ปฏิรูป "ประชาธิปัตย์” ...มีอะไรเปลี่ยนแปลง?
"ประชาธิปัตย์" เริ่มต้นกระบวนการปฏิรูป ด้วยการ "ปรับโครงสร้างพรรค" ครั้งใหญ่ น่าสนใจว่า การดำเินินการดังกล่าว จะนำ "ความเปลี่ยนแปลง" ใด มาสู่พรรคอนุรักษ์นิยมเก่าแก่พรรคนี้บ้าง ?
ควันหลงการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2556 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ หลักสี่ กทม.
นอกจากประเด็นเรื่องการเลือกตั้งกรรมการบริหาร ปชป.ชุดใหม่ จำนวน 35 คน ที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ได้กลับมาเป็นหัวหน้า ปชป.เป็นสมัยที่สี่ รวมถึงกรณีที่ “อลงกรณ์ พลบุตร” ผู้จุดประเด็นแนวคิดเรื่องการปฏิรูปพรรค หลุดจากตำแหน่งรองหัวหน้าปชป.ภาคกลาง หลังแพ้คะแนนขาดลอยให้กับ “สาธิต ปิตุเตชะ”
อีกประเด็นที่น่าสนใจ แต่กลับได้รับการพูดถึงน้อยกว่าที่ควร คือการแก้ไขข้อบังคับพรรคของ ปชป.เพื่อเริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปพรรค ด้วยการ “ปรับโครงสร้างพรรค”
ทั้งๆ ที่ การประชุมใหญ่วิสามัญของปชป.ครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากประเด็นปฏิรูปพรรค ที่เริ่มด้วยการปรับโครงสร้างพรรค...ก่อนจะมีการเลือกคณะกรรมการบริหาร ปชป.ชุดใหม่...และอลงกรณ์หลุดจากตำแหน่งหัวหน้าปชป.ภาคกลาง ตามลำดับ
@ ที่มาแนวคิดปฏิรูปปชป.-ข้อเสนอทีมอัศวิน
ขอเท้าความว่า การปรับโครงสร้างปชป. เกิดขึ้นภายหลังอลงกรณ์ ออกมาจุดประเด็นเรื่องการ “ปฏิรูปปชป.” ผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว @alongkornpb เมื่อวันที่ 13 เม.ย.2556 หลังวันเกิดครบรอบ 67 ปีของ ปชป.เพียง 7 วัน มีใจความโดยสรุปว่า หลังจากแพ้เลือกตั้งต่อเนื่อง 21 ปี ปชป.จำเป็นต้องปฏิรูปพรคอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ใน 3 ด้าน ทั้ง (1) ปฏิรูปโครงสร้าง (2) ปฏิรูปการบริหารจัดการ และ (3) ปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรและบุคลากร
“แม้ว่าหลายคนในพรรคจะปักใจว่า ปี 2544 พรรคแพ้เพราะเงิน แต่หลายคนรวมทั้งผมคิดว่า เราแพ้เพราะคิดไม่ทัน ปรับตัวไม่ทัน”อลงกรณ์ระบุ
ภายหลังอลงกรณ์ออกมาเสนอแนวคิดดังกล่าว กระแสเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปปชป.” ก็ติดกระแสลมบน กระทั่งต้องมีการตั้ง “อัศวิน วิภูศิริ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. คนสนิท พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตเลขาธิการปชป.ผู้ล่วงลับ ขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปพรรค มาสรุปแนวคิดเรื่องการ “ปฏิรูปปชป.” กระทั่งได้ข้อสรุปจำนวน 18 หน้ากระดาษ และเสนอต่อให้คณะกรรมการบริหาร ปชป.พิจารณา
ข้อเสนอปฏิรูปปชป.ของ “ทีมอัศวิน” ประกอบด้วย
