คปสม. แจงเหตุที่ควรปฎิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง และมีสภาพลเมือง
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) ก่อตั้งปี พ.ศ. 2549 โดยการรวมตัวกันของชาวบ้าน 480 ชุมชนจาก 18 เครือข่ายย่อยทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหา “ ไม่ได้รับความเป็นธรรม และเป็นความเหลื่อล้ำในสังคม “ ทั้งด้านความขัดแย้งเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย ด้านทรัพยากรเหมืองแร่ กลุ่มชาติพันธ์ ( ชาวเล ) และกลุ่มคนไร้สัญชาติ ( ไทยพลัดถิ่น ) ซึ่งส่วนใหญ่เสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อ ถูกจับดำเนินคดี ถูกละเมิดสิทธิชุมชน หรือ เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานแม้จะอาศัยมาเป็นเวลายาวนาน
เครือข่าย คปสม. ผลักดันการแก้ปัญหาต่อรัฐบาลทุกรัฐบาล ผ่านมาแล้ว 6 รัฐบาล ซึ่งเป็นทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตามระบอบประชาธิปไตย และรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร
ทั้ง 6 รัฐบาลมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมกับภาคประชาชนในการแก้ปัญหามากกว่า 50 ชุด มีอนุกรรมการฯ กว่า 100 ชุด และมีคณะทำงานฯ กว่า 200 ชุดมาแล้ว แต่ปัญหาชาวบ้านยังไม่ได้รับการแก้ไขให้บรรลุผลในทางกฎหมายและนโยบาย เป็นเพียงแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นรายๆ และมีหลายกรณีปัญหาที่มีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น อาทิเช่น การฟ้องขับไล่ชาวเลที่เป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่อยู่มานานกว่า 200 ปี ซึ่งเป็นผลให้ “ เอกสารสิทธิที่ออกมิชอบ อยู่เหนือสิทธิชุมชนดั้งเดิมที่ระบุในรัฐธรรมนูญ” หรือ คนไทยพลัดถิ่นถูกตำรวจจับกุม ทั้งที่มีกฎหมายคืนสัญชาติแล้ว แต่กรมการปกครองทำงานล่าช้า เป็นต้น
การไม่แก้ปัญหาและการแก้ปัญหาไม่ได้ ของระบอบและกลไกที่มีอยู่ เป็นไปในลักษณะ “ ซื้อเวลา “ เนื่องจากสาเหตุหลายประการ ทั้ง การไม่มีนโยบาย การติดขัดระเบียบ /กฎหมาย ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน ไม่อาจแก้ปัญหาโดยฝ่ายใดผ่ายหนึ่งได้ จึงมีข้อเสนอกับสังคมดังนี้
1. ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจประเทศไทยใหม่ โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีอำนาจถ่วงดุลโดยประชาชนโดยตรง คือ มีอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ และสภาพลเมือง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2. ปฏิรูประบบรัฐสภาโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง จากสามส่วน คือ
ผู้แทนกลุ่มอาชีพ ผู้แทนกลุ่มประเด็น ผู้แทนจากพื้นที่จังหวัดตามสัดส่วนประชากร
3. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม / การพิจารณาคดีความ รวมทั้งให้มี พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม
4. ปฏิรูประบบบริหารราชการ โดยการกระจายอำนาจไปสู่จังหวัด โดย 1).การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค 2).การจัดเก็บภาษีให้เป็นรายได้ของจังหวัดและส่งส่วนกลาง 30 % 3).กระจายการบริหารจัดการทรัพยากรให้จังหวัดจัดการตนเอง และ 4).ให้เป็นตำรวจท้องถิ่น
5. ปฏิรูปให้มีสภาพลเมืองที่เป็นอำนาจหน้าที่ เสนอแผนการพัฒนาประเทศ หรือ กฎหมายภาคประชาชนหรืออื่นๆตามมติสมัชชาสภาพลเมือง และ/หรือมีอำนาจยับยั้ง หรือคัดค้านนโยบาย แผนการพัฒนา หรือกฎหมายที่ส่งผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง เมื่อผ่านสมัชชาสภาพลเมืองให้ถือเป็นกฎหมาย หรือนโยบายที่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