สสค.จัดเวทีสัญจร แชร์ 'นวัตกรรมแก้ปัญหาการอ่านได้เขียนได้'
สสค.ร่วมสพป.สงขลา เขต 2-สพป.ตรังเขต 1 จัดเวทีสัญจรแชร์ “นวัตกรรมแก้ปัญหาการอ่านได้เขียนได้” จังหวัดปลายด้ามขวาน แนะสพฐ.คลายเกณฑ์ส่วนกลาง ส่งเสริมการสร้างและขยายนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ยกระดับเป็น “ตำรารักษาโรคภาษาไทย”
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 2 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 1 จัดเวทีเสวนาวิชาการ “เวทีเสวนาเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้สัญจร : ผู้นำการเรียนรู้สู่สังคมนักอ่าน” โดยมีตัวแทนจากเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนในจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมงานด้วยร่วม 100 คน
ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า 2 กรณีศึกษาจากสพป.สงขลา เขต 2 และสพป.ตรังเขต 1 พบปัจจัยความสำเร็จ 5 ประการในการแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนได้ได้ ได้แก่ 1) เขตพื้นที่มีการดัดแปลงนโยบายภาครัฐตามบริบทความต้องการของพื้นที่ 2.)ผู้บริหารและครูหาวิธีนำนโยบายมาปรับใช้ด้วยความทุ่มเท 3.) ใช้ฐานข้อมูลความจริง และการวินิจฉัยปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เป็นหลักในการแก้ปัญหา 4.) ครูมีกิจกรรมการสร้างสรรค์ที่หลากหลาย และ 5.)มีการเลือกสรร “สื่อ” ที่ใช้ได้อย่างเหมาะสม
“สิ่งที่เห็นชัดคือ การวินิจฉัยโรคการอ่านการเขียน ที่ข้อมูลชัดเจนว่า ใครเป็นอะไร เช่น ครูนงเยาว์ อุ่นนวล ครูผู้สอน โรงเรียนวัดเขากลอย จ.สงขลา โรงเรียนวัดเขากลอย มีการแก้ปัญหาการอ่านใช้แนวเดียวกับการวินิจฉัยโรค เช่น เด็กบางคนเป็น "โรค ฎ.ชฎา" คือ อ่านออกเสียง ฎ.ชฎา ไม่ชัด ทำให้การรักษา และสอน ทำได้ตรงกับอาการของเด็กมากที่สุด ซึ่งเกิดจากความพยายามและเอาใจใส่ของทั้งครูและผู้บริหาร เริ่มจากครูที่เชี่ยวชาญประกบคู่กับครูประจำชั้นตั้งแต่ป.1 ทำให้เห็นปัญหาของผู้เรียน กระทั่งปัญหาของครูผู้สอนเองที่บางครั้งก็สอนเด็กผิด และมีการให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม โดยใช้รูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านสื่อ และต้นแบบที่ดี ซึ่งครูรุ่นใหม่ต้องสามารถเชื่อมโยงการทำงานในพื้นที่ลักษณะเครือข่ายด้วย งานเชิงพื้นที่จึงจะขยายผล”
ขณะที่รศ.ปภัสวดี วีรกิตติ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. กล่าวว่า ครูมีนวัตกรรมที่น่าสนใจมากๆ หลายเรื่อง โดยเฉพาะ “ตำราแผนสำหรับวินิจฉัยโรคฉบับภาษาไทย” ถ้าสามารถรวบรวมก็ได้จะได้ “ตำรารักษาโรคภาษาไทยรุ่นใหม่ ให้กับเด็ก ฉะนั้นเห็นว่า ควรมีการรวบรวมเทคนิคและวิธีการต่างๆที่มีความเฉพาะและสอดคล้องกับบริบาทการเรียนรู้ภาษาไทยในภาคใต้ จะเป็นเครื่องมือในการช่วยให้นักเรียนมุสลิมเรียนรู้ภาษาไทยได้ดีขึ้น
