เปิด2ปมเจรจาดับไฟใต้สะดุด ลุ้นรัฐบาลใหม่ปรับยุทธศาสตร์
การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นปีกของ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่ลงนามริเริ่มกระบวนการกันอย่างเปิดเผยเป็นทางการเมื่อ 28 ก.พ.2556 จนทำให้ทุกฝ่ายคาดหวังว่านี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยุติลง ทว่าผ่านมายังไม่ถึง 1 ปี กระบวนการนี้ส่อเค้าล่มเสียแล้ว
พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ประสานงานชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน กองทัพบก ซึ่งมีประสบการณ์ทำกระบวนการพูดคุยสันติภาพทั้งกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐชายแดนใต้ และขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์ กล่าวว่า การพูดคุยที่ดำเนินการโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซันยังไม่ล้ม แต่ต้องหยุดเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หยุดเพื่อดูว่าจะเดินต่อไปอย่างไร ถือว่าเป็นการหยุดชั่วคราว
"เมื่อเร็วๆ นี้ ทางการมาเลเซียก็เพิ่งเรียกแกนนำองค์การพูโล 3 กลุ่มมาคุย คือ กลุ่มซำซูดิน คาน กลุ่มกัสตูรี มาห์โกตา และ กลุ่มกาแม ยูโซะ แต่ตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้ใครเป็นผู้นำเพื่อเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทย เพราะทุกกลุ่มขอเป็นผู้นำ และให้ยกเลิกข้อตกลงที่บีอาร์เอ็นทำไว้กับรัฐบาลไทยด้วย"
พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวต่อว่า พูโลมีปัญหากันเองภายใน และยังมีปัญหากับบีอาร์เอ็นด้วย คือไม่ยอมรับเวทีของบีอาร์เอ็นที่คุยกับรัฐบาลไทยมาก่อน ฉะนั้นกระบวนการพูดคุยยังต้องเดินหน้าต่อไป แต่ต้องหาวิธีใหม่
แถลงการณ์ล้มโต๊ะแค่ "แทคติก"
ส่วนกรณีที่บีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์อ้างสภาปฏิวัติบีอาร์เอ็นไม่เห็นชอบให้ดำเนินกระบวนการพูดคุยต่อไปนั้น พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวว่า เป็นแทคติกของบีอาร์เอ็น เพราะปัญหาใหญ่จริงๆ คือ มีการแย่งชิงการนำกันระหว่างพูโลกับบีอาร์เอ็น และปัญหาความแตกแยกภายในของทั้งสองกลุ่ม ปัญหานี้ นายฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นรู้ดี จึงต้องแสดงบทบาทด้วยการออกคลิปวีดีโอก่อนที่บีอาร์เอ็นจะออกแถลงการณ์เป็นเอกสารเพียงไม่กี่วัน
"สรุปคือทั้งเขาและเราไม่พร้อม ก็ต้องหยุดไปก่อน" พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าว
ทหารรุกดึง"ดร.วัน"ล่องใต้-ขึ้นเวที
สำหรับความเคลื่อนไหวของฝ่ายทหารนับว่าน่าสนใจ เพราะในขณะที่โต๊ะพูดคุยที่มี สมช.เป็นแกนนำยังลูกผีลูกคน แต่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้จัดเวทีพูดเรื่องพูดคุยสันติภาพในวันที่ 24 ธ.ค. โดยเชิญ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานเบอร์ซาตู เป็นวิทยากรหลัก ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดย ดร.วันกาเดร์ เพิ่งสร้างความฮือฮาด้วยการร่วมอภิปรายบนเวที 10 ปีปัญหาใต้ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ด้วยการระบุตรงๆ ว่ารัฐบาลไทยกำลังพูดคุยผิดกลุ่ม และไม่ควรผูกขาดการพูดคุยกับบีอาร์เอ็นกลุ่มเดียว
ประเด็นนี้ พล.อ.อกนิษฐ์ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับอดีตประธานเบอร์ซาตู กล่าวว่า จุดยืนของ ดร.วันกาเดร์ คือเห็นด้วยกับการพูดคุย แต่ไม่เห็นด้วยกับการแยกดินแดน เรียกร้องเอกราช หรือตั้งรัฐใหม่ การพูดคุยสามารถทำได้ และพร้อมให้คำแนะนำทำความเข้าใจกับเยาวชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มจูแว (กลุ่มเคลื่อนไหวที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน) ว่าไม่ต้องใช้ความรุนแรง
