อาลัย "ขาเดร์ แวเด็ง" ศิลปินแห่งชาติจากชายแดนใต้ ผู้จุดประกาย "รองเง็ง" สู่ความนิยม
"สำหรับพ่อแล้ว ผมตระหนักในความมีจิตใจสูงส่งของพ่อ ขอให้ได้เล่นเพื่อให้ประเทศไทยได้รับรู้ว่าดนตรีรองเง็งคือตัวท่าน"
เป็นคำกล่าวของ สุชาติ แวเด็ง บุตรชายของ ขาเดร์ แวเด็ง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงดนตรีพื้นบ้าน ประจำปี พ.ศ.2536 ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจที่มีต่อพ่อบังเกิดเกล้า ในฐานะผู้จุดประกายนำดนตรีรองแง็งมาปรุงแต่งเป็นเพลงให้มีสีสันน่าฟังและไพเราะ จนเป็นที่ยอมรับของผู้ฟังและนักดนตรีทั่วไป
ขาเดร์ แวเด็ง หรือ "แบกาเดร์" ศิลปินแห่งชาติผู้ขับกล่อมบทเพลงรองเง็งมลายูด้วยไวโอลิน ได้กลับสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์ (เสียชีวิต) อย่างสงบในวัย 82 ปี เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 11 ธ.ค.2556 ที่โรงพยาบาลปัตตานี นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ เพราะแบกาเดร์เป็นนักไวโอลินที่มีฝีมือเยี่ยม เล่นไวโอลินได้อย่างลึกซึ้งกินใจ ทั้งยังเป็นวิทยากรอันทรงคุณค่าของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน กระทั่งได้รับการประกาศเกียรติคุณในฐานะบุคคลผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น และรางวัลอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน
ข้อมูลจากเว็บไซต์จังหวัดปัตตานี ระบุว่า "รองเง็ง" มีวัฒนาการมาจากการเต้นรำพื้นเมืองของชาวสเปนหรือโปรตุเกสซึ่งนำมาแสดงที่แหลมมลายูเมื่อครั้งที่ได้มาติดต่อทำการค้าในสมัยโบราณ จากนั้นชาวมลายูพื้นเมืองได้ดัดแปลงเป็นการแสดงที่เรียกว่า "รองเง็ง" สำหรับในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการเต้นรองเง็งมาเนิ่นนาน
การแสดงรองเง็งเป็นการแสดงหมู่ ประกอบด้วยผู้เต้นชาย-หญิง เต้นคู่กันไปไม่น้อยกว่า 5 คู่ เข้าแถวแยกกันเป็นแถวตอน เมื่อดนตรีขึ้นเพลงแต่ละเพลง คู่เต้นจะสลามให้กัน และเมื่อจบเพลงจะสลามอีกครั้ง ท่าเต้นของรองเง็งแต่ละเพลงจะมีลีลาไม่เหมือนกัน ผู้แสดงจะต้องจำเพลงและลีลาการเต้นประจำเพลงให้ได้ จุดเด่นของการเต้น คือ การเปลี่ยนจังหวะช้า-เร็วของเพลงประกอบการเต้น ซึ่งเมื่อจังหวะเปลี่ยน ลีลาการเต้นก็จะเปลี่ยนไปด้วย
สำหรับ สุชาติ แวเด็ง แม้ปัจจุบันเขามีอาชีพเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี แต่เขาก็เป็นหนึ่งในผู้สืบทอดดนตรีพื้นบ้านของบิดา เขาเล่าถึงเสน่ห์ของรองเง็งให้ฟังว่า ดนตรีพื้นบ้านประเภทนี้มีเสน่ห์ที่จังหวะ ทำนอง และดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์
ถ้าจะพูดถึงเครื่องดนตรีที่ใช้เล่นรองเง็ง เราสามารถแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ 1.เครื่องดนตรีจากฝั่งตะวันตก ได้แก่ ไวโอลิน แอคคอร์เดียน และแมนโดลิน กับ 2.เครื่องดนตรีพื้นบ้าน ได้แก่ รำมะนาใหญ่ รำมะนาเล็ก และฆ้อง
"เครื่องดนตรีทั้งสองประเภทนี้อยู่กันคนละที่คนละทาง แต่สามารถมาบรรจบกันได้ เราสามารถเอาดนตรีสองประเภทนี้มาผสมผสานกัน กลายเป็นดนตรีรองเง็ง คำว่ารองเง็งเป็นบัญญัติศัพท์ทางด้านดนตรีที่เป็นการแยกดนตรีอีกชนิดหนึ่ง เมื่อแยกศัพท์ก็ต้องมีองค์ประกอบ เพลงรองเง็งมีองค์ประกอบคือบรรเลงด้วยไวโอลินหรือแอคคอร์เดียนหรือแมนโดลิน ส่วนเครื่องดนตรีที่ให้จังหวะได้แก่ รำมะนาใหญ่ รำมะนาเล็ก ฆ้อง และมาราคัส ทั้งหมดนี้เขาถึงเรียกว่าดนตรีรองเง็ง"