- เปลี่ยนชื่อสภาที่ปรึกษาพรรค เป็น “คณะกรรมการพรรค”
ซึ่งสมาชิกนอกจากหัวหน้าพรรค อดีตหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค อดีตเลขาธิการพรรค และ ส.ส.ของพรรค (10 คน) ยังเปิดโอกาสให้ “คนนอก” เข้ามามีส่วนร่วม ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ (12 คน) และภาคประชาสังคม (3 คน) และเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้สามารถ “ติดตาม-ตรวจสอบ-ประเมินผล” การดำเนินการใดๆ ของพรรคได้ จากเดิมที่มีหน้าที่เพียงให้ “คำแนะนำ-คำปรึกษา” เท่านั้น
- เพิ่ม “คณะกรรมการเขตพื้นที่” ขึ้นมาทำงานการเมืองในพื้นที่ต่างๆ ที่จะมีการแบ่งเป็นโซนๆ ออกไป
- ลดจำนวน “คณะกรรมการบริหารพรรค” จากเดิม 19 คน ให้เหลือ 15 คน ยุบเลิกรองหัวหน้าปชป.ดูแลภาคต่างๆ ทั้ง 5 ภาค แต่เพิ่มรองหัวหน้าปชป.ส่วนกลาง จาก 3 คน เป็น 5 คน พร้อมกำหนดภารกิจให้แต่ละคน เช่น ต่างประเทศ ภายใน สภา พื้นที่ และพิธีการ จากเดิมที่ตั้งมาลอยๆ ไม่กำหนดภารกิจ
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการบริหารปชป.เพื่อพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2556 กลับมีมติสวนทางกับข้อเสนอของ “ทีมอัศวิน” โดยเฉพาะที่ให้ลดจำนวนคณะกรรมการบริหาร เหลือ 15 คน แต่ปรากฏว่ามีการเพิ่มเป็น 25 คน โดยเพิ่มโควต้ารองหัวหน้าปชป.ส่วนกลาง จาก 3 คน เป็น 5 คน และไม่ตัดโควต้ารองหัวหน้าปชป.ภาค ทั้ง 5 คนออก
นอกจากนี้ ยังไม่ให้มี “คณะกรรมการพรรค” เนื่องจากเกรงจะทำงานซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการชุดอื่นๆ ภายในพรรค
มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารปชป.ครั้งนั้นถูกหลายฝ่าย มองว่า “อภิสิทธิ์” ต้องการเพิ่มอำนาจตัวเอง เนื่องจากรองหัวหน้าปชป.ส่วนกลาง ทั้ง 5 คน (จากเดิม 3 คน) ผู้ที่จะเสนอชื่อได้คือหัวหน้าปชป.เพียงคนเดียว
ทว่า ในเวลาต่อมา ก็มีการประชุมคณะกรรมการบริหารปชป.เพื่อพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวอีกครั้ง ในวันที่ 15 ธ.ค.2556 และมีการนำข้อสรุปของ “ทีมอภิสิทธิ์” เข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่วิสามัญของปชป. วันที่ 17 ธ.ค.2556
@ ปรับโครงสร้างของจริง-เริ่มต้นยุคอภิสิทธิ์4
การ “ปรับโครงสร้างพรรค” ของปชป.ด้วยการแก้ไขข้อบังคับพรรค ตามข้อสรุปของ “ทีมอภิสิทธิ์” ที่สำคัญ มีดังนี้
- เพิ่มจำนวน “คณะกรรมการบริหารพรรค” จากเดิม 19 คน เป็น 35 คน โดยเพิ่มสัดส่วนกรรมการบริหาร ที่มาจากประธานสาขาภาค (5 คน) และสมาชิกสภา/ผู้บริหารท้องถิ่น (3 คน) จากเดิมไม่เคยมีสัดส่วนนี้มาก่อน
