มีชัย วีระไวทยะ ชี้องค์กรสาธารณประโยชน์ต้องเลิกเพาะนิสัยขี้ขอ
มีชัย ไวทยะ เผยประสบการณ์ NGO 40 ปี ระบบสังคมสังเคราะห์ไม่ช่วยให้มูลนิธิยืนอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซ้ำเพาะนิสัยขี้ขอ ชี้การจัดบริการสาธารณะเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย แนะองค์กรสาธารณประโยชน์เอกชน ลดการเกิด ตาย จน เขลา และพึ่งพาคนอื่น หันสร้างธุรกิจเพิ่มรายได้ให้องค์กร
วันที่ 16 ธันวาคม 2556 ศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ (ศปส.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดพิธิเปิดศูนย์ประชาสังคมฯ อย่างเป็นทางการ ณ ห้องประชุมสตาร์ 29 โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพ เอ รอยัล เมอริเดียน ซึ่งภายในงานยังมีปาฐกถาพิเศษโดย นายมีชัย วีระไวทยะ ประธานมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ในหัวข้อ “บทบาทขององค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย”
นายมีชัย กล่าวถึงองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ไม่สามารถพึ่งความปราณีจากคนอื่นได้ตลอดไป จากประสบการณ์ที่อยู่ในแวดวงของ NGO มานานถึง 40 ปี พบกว่า องค์กรสาธารณประโยชน์ ไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้จากการบริจาคเงินของคนอื่น และปัญหาในสังคมที่เกิดขึ้นนั้นเกิดมาจากความยากจนที่นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งทุกรัฐบาลไม่สามารถที่จะจัดบริการทุกอย่างให้กับประชาชนได้อย่างสมบูรณ์ แต่นโยบายอะไรที่รัฐบาลบอกประชาชนกลับเชื่อเสมอ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบการศึกษาไม่ได้สอนให้สงสัย
ปธ.มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสไม่ใช่หน้าที่ของราชการทั้งหมด แต่เป็นความรับผิดของชองสังคมโดยส่วนรวม ในอดีตผู้อาสาสมัครเข้ามาช่วยคือองค์กรเอกชนสาธารณะ เช่น สมาคม มูลนิธิ และธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งองค์กรต่างๆ ล้วนมาจากกลุ่มเอ็นจีโอแล้วมาตั้งตนเป็นสมาคม มูลนิธิ แต่ปัจจุบันเริ่มมีธุรกิจเข้ามาบ้างแล้ว บางทีการให้ทุนก็มาในรูปแบบ CSR ซึ่งเป็นแบบหลอกตาก็มี ที่สำคัญของการให้นั้นบริษัทต่างๆจะมอบมาในรูปของการศึกษา เครื่องนุ่งห่ม ในรูปแบบเชิงสังคมสังเคราะห์ ซึ่งไม่ยั่งยืน หยุดเมื่อไหร่จบเมื่อนั้น
"วิธีการดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดทักษะใหม่ๆ ไม่เสริมสร้างความเข้มแข็ง และยังเป็นการเพาะนิสัยในการขอให้องค์กรสาธารณะ หรือมูลนิธิ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้นการช่วยเหลือจะประสบความสำเร็จได้จำเป็นจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้รับ เพาะนิสัยให้รู้จักทำธุรกิจ อยู่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งภาครัฐและประชาชนต้องมีส่วนร่วม"
สำหรับการเสริมสร้างและพัฒนาบทบาทขององค์กรสาธารณประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยนั้น นายวีระชัย เห็นว่า องค์กรสาธารณประโยชน์จะต้องมุ่งพัฒนาในด้านลดการเกิด การตาย ลดการพึ่งพาผู้อื่น ลดความยากจนด้วยการสร้างความรู้ด้านธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรตนเอง ลดความเขลาด้วยการปฏิวัติการศึกษาที่ล้าสมัย กระตุ้นให้เด็กคิดนอกกรอบเลิกเป็นนกแก้วนกขุนทอง สอนให้เด็กรู้จักตั้งคำถาม ขณะที่อาจารย์ต้องไม่สอนให้เด็กอยู่ในกะลา แบบที่รัฐบาลกำลังทำ แต่ต้องสอนเทคนิคและรูปแบบให้เกิดความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้าย นายวีระชัย กล่าวทิ้งท้ายถึงการจัดตั้งศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์และมีการเรียนการสอนในเรื่องนั้นอย่างจริงจังนับเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องไม่ลืมบอกเขาไปว่าหลักสูตรนี้เรียนไปเพื่ออะไร และต้องพัฒนาทักษะให้คนที่สนใจงานทางด้านNGO รู้จักพัฒนากระบวนการในด้านธุรกิจควบคู่กับการทำงานในสังคม เนื่องจากมูลนิธิหรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรในอนาคตจะหวังพึ่งแต่การบริจาคนั้นไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะไม่มีใครจะเอาเงินมาบริจาคเราได้เรื่อยๆ ดังนั้นการเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ต้องทำตั้งแต่อยู่มัธยม หากทำในระดับมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่ช้าเกินไป และต้องเร่งสร้างเยาวชนให้เป็นผู้นำ อีกทั้งสถาบันการศึกษาต้องเพิ่มบทบาทจากสถานที่ที่ให้ความรู้เฉพาะนักเรียน เป็นสถาที่ต้องให้ความรู้กับทุกคนและต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต