ทางออกปฏิรูปประเทศในกระแสความขัดแย้ง
ทางออกปฏิรูปประเทศในกระแสความขัดแย้ง
โดย กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตกรรมการ คอป.
การนำเสนอแนวทางออกประเทศที่ผ่านมาสังคมเริ่มมีประเด็นที่เห็นร่วมกันชัดเจนว่าการเลือกตั้งอย่างเดียวโดยไม่มีหลักประกันว่าจะมีการปฏิรูปประเทศและปฏิรูปการเมืองคงไม่แก้ปัญหาความขัดแย้ง การถกเถียงอยู่ที่ว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งแล้วจึงปฏิรูป ซึ่งหลายท่านคงเห็นว่าต้องปฏิรูปก่อน เพราะหากดูตามตรรกะของเหตุผลว่ายิ่งทอดเวลานานน่าจะยิ่งดีต่อความสำเร็จของการปฏิรูป แต่ในความเป็นจริงมีมิติที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก
ในฐานะอดีตกรรมการคอป.ที่ใช้เวลาในห้วง ๓ ปีกว่าที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ “ฟัง” ความเห็นและความรู้สึกที่หลากหลายของคู่ขัดแย้งและมวลชนของทุกฝ่าย รวมทั้งเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทำให้ผม “เข้าใจ” ถึงความรู้สึกที่แตกต่างทางความเห็นของฝ่ายต่างๆได้ดี จึงอยากจะเสนอมุมมองแนวทางออกประเทศไทยในทัศนะของผม เพราะในท่ามกลางความขัดแย้งแม้จะมีเวทีปราศรัย ถกเถียง อภิปรายกันในประเด็นทางการเมือง แต่เวทีเหล่านี้ดูจะเป็นเวทีของการ “พูด” มากกว่าการ “ฟัง” ทำให้โอกาสของการ “ได้ยิน”และ “เข้าใจ” ระหว่างคู่ขัดแย้งมีน้อยมาก
๑. ในทัศนะของผมการปฏิรูปสำคัญที่ต้องเริ่มก่อนการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปประเทศ ก็คือต้องเริ่มต้น “ปฏิรูปความรู้สึก” คือปรับความรู้สึกเกลียดชัง ความขัดแย้ง แบ่งสี แบ่งฝ่ายระหว่างมวลชนผู้สนับสนุนผู้นำทางการเมืองที่แบ่งออกเป็น ๒ สองขั้วอย่างชัดเจนก่อน ในขณะเดียวกันต้อง “ปฏิรูปความคิด” ของผู้นำที่เป็นกลุ่มการเมืองและมีผลประโยชน์ทางการเมืองให้หยุดหรือลดการเล่นเกมส์การช่วงชิงอำนาจทางการเมืองที่นำมาสู่ความเสียหายย่อยยับของประเทศด้วย ผมเห็นว่า ความสำเร็จของการปฏิรูปประเทศไทยต้องเริ่มจากการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของคู่ขัดแย้งที่จะลด ละ เลิก การสร้างความเกลียดชัง และเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการในการปรองดองอย่างจริงจัง หลักประกันว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศและปฏิรูปการเมืองอย่างจึงไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาของการปฏิรูปแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การยอมรับของคู่ขัดแย้งและมวลชนที่สนับสนุนของแต่ละฝ่ายด้วย
๒. ในห้วงเวลาหลายปีในบทบาท คอป. ผมมีโอกาสพบ พูดคุยและรับฟังความคิดเห็นและความรู้สึกของมวลชนต่างขั้วและพบว่าในความเป็นจริงมวลชนทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันในหลายเรื่อง มวลมหาประชาชนที่ออกมาเป่านกหวีดเมื่อเร็วๆนี้ก็เพื่อเรียกร้องระบบประชาธิปไตยที่แท้จริงที่เจ้าของหรือนายทุนพรรคไม่สามารถกดปุ่มสั่งการได้ตามอำเภอใจ การมีเสียงข้างมากในสภาที่ไม่ผูกขาด การแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง และการที่กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ส่วนพี่น้องนปช.คนเสื้อแดงก็ออกมาเรียกร้องจนเสียชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่ไม่อิงรัฐประหารหรือ “อำนาจพิเศษ” อื่นใด กระบวนการยุติธรรมและองค์กรชี้ขาดด้านกฎหมายต่างๆต้องเที่ยงธรรมไม่เลือกข้าง รัฐต้องมีนโยบายที่นำไปสู่การกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง
ผมเห็นจุดร่วมชัดเจนคือ การปฏิรูปประชาธิปไตย ระบบธรรมาภิบาลได้แก่การจัดระบบการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองและการใช้อำนาจที่เหมาะสม การต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่เหมาะสม การทำให้กระบวนการยุติธรรมและองค์กรชี้ขาดด้านกฎหมายเที่ยงธรรมและอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมที่เป็นสากล จุดร่วมที่มากมายเหล่านี้น่าจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทยหากนักการเมืองและกลุ่มการเมืองที่เป็นผู้นำมวลชนลดความขัดแย้งและนำพลังบริสุทธิ์เหล่านี้มาสู่การสร้างสรรค์เพื่อประเทศชาติร่วมกัน