"กระบวนการสันติภาพไม่ได้เกิดจากการพูดคุยอย่างเดียว แต่ต้องใช้หลายวิธีพร้อมๆ กัน เพียงแต่การพูดคุยเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายเห็นด้วย และต้องเปิดช่องทางพูดคุยโดยตรงในพื้นที่ ส่วนโต๊ะพูดคุยที่มาเลเซียก็เดินต่อไป ใครมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ก็สานต่อ" พล.อ.อกนิษฐ์ ระบุ
โต๊ะพูดคุยมุ่ง"พีอาร์"มากกว่าเจรจา
ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาภาคใต้หลังมีรัฐบาลชุดใหม่ว่า สมมติมีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557 และมีการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนั้น ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม โจทย์ปัญหาความมั่นคงปี 2557 ยังมีหนึ่งปัญหาสำคัญที่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็คือ การคิดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาภาคใต้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงๆ จังๆ
ส่วนการพูดคุยสันติภาพที่ลงนามกันเมื่อ 25ก.พ.2556 นั้น ดร.สุรชาติ เห็นว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วต้องยอมรับว่าเป็นการเปิดแค่โต๊ะเจรจา แต่ผลของการเจรจาไม่เดินไปไหน สิ่งที่คาดหวังอยากเห็นคือทำอย่างไรให้เป็นการเจรจาจริงๆ เพราะสิ่งที่เห็นที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเวทีเปิด สุดท้ายการเจรจากลายเป็นการพีอาร์ (ประชาสัมพันธ์) ไม่ว่าจะเป็นพีอาร์องค์กรหรือตัวบุคคลก็ตาม
"ความไม่ตระหนักของใครก็ตามที่มีส่วนกำหนดทิศทางการเจรจาเมื่อ ก.พ.2556 ที่มาเลเซีย มองไม่เห็นว่าการตั้งโต๊ะเจรจาที่เป็นเวทีเปิดในเบื้องต้นอาจกลายเป็นอุปสรรคในการเจรจาโดยตัวของมันเอง"
โจทย์รัฐบาลใหม่-เจรจาแบบเปิดต่อหรือไม่
ดร.สุรชาติ กล่าวต่อว่า การเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งในสงครามแบ่งแยกดินแดนนั้น โดยปกติใช้เวลานาน และอาจจะนานมากกว่าที่ทุกคนในสังคมไทยคิด ก่อนเปิดเจรจาที่มาเลเซีย เชื่อว่ามีการเจรจาลับมาไม่ต่ำกว่า 10 รอบ แต่ถึงกระนั้นคำตอบสุดท้ายก็ยังขับเคลื่อนไม่ได้ แล้วทำไมจึงเชื่อว่าการเจรจาเปิดเพียงครั้งเดียวจะสามารถแก้โจทย์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทันที
"ผมคิดว่าสิ่งที่ต้องตระหนักคือ ปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาระยะยาว กลุ่มและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงมีหลากหลาย การเจรจาที่เปิดแค่โต๊ะเดียว แล้วทำเวทีเปิด สุดท้ายกลายเป็นความขัดแย้งที่ภาระตกกลับมาที่รัฐบาลไทย นอกจากนั้นในอีกมุมหนึ่ง การเจรจาที่ทำเวทีเปิด ได้สร้างความหวังให้กับผู้คน ความหวังที่เกิดขึ้นนั้นมักมีความเชื่อว่าเจรจาไม่นานสงครามจะสิ้นสุด เจรจาอีกแป๊บเดียวความรุนแรงก็จะจบ ผมคิดว่าการสร้างความหวังสูงอย่างนี้ สุดท้ายกลายเป็นส่วนที่บั่นทอนรัฐบาลเอง"
ดร.สุรชาติ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลหลังวันที่ 2 ก.พ.2557 ต้องคิดและกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาภาคใต้ว่าจะเดินหน้าอย่างไร หรือถ้ารัฐบาลปัจจุบันกลับมา จะยังยืนยันทำโต๊ะเจรจาแบบเปิดเพื่อการพีอาร์ต่อไปเรื่อยๆ หรือไม่
"ถ้าเชื่อว่าการเจรจาที่เป็นเวทีเปิดเป็นเพียงแค่งานพีอาร์ เราก็จะได้ผลลัพธ์แบบงานพีอาร์" ดร.สุรชาติ กล่าว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) ดร.สุรชาติ (ขวา) พล.อ.อกนิษฐ์