่อน แต่กลับไปเอาคนที่ก่อเมื่อ 5-10 ปีก่อนมาคุย ก็สร้างปัญหา"
กลุ่มที่ 9 ไม่มีชื่อ
ดร.วันกาเดร์ ขยายความถึงกลุ่มที่เคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงอยู่ในปัจจุบันว่า เป็นองค์กรใต้ดิน เรียกคนเหล่านี้ว่าพวก "จูแว" ภาษาปัตตานีว่า "ออแกจูแว" คือ "นักสู้"
"เพราะฉะนั้นพวกนี้สู้ ถ้าเราทำผิดพลาด ไม่ถูกใจ เขาสู้ เขาอ้างพระเจ้า เขาสู้ เขาตายก็ได้ขึ้นสวรรค์ ฉะนั้นถ้าทำไม่ถูกใจเขาทำทันที เพราะสวรรค์รออยู่ ส่วนใหญ่เขาทำเพราะความแค้น"
"กลุ่มเหล่านี้เมื่อก่อนตอนตั้งองค์กรก็มีอุดมการณ์ แต่เดี๋ยวนี้เขาคุมลูกน้องไม่ได้ กลุ่มที่แตกออกจากองค์กร แตกมาแล้วรวมกันอีกกลุ่มหนึ่ง แล้วก็ทำ (ก่อเหตุรุนแรง) ตามที่ผมเข้าใจมีทั้งหมด 9 กลุ่ม (หมายถึงกลุ่มที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนต่างๆ เช่น พูโล บีอาร์เอ็น) ส่วนกลุ่มที่ 9 คือกลุ่มที่แตกออกมาจากกลุ่มต่างๆ มารวมตัวเป็นกลุ่มที่ 9"
"กลุ่มที่ว่านี้แสดงมาก คือ 1.กูก็ทำได้ 2.ไม่บอกชื่อ ไม่มีชื่อ ตั้งชื่อไม่ได้ ตั้งชื่อพูโลไม่ได้ อาจจะมีชื่อในอนาคตหรือไม่ก็ไม่ทราบ อุดมการณ์ก็มี แต่ไม่ค่อยทำ ไปนั่งห้องแอร์ เหมือนกลุ่มอื่นๆ เมื่อมีฐานะ มีชื่อเสียง เขาก็อยู่ในห้องแอร์ ไม่ค่อยทำอะไร คนที่ยังไม่มีฐานะเป็นผู้กระทำ และต้องเข้าใจว่าองค์กรต่างๆ ไม่สามารถคุมสมาชิกของเขาได้อย่างเต็มที่"
"อย่างผมเป็นประธานเบอร์ซาตูก็คุมไม่ได้ ไม่มีหรอกครับ ประธานบีไอพีพีก็เป็น เวลาคนมาระเบิดที่สามจังหวัด ผมไม่รู้เรื่อง นี่เรื่องจริง เพราะคนทำไม่เชื่อเรา เขาคิดว่าเรามีผลประโยชน์ เขาคิดว่าเรามีผลประโยชน์ซ่อนเร้น"
"คนสั่ง" ไม่ใช่ "ตัวเปิด"
ดร.วันกาเดร์ แนะว่า หากจะเข้าใจและแก้ปัญหาพวกอยู่ใต้ดิน ต้องใช้วิธีคิดแบบใต้ดิน หากใช้วิธีคิดแบบบนดินไปแก้ ก็จะแก้ไม่ได้
"คนที่อยู่บนดิน ยากที่จะเข้าใจเรื่องใต้ดิน เพราะคิดไม่เหมือนกัน อย่าไปคิดว่าคนใต้ดินคิดเหมือนคนบนดิน เดี๋ยวนี้จะไปชี้ว่าใครเป็นตัวจริง...หาไม่ได้ เพราะเราอยู่บนดิน ถ้าไปออแกไนซ์ (บริหารจัดการ) องค์กรใดก็ตาม พอไปถามแล้วบอกใครประธาน เขาตอบวันกาเดร์ ถ้าตอบอย่างนี้แสดงว่าผมไม่ใช่ คนออกคำสั่งเป็นอีกคน ไม่ใช่ผม คนที่สั่งไม่มีชื่อ ไม่มีใครรู้จัก ส่วนผมถูกจับก็ไม่เป็นไร"
"คนสั่งจริงๆ ผมยังไม่เห็นคนนอกรู้ หนังสือพิมพ์ลงก็ไม่เคยเห็น ไม่ว่าจะเป็นบีอาร์เอ็น พูโล เบอร์ซาตู หรืออะไรก็ช่าง คนออกคำสั่งไม่มีชื่อ ถ้ามีก็จบ"
