ขุดงานวิจัย วป.รอ.“บิ๊กตู่”สะท้อนท่าทีต่อ“สุเทพ-กปปส.”?
ย้อนปูมหลังงานวิจัย วป.รอ.พล.อ.ประยุทธ์ กลางกระแสร้อนก่อนกรณีผู้ชุมนุมเดินขบวนโค่นยิ่งลักษณ์ ยกกฎหมาย“แตกแยกทางความคิด-ไม่เชื่อมั่นระบบการเมือง”เป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่
ในช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กลุ่มผู้ชุมนุมนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ตั้งคำถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ว่าจะเลือกยืนอยู่ข้างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือ ประชาชนที่ออกมาขับไล่รัฐบาล คำตอบที่ได้รับคือกองทัพเลือก“อยู่ข้างประเทศ” (บางคนมองว่าเป็นวาทกรรม)
กระนั้น มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง สะท้อนแนวคิดทางด้าน“ความมั่นคง”ของผู้นำกองทัพคนปัจจุบัน
งานวิจัยชิ้นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำในช่วง เรียนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 20 ปีการศึกษา 2550-2551 ขณะมีตำแหน่ง เสนาธิการทหารบก และถูกจัดพิมพ์โดยสมาคมรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชื่อว่า กองทัพไทยกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ NON-TRADITIONAL THREATS
พล.อ.ประยุทธ์ได้จัด ความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคม และ ความไม่เชื่อมั่นต่อระบบและสถาบันการเมือง อยู่ในประเภทหนึ่งของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ส่งผลกกระทบต่อความมั่นคงของไทยด้วย
ส่วนหนึ่งระบุว่า ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ ที่ได้ให้คำนิยามและแบ่งประเภทของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ชัดเจน จนกระทั่งประมาณต้นปี พ.ศ.2550 หน่วยงานด้านความมั่นคงได้มีการตื่นตัวอย่างสูงในความพยายามที่จะกำหนดกรอบแนวคิดเรื่องภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ดังนั้นสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. จึงได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ ฉ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่๔) พ.ศ.๒๕๔๓ นายกรัฐมนตรีได้ออกกฎกระทรวง ตามข้อ ๑ วงเล็บให้ สมช. มีอำนาจในการกำหนดประเภทของภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ส่งผลกกระทบต่อความมั่นคงของไทย ๙ ประการ คือ
(๑) ความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคม
(๒) ความไม่เชื่อมั่นต่อระบบและสถาบันการเมือง
(๓) การขาดการสมดุลของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(๔) ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและโรคระบาด
(๕) ความมั่นคงในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
(๖) การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ
(๗) แรงงานต่างด้าว และผู้หลบหนีเข้าเมือง
(๘) ยาเสพติด
(๙) ความยากจน
พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า แนวโน้มภัยคุกคามรูปแบบใหม่จะเป็นภัยที่มีความซับซ้อน หลากหลายมิติร่วมกัน และจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ภัยคุกคามนี้จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของสังคมไทยโดยตรง เฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความมั่นคงของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคให้ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างปัญหารากเหง้าของประวัติศาสตร์และปัญหาการ่อการร้าย ซึ่งมีความเชื่อมโยงของผู้ก่อการร้าย อาชญากรรมและขบวนการค้ายาเสพติดทั้งในประเทศและนอประเทศ ทั้งนี้การป้องกันและแก้ไขภัยคุกคามรูปแบบใหม่ของรัฐบาลปัจจุบันมีลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่มีองค์กรที่ชัดเจนรับผิดชอบบูรณาการ นโยบาย ยุทธศาสตร์ และการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถป้องกัน ยับยั้ง และแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าได้อย่างมีระบบตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยที่ร้ายแรง สังคมไทยอาจจะต้องตกอยู่ในสภาวะระส่ำระสาย