สปสช.จับมือศอ.บต.จัดกิจกรรมเชิงรุกให้ผู้ป่วยต้อกระจกใน 3 จังหวัดภาคใต้
สปสช.จับมือศอ.บต. และหน่วยงานสาธารณสุข และความมั่นคง 3 จังหวัดชายแดนใต้ จัดกิจกรรมเชิงรุกรณรงค์ให้ผู้ป่วยตาต้อกระจกได้รับการผ่าตัดมากขึ้น หลังสถิติ 5 ปี พบอัตราเข้าถึงบริการต่ำสุด เหตุจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ เฉลี่ยมีผู้ป่วยต้อกระจกใน 3 จว.ชายแดนใต้ได้รับการรักษาปีละพันรายเท่านั้น ตั้งเป้าปี 57 มีผู้ป่วยต้อกระจกได้รับการรักษากว่า 4 พันราย ระยะเวลารอคอยการผ่าตัดต่ำกว่า 30 วัน
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่มั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยตาต้อกระจกที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด จากสถิติพบว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2552-2556) มีผู้ป่วยตาต้อกระจกสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้รับการผ่าตัดเพียง 6,156 ครั้ง หรือร้อยละ 3.85 เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศ โดยในปี 2552 มีผู้ป่วยตาต้อกระจกได้รับการผ่าตัด 951 คน ปี 2553 ได้รับการผ่าตัด 1,093 คน ปี 2554 ได้รับการผ่าตัด 937 คน ปี 2555 ได้รับการผ่าตัด 1,803 คน และปี 2556 ได้รับการผ่าตัด 1,372 คน ดังนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยตาต้อกระจก 3 จังหวัดชายแดนใต้เข้าถึงการรักษามากขึ้น สปสช.จึงได้จัดทำโครงการรณรงค์ผ่าตัดตาต้อกระจกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ขึ้น โดยร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) กรมแพทย์ทหารบก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อให้ผู้ป่วยตาต้อกระจกได้เข้าถึงการรักษามากขึ้น
เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า การดำเนินการจะเริ่มตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ให้มีการตรวจคัดกรอง ตลอดจนถึงการประสานให้ได้รับการผ่าตัด ทั้งการผ่าตัดเชิงรุกในพื้นที่โดยความร่วมมือของจักษุแพทย์จากหน่วยงานต่างๆ และการผ่าตัดในโรงพยาบาล โดยแต่ละหน่วยงานก็จะทำหน้าที่ตามบทบาทของตน เช่น หน่วยงานความมั่นคงก็ดูแลเรื่องการดูแลความปลอดภัย จนถึงการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ หน่วยงานสาธารณสุขดูและเรื่องการตรวจคัดกรอง การรักษา การผ่าตัด สปสช.รับผิดชอบด้านการเบิกจ่ายตามสิทธิประโยชน์ให้กับสถานพยาบาล โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงาน 1 ปี ตามปีงบประมาณ 2557 ตั้งเป้าหมายว่าจะมีผู้ป่วยตาต้อกระจกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้รับการผ่าตัดและรักษากว่า 4,000 ราย และผู้ป่วยมีระยะเวลารอคอยการผ่าตัดน้อยกว่า 30 วัน
พ.ท.เอกธวุฒิ คงคาเขตร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 25 กล่าวว่า ศอ.บต.และหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 25 ร่วมมือกับสปสช.ในการรณรงค์ให้ผู้ป่วยตาต้อกระจกในพื้นที่เข้าถึงการผ่าตัดมากขึ้น ซึ่งจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ แม้ผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุทราบว่าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา เพราะสปสช.ดูแลให้ตามสิทธิประโยชน์ แต่ก็ยังมีปัญหาในการเข้าถึงบริการ ทั้งเรื่องการเดินทางและปัญหาอื่นๆ ที่ผ่านมา จึงทำให้ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานจากการดำเนินชีวิตประจำวัน เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นได้เป็นปกติ กลายเป็นภาระแก่ญาติพี่น้อง จึงได้จัดทำโครงการแสงแห่งความหวังเพื่อเฉลิมพระเกียรติในพื้นที่จ.ปัตตานี ร่วมมือกับสปสช. หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ โดยผลการดำเนินงานในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การรณรงค์ตรวจคัดกรองในพื้นที่ ที่อ.มายอ จ.ปัตตานี โดยความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีประชาชนมาตรวจคัดกรองตาต้อกระจก 500 ราย ในจำนวนนี้เป็นตาต้อกระจก 71 ราย หลังจากนั้นทางหน่วยงานสาธารณสุขก็ได้ดำเนินการผ่าตัดให้ ซึ่งโครงการนี้มีประโยชน์มาก ทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ และสร้างความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจ และเกิดเป็นความรักความผูกพัน มีทัศนคติที่ดีต่อกันระหว่างประชาชนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น โดยแผนการดำเนินงานหลังจากนี้ จะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆต่อไป เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษามากขึ้น