ดัชนีเชื่อมั่น ศก.ชายแดนใต้พุ่ง ประชาชนจับจ่ายคึก-เหตุรุนแรงลด
กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุนของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายการพัฒนาพื้นที่
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เริ่มจัดทำครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ค.2556 โดยพิจารณาจาก 5 องค์ประกอบ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ ผลประกอบการ การขยายกิจการ การจ้างงาน และสถานการณ์ในภาพรวม โดยให้น้ำหนักเท่ากันทุกองค์ประกอบ
ประเด็นที่น่าพิจารณาก็คือ ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุนของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับดี ทั้งๆ ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 มีแนวโน้มเป็นบวกและมีทิศทางดีกว่าอีกหลายๆ จังหวัดของประเทศไทย โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ
รายงานของกระทรวงพาณิชย์ที่จัดทำร่วมกับ ศอ.บต. ระบุว่า ภาวะการค้าการลงทุนของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ซึ่งหมายถึงเดือน ต.ค.ถึง ธ.ค.2556 มีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องจากการจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจและการจัดกิจกรรมในงานเทศกาลต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กิจกรรมชกมวยไทยไฟต์ เทศกาลกินเจ เทศกาลฮารีรายอ และงานประเพณีชักพระ เป็นต้น ประกอบกับภาครัฐได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลและกิจกรรมดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัย ส่งผลต่อเนื่องทำให้ความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ต.ค.2556 อยู่ที่ระดับ 44.1 ขณะที่ ก.ย.2556 อยุ่ที่ 37.8 และคาดการณ์ว่าดัชนีความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
เมื่อเปรียบเทียบดัชนีความเชื่อมั่นฯของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการของจังหวัดอื่นๆ ประจำเดือน ต.ค.2556 พบว่าดัชนีฯของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในลำดับต้นๆ สูงกว่า จ.ปทุมธานี จ.สงขลา สุราษฏร์ธานี และสมุทรปราการ
คาด 3 เดือนข้างหน้าดัชนีฯพุ่งต่อ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำเดือน ต.ค.2556 ซึ่งจัดทำเป็นครั้งที่ 6 จากผู้ประกอบการจำนรวน 615 รายนั้น พบว่า ดัชนีฯได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 44.1 (เดือน ก.ย.อยู่ที่ 37.8) แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นด้านการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลกินเจ เทศกาลฮารีรายอของชาวไทย-มุสลิม และงานประเพณีชักพระ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
ประกอบกับมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่เพื่อท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลเหล่านี้มากขึ้น กระตุ้นให้การค้าขายในพื้นที่ขยายตัว ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์ทางการค้าในพื้นที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อน ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในธุรกิจเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯยังต่ำกว่าระดับเส้น 50 ที่เป็นค่ากลาง
ผู้ประกอบการยังคาดการณ์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 41.6 เป็น 45.3 เนื่องจากการสนับสนุนจากภาครัฐบาลที่ส่งเสริมให้การค้าและการลงทุนขยายตัวขึ้น กระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมในพื้นที่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากกว่าเดิม
อานิสงส์"เทศกาล"ทำ ศก.คึก
ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ยังมีตัวชี้วัดอีกหลายตัวที่น่าสนใจ เริ่มจาก ภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่โดยรวม ผู้ประกอบการเห็นว่า เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อน เนื่องจากอยู่ในช่วงหลายเทศกาลดังที่กล่าวแล้ว และยังคาดการณ์ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจในพื้นที่จะสามารถขยายตัวได้อีก สืบเนื่องจากช่วงเทศกาลที่ส่งเสริมให้เกิดการค้ามากขึ้น อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ในภาพรวม
ด้านผลประกอบการ จากภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ดีขึ้น ส่งผลให้ภาวะธุรกิจของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนตามไปด้วย สถานการณ์ทางการค้าในพื้นที่ขยายตัวขึ้น ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการที่ผู้บริโภคออกมาจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในธุรกิจ และคาดการณ์ถึงสถานการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่าธุรกิจจะยังคงดีขึ้นและมีแนวโน้มขยายตัว
เล็งขยายกิจการ-จ้างงานเพิ่ม
ด้านการขยายกิจการ ผู้ประกอบการในพื้นที่มีการขยายการลงทุนของธุรกิจเพิ่มขึ้นกว่าเดือนก่อน เนื่องจากสถานการณ์ทางการค้าในพื้นที่ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการขยายการลงทุนเพิ่มเพื่อรองรับการออกมาจับจ่ายของประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการคาดการณ์ถึงการขยายการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่า สถานการณ์การลงทุนยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องต่อไป สืบเนื่องจากภาพรวมทางการค้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น
ด้านการจ้างงาน อยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สถานการณ์ทางการค้ามีแนวโน้มดีขึ้น ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในสถานการณ์มากขึ้น จึงทาการลงทุนในธุรกิจเพิ่ม มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลประชาชนในพื้นที่ว่างงานน้อยลงและมีรายได้เพิ่มขึ้น สถานการณ์ทางการค้าในพื้นที่จึงดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการคาดการณ์ถึงการจ้างงานในธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่า การจ้างงานของธุรกิจจะชะลอลงเล็กน้อย จากการขาดแคลนแรงงานและพ้นช่วงเทศกาลต่างๆ แล้ว
มั่นใจมาตรการ รปภ.-เจรจาทำป่วนลด
ด้านสถานการณ์ในพื้นที่ ผู้ประกอบการมีความเห็นว่าสถานการณ์ด้านความมั่นคงในพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าเดือนก่อน เนื่องจากการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของฝ่ายความมั่นคงในช่วงเทศกาลต่างๆ รวมทั้งความคืบหน้าของการพูดคุยเจรจาเพื่อลดเหตุรุนแรงระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ทำให้สถานการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า เหตุการณ์ความไม่สงบยังมีแนวโน้มลดลงได้อีก เชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ ในพื้นที่จะดีขึ้น ประชาชนจะออกมาจับจ่ายใช้สอยและอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข
คาดอีก 3 เดือนข้างหน้าสถานการณ์ดีขึ้น
สำหรับตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและด้านความมั่นคง พบว่า ในเดือน ต.ค.2556 ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจอยู่ที่ 43.5 ขณะที่ดัชนีด้านความมั่นคงอยู่ที่ 44.8 ซึ่งสูงกว่าดัชนีในเดือน ก.ย.ที่มีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 36.2 และ 35.4 ตามลาดับ แสดงว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากการออกมาใช้จ่ายซื้อสินค้าของประชาชน นอกจากนั้นผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย และการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบลดระดับลงดังที่กล่าวแล้ว
นอกจากนี้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการคาดการณ์ในเชิงบวกว่าสถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นจาก 41.5 เป็น 44.9 และดัชนีความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงจะเพิ่มขึ้นจาก 42.1 เป็น 46.9 (ดูกราฟฟิกประกอบ) เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในช่วงการส่งเสริมให้เกิดการค้าและการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากจังหวัดใกล้เคียงและจากต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซีย เข้ามาท่องเที่ยวและใช้จ่ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น
ผู้ประกอบการในพื้นที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจชายแดนใต้จะยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง และคาดว่าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จะลดระดับลงอีก ทั้งจากการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยของฝ่ายความมั่นคง และความคืบหน้าการพูดคุยสันติภาพ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกจากฝ่ายศิลป์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ที่มา : รายงานดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่จัดทำโดยกระทรวงพาณิชย์ กับ ศอ.บต.