เขายังย้ำว่า กลุ่มที่ขับเคลื่อนก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ขณะนี้ เป็นคนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่มีชื่อ
"คนที่ทำเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่มีชื่อ เขารู้เฉพาะพวกเขา สมมติระเบิดหาดใหญ่ ที่พูดถึงบ่อยเพราะเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อก่อนเผาโรงเรียนเท่านั้น สมัยนี้ระเบิดโรงแรม พวกนี้เป็นกลุ่มของตัวเอง ไม่ได้รับคำสั่งจากใคร เขาทำของเขาเอง"
5 จุดแข็ง - 5 จุดอ่อน
ดร.วันกาเดร์ ยังวิเคราะห์ถึงวิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยในวาระ 10 ปีไฟใต้ว่า เดินถูกทางมากขึ้น ด้วยเหตุผล คือ 1.คนไปแก้ปัญหามีความรู้ความสามารถพอสมควร 2.มีประสบการณ์ 3.มีอำนาจเต็ม ชี้ปลาเป็นปลา ชี้นกเป็นนก 4.มีงบประมาณพอสมควรที่จะแก้ปัญหาได้ และ 5.มีเวลาเพียงพอ
"นี่เป็นเรื่องบวก มาถูกทางแล้ว แต่คำถามคือทำไมยังแก้ไม่ได้ นี่ปัญหาใหญ่ จุดอ่อนของเรา คือ 1.เรายังใช้วิธีปราบปรามเป็นหลัก ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ 2.ต้องแก้โดยสันติวิธี คือมานั่งพูดคุยหาทางออกโดยไม่ต้องใช้ระเบิด ใช้ปืน ใช้ความรู้ความสามารถที่เรียนจบมามาแก้ ไม่ใช่มาจากเอ็ม 14 หรือ เอ็ม16 ที่ซื้อจากประเทศอื่น ใช้ความรู้ ไม่ใช่ใช้ปืน
3.การแก้ปัญหาใต้ต้องแก้ร่วมกัน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐแก้ฝ่ายเดียว ถึงแก้ได้แต่ก็ไม่จบ ต้องแก้ร่วมกัน 2 เสาหลัก คือเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐที่เห็นดีด้วยกับการแก้ปัญหาสันติวิธี เพราะผู้เห็นต่างมี 2 กลุ่ม คือเห็นด้วยกับสันติวิธี กับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย เราต้องคุยกับกลุ่มที่เห็นด้วยก่อน ให้มาร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ
4.ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้เป็นปัญหาภายในของเรา ฝ่ายรัฐบาลก็พูดบ่อย รัฐบาลพูดบ่อย วิธีแก้ต้องแก้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่เวลาพูดเราพูดว่าเป็นปัญหาภายในของเรา แต่เวลาแก้ต้องข้ามพรมแดนให้คนอื่นมาช่วยแก้ มันผิดหลัก ตรรกะก็ชัด ปัญหาภายในของเรา ต้องข้ามพรมแดนให้คนอื่นแก้หรือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไม่ต้อง นอกจากเราจะให้มีพยาน เวลาแก้เสร็จแล้ว ต้องมี agreement ก็มีพยานได้ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นต้องแก้เอง ใช้สถานที่พูดคุยที่สุราษฎร์ธานี บ้านของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ได้ เชียงใหม่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อจังหวัดที่ไม่ใช่ภาษาไทย