เสียขวัญ จนขยายวงกว้างไปสู่ความมั่นคงด้านอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือ ในขณะที่มีกลุ่มก่อการร้ายโจมตีด้วยการลอบวางระเบิดหลายๆ จุดพร้อมกันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และกลุ่มก่อความไม่สงบภาคใต้ให้รุนแรงขึ้นอีก ในสถานการณ์วิกฤตร้ายแรงเช่นนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กองทัพไทย ซึ่งเป็นกลไกทางด้านความมั่นคงของรัฐบาล ที่มีขีดความสามารถและศักยภาพสูงในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในลักษณะภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เป็นองค์รวม(Holistic) จะได้เตรียมปรับบทบาทและโครงสร้างการจัดของกองทัพให้เหมาะสม เพื่อเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เฉียบพลันในอนาคตอันจะทำให้กองทัพได้เป็นที่พึ่งและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้นต่อสังคมไทย
และได้ตั้งข้อสังเกตว่า
(๑)ความแตกแยกของคนในสังคม สถานการณ์ระดับใด? ที่จะสามารถประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ได้ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคน ๒ กลุ่มที่ขัดแย้งกันกำลังเริ่มทำร้ายซึ่งกันและกันจนได้รับบาดเจ็บ และมีการสูญเสียชีวิต กรณี กลุ่ม นปช. ปะทะกลุ่มพันธมิตรฯ จนมีผู้เสียชีวิต ๑ คน เมื่อ ๑๐ ก.ย. ๕๑ บทเรียนครั้งนี้ชี้ชัดว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ไม่สามารถกระทำได้ทันท่วงทีจนกระทั่งต้องมีการประกาศ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ภายหลังเหตุการณ์ ๑ วัน ซึ่งไม่ทันการณ์แล้ว
(๒)ปัญหาความไม่เชื่อมั่นต่อระบบและสถาบันทางการเมือง ก็เช่นเดียวกับสถานการณ์ตาม (๑) มีคำถามต่อไปว่า ความเชื่อมั่นในระดับใด? ที่จะสามารถประกาศ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ได้ อย่างเช่น กรณีการไม่เชื่อมั่นในอำนาจบริหารของรัฐบาล จนกระทั่งมีการยึดทำเนียบรัฐบาล มันเกินเลยอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ไปแล้ว
(๓)ประเด็นปัญหาความไม่สงบ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีประโยชน์ในการจัดตั้ง กอ.รมน. โดยมีกฎหมายรองรับชัดเจน ทำให้สามารถวางระเบียบ กฎ และข้อบังคับได้ ตามมาตรา ๑๐ อีกทั้งยังสามารถสานงานต่อตามมาตรา ๒๕ และ ๒๖ ซึ่งเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๐๕/๒๕๔๙ เรื่องการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในและคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ ๒๐๗/๒๕๔๙ เรื่อง การบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในส่วนของ พตท. ไม่มีปัญหา สำหรับประเด็นการบังคับกฎหมายตาม พ.ร.บ. ความมั่นคงฯอาจจะได้ผลน้อย เพราะสถานการณ์ภาคใต้เป็นการใช้ความรุนแรงเกินจากระดับที่ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ระบุไว้ และอยู่ในขั้นของ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ และ พ.ร.บ. กฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ ไปแล้วอีกประการหนึ่ง บทลงโทษก็น้อย ตามที่มาตรา ๒๔ มีเพียง “ระวางโทษไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้สัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญ ๗ คน คือ
๑.นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ขณะนั้น)
๒.นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงาน (ขณะนั้น)
๓.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ขณะนั้น)
๔.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
๕.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ขณะนั้น)
๖.นายถวิล เปลี่ยนศรี รองเลขาฯ สมช. (ขณะนั้น)
๗.พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ขณะนั้น)
ปัจจุบันผู้ถูกสัมภาษณ์ ๒ ใน ๗ คน เป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว
แม้งานวิจัยชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ไปก่อนหน้านี้ แต่ยังน่าสนใจ ในแง่หากนำมาเปรียบเทียบกับ“ท่าที”ปัจจุบันของ พล.อ.ประยุทธ์
ขอบคุณภาพประกอบจาก : เว็บไซต์เรารักกองทัพบก