"ส่วนเนื้อเพลงนั้น ใครได้ยินได้ฟังก็นึกถึงว่านี่คือรองเง็ง เพราะจะมีทั้งเศร้าและสนุกสนาน ส่วนมากดนตรีรองเง็งใช้ประกอบการเต้นรำ เพลงแต่ละเพลงจะมีท่าเฉพาะของมัน จะเป็นเพลงที่เราแต่งขึ้นมาก็ได้ ในสัดส่วนจังหวะของรองเง็ง ถ้าจังหวะตีกลองที่ไม่ใช่รองเง็ง เขาก็จะเรียกจังหวะอื่น รองเง็งนั้นหมายถึงจังหวะโดยใช้กลองนำ เป็นเพลงอะไรก็ได้ แต่ต้องเข้าจังหวะนี้"
"ที่จริงดนตรีรองเง็งมีมานานแล้ว คนที่เล่นก็มีมานานแล้ว แต่คุณพ่อเป็นคนที่จุดประกายนำดนตรีแขนงนี้มาปรุงแต่งเพลงให้มีสีสัน น่าฟัง และไพเราะ จนเป็นที่ยอมรับของคนฟังและนักดนตรีทั่วไป ตัวผมและน้องชายอีกคนถูกฝึกจนเล่นได้เมื่ออายุ 13 ปี โดยเริ่มตั้งแต่อุปกรณ์ดนตรีง่ายๆ ในวง อย่างมาราคัส (เขย่าลูกแซ็ก) ตีฆ้อง แมนโดลิน แอคคอร์เดียน และไวโอลิน โดยที่คุณพ่อจะคอยเป็นที่ปรึกษา คอยชี้แนะต่างๆ"
สุชาติ เล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อบิดาว่า ประทับใจในความเป็นคนซื่อ ไม่เคยพูดโกหก เป็นคนมีความรับผิดชอบสูง ได้รับเชิญงานไหนจะไปก่อนเวลา รับผิดชอบไม่ให้เจ้าของงานเสีย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่พ่อสอนให้ตระหนักและยึดเป็นหลักในการทำงานตลอดมา
"หากพูดถึงดนตรีกับศาสนา อาจจะไม่สอดคล้องกันสักเท่าไหร่ แต่พ่อเป็นคนเคร่งครัดเรื่องศาสนา ทุกครั้งที่เราไปเล่น หากตรงกับช่วงใกล้ละหมาด ท่านและลูกทีมต้องละหมาดก่อน ฉะนั้นเรื่องศาสนาต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ศาสนา เข้มงวด อย่าทิ้ง ไม่ใช่เพียงแค่สอน แต่ท่านทำให้เราเห็นด้วย ท่านพูดน้อยแต่เป็นคนทำจริง"
สุชาติ บอกว่า ช่วงหลายปีหลังมามานี้สุขภาพของบิดาเริ่มแย่ลง งานสุดท้ายที่รับคือเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
"ผมก็บอกท่านมาตลอดว่าอยากให้พักผ่อน แต่ด้วยความที่ไวโอลินเปรียบเสมือนชีวิตจิตใจของท่าน เวลาว่างท่านจะสีตลอด วันละ 3 ชั่วโมง หลังจากทำภารกิจด้านศาสนาเสร็จ จะคอยฝึกมือตลอด บ่งบอกถึงความมีวินัยเป็นอย่างสูงในการเป็นนักดนตรีของท่าน"
สำหรับการได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ สุชาติ บอกว่า พอจะทราบว่าเกณฑ์การคัดเลือกไม่ใช่ง่ายๆ อย่างน้อยต้องทำความดีอย่างต่อเนื่อง 20 ปี ประวัติเสื่อมเสียต้องไม่มี
"พ่อได้ทำให้พวกเราเห็นว่าพ่อทำได้ นี่คือสิ่งที่ภูมิใจที่สุดของครอบครัวแวเด็ง ทำให้ลูกทุกคนเกิดความตระหนักว่าต้องทำความดีให้มากกว่าพ่ออีกหลายเท่า ต้องตั้งมั่น มีสติ และยึดหลักไว้ตลอดว่าจะไม่ทำให้พ่อผิดหวัง ไม่ทำให้ตระกูลเสื่อมเสีย และทำความดีสู่สังคมต่อไป"
"ตอนเด็กๆ ก็สงสัยนะ ทุกครั้งที่ได้รับเชิญไปเล่นดนตรี พ่อจะไม่ค่อยนึกถึงเรื่องเงิน ที่ไหนเล่นฟรีท่านก็ไม่บ่นอะไร ด้วยความเป็นเด็กจึงไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมพ่อถึงรักดนตรีรองเง็งมากขนาดถึงต้องทิ้งงานที่บ้าน ทิ้งงานประจำ จนพ่อได้รับพระราชทานรางวัลศิลปินแห่งชาติ เมื่อปี 2536 สาขาศิลปะการแสดงดนตรีพื้นบ้าน จึงได้ค่าตอบแทนจากการแสดงบ้าง และยังมีเงินเดือนในฐานะศิลปินแห่งชาติด้วย จึงเริ่มเข้าใจในสิ่งที่พ่อได้ทุ่มเทไป และตระหนักถึงความมีจิตใจสูงส่ง ขอให้ได้เล่น เพื่อให้ประเทศไทยได้รับรู้ว่าดนตรีรองเง็งคือตัวท่าน"