ด้านนายสินอาจ ลำพูนพงศ์ สพป. เขต 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า บริบทการเรียนการสอนทางเหนือและใต้ต่างกัน ที่คล้ายกันคือมีปัญหาเรื่องการสื่อสารภาษากลาง ระหว่างครูและเด็ก แต่ทางเหนือจะมีจำนวนของภาษาพูดมากกว่า "ทวิภาษา" จึงเป็นวิธีการและนวัตกรรม แก้ปัญหาการเรียนการสอนในท้องถิ่นได้ดีอีกวิธีหนึ่ง แต่ต้องใช้เวลาให้ผู้เรียนพอสมควรเพราะภาษาถิ่นเป็น "ภาษาแม่" ของเขา
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการ สสค. กล่าวว่า การแก้ปัญหาการอ่าน หรือสอนภาษาไทยไม่ใช่เรื่องยากเลย จากกรณีตัวอย่าง จ. สงขลา จ.ตรัง จ.ปัตตานี ซึ่งมีนวัตกรรม วิธีการสอนดีๆ มากมาย เพียงแค่มีครู ผู้บริหารที่ใส่ใจ ฉะนั้น ทางออกของปัญหาการอ่านวันนี้ตัวอย่างความสำเร็จของสงขลาเราพบทั้งพื้นที่เลย โดยเขตพื้นที่การศึกษามีการประสานงานเป็นชั้นๆ ลงไปที่ตัวเขตพื้นที่ ศึกษานิเทศก์ โรงเรียน และถึงครู ที่สำคัญมีการติดตามให้โรงเรียนรายงานข้อมูลขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อจะได้ช่วยเหลือกันถูก มีการวัดอาการกันตลอดเวลา จะรู้ตลอดว่าโรงเรียนไหนเป็นอย่างไร อีกทั้ง มีเวลาแลกเลี่ยนเรียนรู้กันตลอด ซึ่งป็นระบบการชุดเดียวกับบราซิลใช้และได้รับการยกย่องจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
“การขยายผลเชิงระบบไปยังเขตพื้นที่ต่างๆ มีแรงจูงใจที่จะทำงานแบบเดียวกันในการแก้ปัญหาการอ่านออก เขียนได้ที่ทำแล้วเกิดผลสำเร็จ เช่น สุโขทัย เขต 1 เชียงใหม่ เขต 2 สงขลา เขต 1 โดย สพฐ. ลงมาถอดบทเรียนและให้การยกย่องให้รางวัลเขตที่ทำงาน วางแผนเป็นระบบ เพื่อให้เขตพื้นที่การศึกษามีแรงจูงใจในการที่จะแก้ไขปัญหาการอ่านของประเทศได้ ขณะนี้ มีประมาณ 10 เขต จาก 183 เขต ที่ทำได้สำเร็จแต่นับว่ายังน้อยอยู่มาก ดังนั้น สพฐ. ต้องกระตุ้นให้เขตอื่นๆ ทำด้วย จึงควรมีส่งเสริมการสร้างเครือข่าย เช่น สพป.ตรัง เขต 1 ได้สร้างเครือข่าย ขยายไปยังพื้นที่เป็นลักษณะ Networking ให้เต็มพื้นที่" ดร.อมรวิชช์ กล่าว พร้อมกับฝากไปยัง สพฐ. ในสิ่งที่ควรทำ 2 เรื่อง 1.เรื่องการอ่านเป็นการจัดการเชิงระบบ เชิงพื้นที่ เต็มรูปจริงๆ โดยให้อำนาจ ผอ.เขต พลิกแพลงการจัดการเองได้ โดยไม่ต้องอิงกรอบจากส่วนกลางมากเกินไป 2.ทุ่มงบประมาณในการทำเครือข่ายให้มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องลึกลับ เพียงแต่ครู ผู้บริหาร ต้องคลายกฎเกณฑ์จากส่วนกลางกับความไม่เสถียรนโยบาย ระเบียบ เพราะทำให้ครู ผู้บริหารเสียสมาธิ ทำงานลำบาก ฉะนั้น สพฐ.ต้องส่งเสริม กระตุ้น ให้เกิดนวัตกรรมเชิงพื้นที่ให้มากๆ เพื่อจะได้เห็นความสำเร็จขยายตัวออกไปได้