๓. ในทัศนะของผมทางออกใดๆที่จะทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปสู่การเริ่มต้นการปฏิรูปประเทศและปฏิรูปการเมืองโดยไม่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของหลัก ๓ ประการคือ
ประการแรก ต้องเป็นการดำเนินการในกรอบของวิถีทางประชาธิปไตย การก้าวไปสู่การปฏิรูปด้วยวิธิการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่เป็นที่ยอมรับจะทำให้ความขัดแย้งดำรงอยู่
ประการที่สอง ประชาชนทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นและจริงจังในทุกขั้นตอนของการปฏิรูป ทั้งการกำหนดกรอบ กลไกและกระบวนการในการปฏิรูป และมีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบ เรียกร้องและกดดันให้กลุ่มการเมืองทั้งหลายเดินทางตามวิถีแห่งการปฏิรูป
ประการที่สาม พรรคการเมือง กลุ่มการเมืองและมวลชนทุกฝ่ายต้องปรับทัศนะมาร่วมมือกันหาทางออกให้ประเทศ กล่าวคือปรับจากการต่อสู้ แข่งขัน ชิงไหวชิงพริบ ไปสู่ความร่วมมือ ร่วมใจ และปรับมุมมองจากการทำเพื่อผลประโยชน์ของพรรคและพวก ไม่สู่การทำเพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ
๔. ด้วยเหตุนี้ การนำเสนอให้ชะลอการเลือกตั้งออกไปก่อนโดยให้มีรัฐบาลที่เป็นที่ไว้วางใจมาดูแลเรื่องการปฏิรูปให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนนั้นแม้จะดูเหมือนว่าอาจได้แนวทางการปฏิรูปประเทศที่สมบูรณ์กว่า แต่หากกระบวนการที่ได้มามีข้อขัดแย้งถึงความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญและกติกาประชาธิปไตย ก็อาจนำไปสู่การไม่เห็นด้วยของผู้คนอีกมากมายที่อาจออกมาเรียกร้องบนท้องถนนนำไปสู่ความขัดแย้ง ความรุนแรงอย่างไม่จบสิ้น ผมคิดว่าประเด็นที่เราต้องรีบหารือร่วมกันให้มากที่สุดในเวลานี้คือเราจะสามารถหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันในการก้าวไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยก่อนวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ได้อย่างไร เราสามารถจัดทำกรอบการปฏิรูปและกระบวนการที่ชัดเจนให้สังคมยอมรับก่อนการเลือกตั้งได้หรือไม่ เราสามารถทำให้ทุกคนมั่นใจว่าการปฏิรูปจะเกิดขึ้นจริงจากกรอบและแนวทางดังกล่าวหลังการเลือกตั้งได้อย่างไร ผมคิดว่าเรื่องนี้ทุกฝ่ายมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก คู่ขัดแย้งหลักควรหันมารับฟังเสียงของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย การเจรจากันของคู่ขัดแย้ง ต้องเอาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนทั้งประเทศเป็นตัวตั้ง
๕. เพื่อให้ได้แนวทางที่เป็นความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับกรอบการสร้างความปรองดองและการปฎิรูปประเทศเพื่อนำเสนอต่อสังคมให้เร็วที่สุดนั้น ผมเสนอให้ใช้เวทีกลาง ซึ่งมิได้จัดตั้งโดยคู่ขัดแย้งเป็นเวทีในการหารือกัน ในขณะนี้เวทีขององค์กรภาคธุรกิจเอกชน ๗ องค์กรน่าจะเป็นเวทีที่เหมาะสมที่สุด
การหารือหลักน่าจะอยู่ที่การได้มาซึ่งกลไก กระบวนการ และกรอบในการปฏิรูป โดยเฉพาะองค์กรที่จะเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูป ซึ่งต้องตกลงกันถึงที่มาของกลุ่มบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ และการทำให้องค์กรนี้มีอายุการทำงานข้ามไปสู่รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งสมัยหน้า ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ยาก เช่นคอป.ก็เป็นการตั้งโดยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในรูประเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่สามารถทำงานในสมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วย หรือหากจะให้อิสระมากขึ้นจะตราเป็นพระราชกำหนดหากทุกฝ่ายเห็นตรงกันก็ย่อมทำได้
ส่วนองค์กรนี้จะเรียกชื่อว่า “สภาประชาชน” “สภาปฏิรูปประเทศ” หรือชื่ออื่น และจะมีองค์ประกอบที่เหมาะสมอย่างไรที่จะทำให้เชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปได้จริงน่าจะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายมาหารือกัน
