'สหภาพฯธกส.'โต้'ยรรยง' ยันเงินจำนำข้าวเหลือ 1.2หมื่นล.
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส. แถลงโต้ “ยรรยง พวงราช” ยืนยันเงินจำนำข้าวเหลือ 12,000 ล้านบาท พอจ่ายถึงปลายปีนี้เท่านั้น พร้อมดูแลเกษตรกรบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น...
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 56 นายประสิทธิ์ พาโฮม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (สร.ธ.ก.ส.) กล่าวกับ “ไทยรัฐออนไลน์” ว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว ฤดูกาลผลิตปี 2556/2557 ไปแล้ว 20,000 ล้านบาท โดยยืนยันว่า เงินงบประมาณสำหรับจ่ายค่าจำนำข้าวให้กับเกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าวตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ คงเหลืออยู่ เพียง 12,069.07 ล้านบาท หากไม่ได้รับเงินจากการระบายข้าว หรือ งบประมาณจากรัฐบาลมาเพิ่มเติม ซึ่งเพียงพอสำหรับจ่ายให้กับชาวนาที่นำข้าวเข้าโครงการรับจำนำข้าวถึงแค่สิ้นเดือน ธ.ค.นี้เท่านั้น
ส่วนเงินที่ นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ ออกมาชี้แจงในช่วงที่ผ่านมาว่า ยังมีเงินเพียงพอสำหรับจ่ายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าวนั้น เป็นเงินในอนาคตที่กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าจะได้จากการระบายข้าวที่คงค้างในสต๊อก โดยบางส่วนเป็นเงินที่ชำระคืน ธ.ก.ส. และเงินที่ค้างชำระ ธ.ก.ส.ในรอบปีก่อน ซึ่งไม่เกี่ยวกับเงินที่ต้องใช้ในการจำนำข้าวฤดูกาลผลิตปี 2556/2557 แต่อย่างใด และการที่ นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาระบุว่า ธ.ก.ส.เหลือเม็ดเงินในโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิตปี 2556/2557 อีก 60,000 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรเกิดความสับสน
ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. จ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิต 2554/2555 และ ปีฤดูกาลผลิต 2555/2556 ไปแล้ว 688,092.27 ล้านบาท โดยได้รับคืนเงินชำระหนี้และงบประมาณประจำปี 189,141.22 ล้านบาท แต่กรอบวงเงินรับจำนำข้าวตามมติ ครม. ไม่เกิน 500,000 ล้านบาท จึงเหลือกรอบวงเงินที่จะจ่ายใหม่ได้เพียง 1,048.94 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินที่ ธ.ก.ส.ได้ทำความตกลงขอเกลี่ยงบประมาณกับสำนักงบประมาณจำนวน 26,808.94 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 27,857.56 ล้านบาท เมื่อหักลบค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ภาระดอกเบี้ยเงินกู้ จึงเหลือเงินเพียง 12,069.07 ล้านบาท
“ธ.ก.ส. มีหน้าที่จ่ายเงินให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว แต่ไม่ได้มีหน้าที่ในการทวงเงินจากกระทรวงพาณิชย์ ที่ผ่านมาธนาคารพยายามดูแลโครงการรับจำนำข้าวไม่ให้เกินกรอบวงเงิน 500,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินจากรัฐบาลจำนวน 410,000 ล้านบาท และเงินทุนของ ธ.ก.ส. อีก 90,000 ล้านบาท โดยมีข้าวเข้าโครการทั้งสิน 16.5 ล้านตัน วเงิน 270,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้น ธ.ก.ส. จะต้องบริหารการจ่ายเงินโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/2557 ไม่ให้เกินกรอบวงเงินและติดตามตามการระบายข้าว เพื่อนำเงินมาจ่่ายให้การจำนำข้าวรอบใหม่ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม และเป็นการส่งสัญญาณจากกระทรวงการคลังให้กระทรวงพาณิชย์ระบบายข้าวที่มีอยู่ แทนการเสนอขอขยายกรอบวงเงิน หรือ จัดหาแหล่งเงินทุนที่จะใช้ดำเนินการเพิ่ม ซึ่งจะก่อให้เกิดเป็นประเด็นสาธารณะได้”นายประสิทธิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.พยายามดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เข้าร่วมโครงการ แต่ยังไม่ได้รับเงินค่าข้าว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น โดยนำเงินที่ยังเหลือมาจัดสรรให้กับชาวนา เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียน พร้อมแนะนำให้ชาวนาถือใบประทวนไว้เพื่อความมั่นใจ จนกว่าจะได้รับเงินจำนำข้าว
นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้สำรองเงินทุนจากสภาพคล่องไปแล้ว จำนวน 90,000 ล้านบาท และแม้ ธ.ก.ส.จะมีสภาพคล่องทางการเงินเหลืออยู่มาก แต่ก็ไม่สามารถนำเงินดังกล่าวมาจัดสรรใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวได้ เนื่องจากขัดต่อหลักปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หากการนำเงินมาใช้จ่ายโดยขาดมาตรการรองรับ จะสร้างปัญหาให้ ธ.ก.ส.ในภายหลัง ขณะเดียวกัน ยังต้องสำรองให้เกษตรกรที่ทำธุรกรรมการเงินกับธนาคารในรูปแบบอื่นด้วย
นอกจากนี้ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส. ยังกล่าวด้วยว่า การยุบสภาและ ครม.มีฐานะเป็นรัฐบาลรักษาการ จะส่งผลกระทบต่ออการอนุมัติงบประมาณ หรือขอจัดสรรวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ตนไม่แน่ใจในข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการในการหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อหาทางออกต่อไป
อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส. ยังเสนอให้รัฐบาลเร่งหาแหล่งเงินทุนมาใช้ในโครงการจำนำข้าวฤดูกาลผลิตปี 2556/2557 เพราะยังมีเกษตรกรที่ได้รับใบประทวน 5 ล้านตัน จำนวนเงิน 100,000 ล้านบาท ที่ยังไม่สามารถรับเงินจากโครงการได้
ส่วนระยะยาว เสนอให้ปรับรูปแบบโครงการด้วยการจ่ายเงินช่วยหลือ เช่นเดียวกับโครงการแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำ หรือ ใช้โครงการประกันรายได้แทนโครงการจำนำ และใช้มาตรการเสริมด้วยการจำกัดวงเงินขั้นสูงต่อราย ลดราคารับจำนำเหลือ 12,000 -13,000 บาทต่อตัน และเปิดโอกาสให้องค์กรและสถาบันของเกษตรกรมีส่วนร่วม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายยรรยงได้ชี้แจงต่อตัวแทนสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ถึงการจ่ายเงินจากโครงการรับจำนำข้าวให้กับเกษตรกร โดยยืนยันว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะจ่ายเงินให้กับชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว ซึ่ง ครม.อนุมัติวงเงินหมุนเวียนให้กับ ธ.ก.ส. เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิตปี 2556/2557 จำนวน 270,000 ล้านบาท พร้อมกล่าวตำหนิ ธ.ก.ส. ว่า ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติ ไม่ควรออกมาพูดให้ชาวนาเกิดความไม่สบายใจ ว่างบประมาณอาจไม่เพียงพอจ่ายให้กับเกษตรกร.
ขอขอบคุณข่าวจาก