วิเคราะห์ความเป็นไปได้ เลื่อนเลือกตั้ง!
วิเคราะห์ความเป็นไปได้ ของการ "เลื่อนเลือกตั้ง" หลังกำนันสุเทพ ประกาศไม่ยอมรับการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 เดินหน้าขวางเต็มสูบ
จากการที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ประกาศไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 ก.พ.2557 และแสดงเจตนาชัดที่จะขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง หรือถ้าขัดขวางไม่ได้ก็อาจจำเป็นต้องหาทางล้มการเลือกตั้งให้ได้
กระทั่งล่าสุดฝ่ายความมั่นคงเริ่มประเมินถึงเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะเกรงว่าจะเกิดสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง...
คำถามคือ นายสุเทพ จะทำได้อย่างไร ในเมื่อขณะนี้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งชัดเจนแล้ว อีกทั้งรัฐธรรมนูญก็กำหนดชัดเจนว่าการเลือกตั้งทั่วไปต้องมีขึ้นภายหลังจากยุบสภาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ซึ่งหากนับจากวันที่ 9 ธ.ค. วันสุดท้ายที่จะเลือกตั้งได้คือวันที่ 7 ก.พ. โดยวันที่ 2 ก.พ. คือวันอาทิตย์ (หยุดราชการ) สุดท้ายที่จะมีการเลือกตั้งได้
อย่างไรก็ดี กฎหมายไม่ได้ปิดทางสำหรับการเลื่อนเลือกตั้งเสียทีเดียว เพราะยังให้อำนาจกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลื่อนวันเลือกตั้งได้หากมี "เหตุจำเป็น" แต่ที่ผ่านมาเป็นเพียงการเลื่อนบางหน่วยหรือบางเขตจาก "เหตุสุดวิสัย" เท่านั้น แต่ยังไม่เคยมีการเลื่อนทั้งประเทศมาก่อน
กระนั้นก็ตาม บางฝ่ายมองว่ากฎหมายก็เป็นเพียงกฎหมาย หากต้องการจะเลื่อนวันเลือกตั้งจริงๆ ก็ต้องหาทางเปิดช่องเพื่อเลื่อนหรือกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ แต่คำถามคือ "ทำอย่างไร?"
ประการแรกคือ ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง วิธีที่น่าจะสวยงามที่สุด (หากไม่ต้องการเลือกตั้ง) คือคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ให้ลงสมัคร แต่ก็คงเป็นไปไม่ได้เพราะไม่ว่าจะอย่างไร พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลคงเดินหน้าสมัคร ดังนั้นจึงต้องทำให้สมัครไม่ได้
วิธีการก็ไม่ยากไม่ง่าย คือทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้เกิดการสมัครขึ้น...
ต้องเข้าใจก่อนว่าการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในปัจจุบันมี 2 ระบบ คือ ระบบบัญชีรายชื่อ และระบบแบ่งเขต โดยแบบแบ่งเขตจะสมัครในแต่ละจังหวัด และเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 28 ธ.ค.2556 ถึง 1 ม.ค.2557 ซึ่งการจะไปขัดขวางทุกจังหวัดย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเหนือการควบคุมของพรรคประชาธิปัตย์อย่างภาคเหนือหรือตะวันออกเฉียงเหนือ
ขณะที่การสมัครแบบบัญชีรายชื่อ จะสมัครที่สำนักงาน กกต.ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพียงแห่งเดียว ระหว่างวันที่ 23-27 ธ.ค. จะเกิดอะไรขึ้นหากม็อบนัดกันในคืนวันที่ 22 ธ.ค. แล้วเคลื่อนไปปิดสำนักงาน กกต.เพื่อไม่ให้เกิดการสมัครได้ เอาแค่ไม่ล้อมไว้ไม่ต้องบุกเข้าอาคารก็ไม่มีใครไปสมัครแล้ว และสถานที่สมัครใช่ว่าจะย้ายแบบปุบปับกะทันหันหรือทำแบบเป็นการลับได้
หากฝ่ายไม่เอาเลือกตั้งทำสำเร็จ กกต.ต้องมาพิจารณาว่าจะยืดหรือหดเวลาในกระบวนการส่วนที่เหลือตรงไหนได้บ้าง หรือท้ายที่สุดหากสมัครไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะต้องเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป
ส่วนถ้าผ่านพ้นขั้นตอนการสมัครไปได้ ก็ต้องดูว่าระหว่างนี้ถึงวันเลือกตั้งจะมีเหตุอะไรให้เกิดการเลือกตั้งไม่ได้อีกหรือไม่ เช่น เหตุจลาจล
ที่สำคัญคือในวันเลือกตั้งที่ นายสุเทพ เคยประกาศไว้แล้วว่าในหลายพื้นที่จะไม่มีการเลือกตั้งด้วยเหตุผลต่างๆ อาทิ การที่กรรมการประจำหน่วยไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ อาจจะมีการไม่ไปรับอุปกรณ์การเลือกตั้ง หรือที่หนักข้อและหวั่นกันมากคือการชุมนุมปิดหน่วยเลือกตั้งจนไม่สามารถเดินหน้าหย่อนบัตรลงคะแนนได้
จุดนี้แม้จะทำไม่ได้ทั้งประเทศ แต่หากทำได้เกิน 5% ของเขตเลือกตั้งทั้งประเทศ ย่อมหมายความว่าสภาจะยังเปิดไม่ได้ เนื่องจากตามที่รัฐธรรมนูญระบุว่าสภาจะเปิดประชุมนัดแรกได้ ต้องมี ส.ส.ที่ได้รับการรับรองเกิน 95%
การขัดขวางการเลือกตั้งแม้ในทางปฏิบัติจะทำได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าฝ่ายรัฐและรัฐบาลรักษาการเองย่อมมีอำนาจในการป้องกันเช่นกัน เพราะการเลือกตั้งถือเป็นความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญผู้ที่จะขัดขวางการเลือกตั้งก็ต้องยอมรับโทษตามกฎหมายที่ตามมา
แน่นอนว่าย่อมไม่ใช่โทษสถานเบา!
ขอขอบคุณข่าวจาก