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารพรรคของ ปชป.ยุคใหม่ จำนวน 35 คน จะประกอบด้วย หัวหน้าพรรค,รองหัวหน้าพรรคส่วนกลาง (5 คน) ,รองหัวหน้าพรรคภาค (5 คน),เลขาธิการพรรค ,รองเลขาธิการพรรค (5 คน) ,โฆษกพรรค ,นายทะเบียนพรรค ,เหรัญญิกพรรค และกรรมการบริหารพรรค (15 คน จากประธานสาขาภาค 5 คน สมาชิกสภา/ผู้บริหารท้องถิ่น 3 คน และที่ประชุมใหญ่เสนอ อีก 7 คน)
- ตั้ง “คณะกรรมการกลาง” ขึ้นมาแทนสภาที่ปรึกษา
โดยสมาชิกประกอบด้วยอดีตหัวหน้าพรรคหรืออดีตเลขาธิการพรรคที่ยังเป็นสมาชิกปชป.อยู่ และผู้ทรงคุณวุฒิ (15 คน) กับตัวแทนภาคประชาสังคม (3 คน) ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกปชป. มีหน้าที่หลักคือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารงานพรรค
- ตั้ง “คณะกรรมการปฏิบัติการเขตพื้นที่”
โดยให้คณะกรรมการบริหารพรรคประกาศเขตพื้นที่ หรือ “โซน” สำหรับดำเนินการทางการเมืองใดๆ จากนั้นจะมีการตั้ง “ประธานเขตพื้นที่” ขึ้นมารับผิดชอบโซนนั้นๆ หน้าที่สำคัญของคณะกรรมการปฏิบัติการเขตพื้นที่ นอกจากทำงานการเมืองร่วมกับ ส.ส.หรือสมาชิกสภา/ผู้บริหารท้องถิ่น ยังรวมถึงการสรรหาผู้สมัครลงเลือกตั้งในโซนนั้นๆ ทุกระดับ
- ตั้ง “คณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” มีจำนวน 15 คน
มีสมาชิกประกอบด้วยหัวหน้าพรรค ,เลขาธิการพรรค ,ตัวแทนคณะกรรมการบริหารพรรค (4 คน) ,ตัวแทนคณะกรรมการลาง (5 คน)และตัวแทนประธานเขตพื้นที่ (4 คน) มีหน้าที่ในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากเดิมที่อำนาจนี้ผูกขาดไว้กับคณะกรรมการบริหารงานพรรคเท่านั้น
นอกจากนี้ก็มีการปรับโครงสร้างพรรคอื่นๆ ในรายละเอียดปลีกย่อย เช่น เพิ่มวาระดำรงตำแหน่งสาขาพรรค จากเดิม 2 ปี เป็น 4 ปี เป็นต้น
.....
“อภิสิทธิ์” กล่าวว่า ระหว่างที่รอนายทะเบียนพรรคการเมืองตอบรับการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคของปชป. ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาราว 2-3 สัปดาห์ จะให้คณะกรรมการบริหาร “ชุดเก่า-ชุดใหม่” ทำงานคู่ขนานกันไปก่อน
โดยโจทย์แรกที่คณะกรรมการบริหารปชป.ยุค “ปรับโครงสร้างพรรค” จะต้องเผชิญ คือการตัดสินใจว่าจะลงเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 2 ก.พ.2557 นี้หรือไม่ ซึ่ง “อภิสิทธิ์” ก็ระบุว่า จะให้สาขาพรรคทั่วประเทศไปรับฟังความเห็นก่อนส่งมาให้ส่วนกลางเพื่อประกอบการพิจารณา โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารปชป.เพื่อตัดสินใจถึงโจทย์ยากดังกล่าว ในวันที่ 21 ธ.ค.นี้
น่าสนใจว่าการปฏิรูปปชป.ที่เริ่มต้นด้วยการ “ปรับโครงสร้างพรรค” ครั้งนี้ จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อพรรคสีฟ้าอันเก่าแก่นี้ อย่างไรบ้าง !!!
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ www.siamintelligence.com