บางคนบอกลำบากเอาคนนอกประเทศเข้ามาพูดคุยในประเทศ แต่ผมว่ายากอย่างไรก็ควรเปลี่ยนวิธี เพราะเราข้ามพรมแดนไปแก้ที่อื่นมา 20 กว่าปีแล้วยังไม่จบ ฉะนั้นมาแก้ที่สุราษฎร์ธานีดีกว่า
5.เราต้องมีองค์กรหนึ่งที่สามารถชี้แนะได้อย่างแม่นยำว่ากลุ่มใด องค์กรใดที่กำลังมีบทบาทในการสร้างปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดของเรา ต้องมีองค์กรที่เป็นนักสืบที่สามารถชี้ได้ว่านี่เป็นตัวจริง อย่าไปพูดกับคนอื่น ต้องเอาคนนี้มาพูด ไม่อย่างนั้นเสียเวลาเปล่า เสียเวลาไม่เป็นไร แต่เป็นเรื่องทางลบ คนอื่นจะหัวเราะเยาะเรา"
ดึงพวกใต้ดินช่วยคุย
ดร.วันกาเดร์ ย้ำว่า ปัญหาที่เกิดเป็นเรื่องใต้ดิน เพราะฉะนั้นต้องใช้คนใต้ดินมาช่วยชี้ว่าคนนี้เป็นตัวจริงหรือไม่ คนใต้ดินที่มีความคิดว่าเราควรแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี คนที่คิดแก้ปัญหาแบบใช้ปืนไม่ต้องเอามาช่วย แม้วิธีนี้จะยาก แต่ก็ต้องพยายาม
"ผมอยากเห็นสามจังหวัดใต้อยู่อย่างสงบสุข ราบรื่นเหมือนจังหวัดอื่นๆ ในราชอาณาจักรไทย"
ส่วนวิธีการนำพวกจูแวมาช่วยนั้น ดร.วันกาเดร์ บอกว่า "เราต้องใช้จูแวด้วยกันไปชักจูงเขา จูแวที่เห็นพ้องกับสันติวิธี หากคนพวกนี้ไปพูดกับเขา สถานการณ์จะดีขึ้น การแก้ปัญหาแบบใช้กำลังมีแต่แพ้กับแพ้ แต่แก้ปัญหาแบบสันติวิธี มีแต่ชนะกับชนะ ถ้าใช้กำลังมีแต่แพ้ และพวกที่แพ้ที่สุดคือจูแว เพราะอาวุธน้อยกว่า"
"ผมเคยถามว่าเอาอาวุธมาจากไหน เขาบอกขโมยมา ขโมยจากทหารมาทำทหาร ผมคิดในใจว่าแล้วอย่างนี้จะชนะได้อย่างไร เพราะถ้าใช้อาวุธแล้วจะชนะ ต้องอาวุธเยอะกว่า แต่คนมลายูมี 3 ล้าน คนไทย 66 ล้าน มันสู้อย่างไรก็ไม่ไหว ฉะนั้นทางแก้ปัญหาที่ถูกคือคุยกัน เวลาคุยไม่ต้องเอาอาวุธมา ไม่ใช่จะคุยแล้วเอาอาวุธไปพิงกับฝา"
"จูแวคือกลุ่มที่ไม่ฟังองค์กรทั้งหลาย ต้องเอาคนใกล้ชิดไปคุย รวมทั้งพวกนักการศาสนา บางคนบอกว่าพวกนี้อยู่ในป่าลึก ลึกเกินกว่าจะสัมผัสได้ แต่พวกนี้คือพวกที่ก่อเหตุจริงๆ ต้องไปสะกิดคนที่กำลังก่อเหตุมาคุย อย่างผม...คุยอีก 30 เดือนก็ไม่จบ เพราะผมไม่เกี่ยว ไม่ได้สั่ง แต่มาถามผมได้ว่าใคร กลุ่มไหน แต่ท่านต้องไปเอง มาถามผมก่อนได้ บอกลับๆ นะ บอกเปิดเผยเดี๋ยวโดนขู่"
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดร.วันกาเดร์ ขณะเข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ที่ทำเนียบรัฐบาล