ด้วยภาระหน้าที่การเป็นศิลปินแห่งชาติ ทำให้ลูกๆ ได้รับผลพวงต้องทำหน้าที่สืบสานดนตรีพื้นบ้านไปโดยปริยาย
"น้องชายจะสีไวโอลิน ส่วนตัวผมเล่นแอคคอร์เดียน อีกอย่างผมเป็นครูด้วย ก็จะคอยสอนไวโอลินขั้นพื้นฐานให้กับเด็กๆ และเอาความรู้ตรงนี้ไปเน้นทางวิชาการ ก็คือ ทำเป็นตัวโน้ตขึ้นมา เปลี่ยนโน้ต เปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการสอน วิเคราะห์ผู้เรียน"
"พ่อบอกเสมอว่าคนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน ความถนัดและพรสวรรค์ต่างกัน แต่ท่านเกิดมามีพรสวรรค์ในเรื่องดนตรี ท่านจึงต้องเล่นดนตรี เล่นไวโอลินให้ถึงที่สุด เพราะดนตรีรองเง็งคือตัวตนที่แท้จริงของพ่อ" สุชาติ กล่าว
แม้วันนี้ ขาเดร์ แวเด็ง ศิลปินพื้นบ้านผู้สร้างตำนานดนตรีรองเง็งต้องจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่เสียงไวโอลินอันเป็นเสน่ห์ของดนตรีรองเง็งจะยังคงอยู่ในใจของผู้คนตลอดไป...
ขาเดร์ แวเด็ง ศิลปินแห่งชาติ ดนตรีพื้นบ้านปัตตานี
ขาเดร์ แวเด็ง เป็นชาวปัตตานีตั้งแต่กำเนิด เกิดเมื่อ พ.ศ.2474 แต่ไปเติบโตที่ อ.รามัน จ.ยะลา มีอาชีพหลักเป็นช่างทอง ออกแบบทำทองรูปพรรณต่างๆ และเป็นช่างทำแหวน แต่มีความหลงใหลเรื่องการสีไวโอลินมาตั้งแต่เด็กๆ ฝึกการเล่นดนตรีโดยวิธีจดจำจากนักดนตรีรุ่นพี่ ได้เพียรพยายามฝึกฝนการสีไวโอลินด้วยตัวเอง ด้วยใจรักในน้ำเสียงของไวโอลินทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการฝึกฝน คิดค้นวิธีการสีไวโอลินที่เป็นลักษณะเฉพาะของตน จนกลายเป็นนักสีไวโอลินพื้นบ้านภาคใต้ที่มีฝีมือสูงเด่น เป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป
เครื่องดนตรีที่ชอบเป็นพิเศษ คือ ไวโอลิน นอกจากนั้นท่านยังเล่นแมนโดลิน รำมะนาเล็ก รำมะนาใหญ่ มาราคัส และฆ้อง รวมถึงแอคคอร์เดียนได้ดีอีกด้วย
ขาเดร์ เป็นผู้ที่ยึดมั่นอยู่ในหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด มีคุณธรรมและดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ได้เผยแพร่ความรู้ที่มีอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) พ.ศ.2536
ขาเดร์ แวเด็ง มีชื่อเสียงจากการเล่นดนตรีสำหรับรองเง็งที่มี 14 เพลง คือ เพลงลาฆูดูวอ เพลงเลนัง เพลงปูโจ๊ะปีซัง เพลงเมาะอินังลามา เพลงจินตาซายัง เพลงเมาะอินังยาวอ เพลงอาเนาะดีดิ๊ เพลงบุหงารำไป เพลงมาสแมเราะห์ เพลงซัมเป็ง เพลงโยเก็ตรองเง็ง เพลงซำมาริซำ เพลงปุราคำเปา และเพลงแกแนะอูแด มีโอกาสได้บรรเลงดนตรีรองเง็งถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์
ขาเดร์ ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณเป็นผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น ประจำปี 2535 และในปีเดียวกันนั้นยังได้รับรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงดนตรีสากล (ไวโอลิน) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติด้วย
รางวัลเกียรติยศสูงสุดที่เป็นความภาคภูมิใจ คือ การได้รับคัดเลือกให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2536 สาขาศิลปะการแสดงดนตรีพื้นบ้าน เป็นการสร้างชื่อเสียงแก่จังหวัดปัตตานีที่เป็นถิ่นกำเนิดของเขาเอง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1, 3, 5, 6 แขเดร์ แวเด็ง เมื่อครั้งตระเวนแสดงตามงานต่างๆ รวมทั้งบรรเลงหน้าพระที่นั่ง
4 แขเดร์ แวเด็ง ก่อนเสียชีวิต
2 สุชาติ แวเด็ง บุตรชายผู้สืบสานตำนานรองเง็ง