สำหรับประเด็นสำคัญที่ผมเห็นว่าจำเป็นต้องผ่านกระบวนการหารือร่วมกันของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้ผลของการปฏิรูปประเทศไทยสามารถปลดเงื่อนไขความขัดแย้งที่ยืดเยื้อนี้ได้อย่างแท้จริง มีดังต่อไปนี้
•การเริ่มต้นของกระบวนการปรองดอง
•กติกาการเข้าสู่อำนาจรัฐที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ร่วมกัน เช่นระบบการเลือกตั้งที่ปราศจากการซื้อเสียงและใช้อิทธิพลใดๆ และความโปร่งใสของกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่าง ๆ
•การตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐของผู้แทนประชาชน องค์กรอิสระ และสถาบันทางการเมืองต่างๆ
•การขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ภาคเอกชน ตลอดจนในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม
•โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อต่อการสร้างความเป็นธรรมในการจัดสรรและเข้าถึงทรัพยากรในสังคม เช่น การปฏิรูปที่ดิน ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา
•กระบวนการยุติธรรมที่สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่าจะได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
๖. ประเด็นสำคัญที่ต้องทำคู่ก้นคือการที่พรรคการเมืองและคู่ขัดแย้งต้องประกาศเจตนารมณ์ในทางการเมืองในการยินยอมเข้าสู่กระบวนการพูดคุยเจรจาโดยใช้เวทีกลางนี้ และเมื่อได้กรอบที่ชัดเจนแล้วต้องมีการประกาศเป็นสัญญาประชาคมว่าจะสร้างความปรองดองขึ้นภายในประเทศและประกาศชูนโยบายปฏิรูปประเทศในแต่ละด้านอย่างชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้แสดงเจตนารมน์ทางการเมืองของตนผ่านการเลือกตั้ง
นอกจากนี้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องประกาศเป็นสัญญาประชาคมอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลและรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นรัฐบาลและรัฐสภาแห่งการเริ่มต้นกระบวนการปรองดองและการบูรณะปฏิสังขรณ์ความเสียหายของประเทศด้วยการดำเนินการปฏิรูปประเทศและปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง เมื่อได้ความชัดเจนของการปฏิรูปแล้วก็ให้มีการยุบสภาและเลือกตั้งตามกติกาใหม่โดยทันที
๗. หลักประกันหนึ่งต่อสังคมว่าการปฏิรูปประเทศไทยจะเกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรมตามเจตนารมณ์ของประชาชน คือการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษภาคประชาชนขึ้นเพื่อติดตามตรวจสอบภายหลังการเลือกตั้งว่ารัฐบาลได้ดำเนินการตามสัญญาประชาคมที่ได้ตกลงกันไว้หรือไม่อย่างไร ผมอยากเรียกร้องให้ประชาชนที่สนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของแต่ละฝ่ายได้ใช้ความอดทน อดกลั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ซึ่งจะทำให้สถานการณ์มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และขอให้หันหน้ามาร่วมกันเพื่อเรียกร้องและผลักดันให้เกิดการจัดทำสัญญาประชาคมทางการเมืองเพื่อการสร้างความปรองดองขึ้นภายในประเทศ และเพื่อการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อนำไปสู่การสร้างคุณประโยชน์ให้แก่มวลมหาประชาชนอย่างแท้จริง
๘. หลายคนมองความขัดแย้งที่ผ่านมาว่าสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อประเทศไทย ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ภาพลักษณ์ ตลอดจนความรู้สึกของความเป็นเพื่อนร่วมชาติเดียวกัน แต่หากเราเรียนรู้จากประสบการณ์ของนานาประเทศก็จะพบว่าการพัฒนากฏกติกาในด้านประชาธิปไตย การเมือง การปกครองและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ล้วนกำเนิดมาจากความโกรธและความเคียดแค้นต่อความอยุติธรรมและความไม่เป็นธรรมต่างๆ แต่ในที่สุดประสบการณ์ที่เลวร้ายได้ถูกนำมาใช้อย่างสร้างสรรค์ให้สังคมได้พัฒนาทั้งในกฏกติกาและความสำนึกร่วมกันของประชาชน
ผมอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้งเปลี่ยนพลังแห่งความขัดแย้งให้เป็นพลังแห่งความสร้างสรรค์อันจะทำให้ทศวรรษที่ผ่านมามิใช่เวลาแห่งความสูญเปล่า แต่เป็นห้วงเวลาแห่งการบ่มเพาะความเข้มแข็งให้สังคมไทยก้าวกระโดดสู่การเป็นสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง