เหยื่อกระสุนไร้เดียงสา "มูซา สะมะแอ" กับเรื่องแย่ๆ ของการละเลยเด็กเหยื่อไฟใต้
"ลูกชอบให้นอนกอดกันตลอด เราไม่เคยห่างกัน เห็นหน้าเขาแล้วสงสาร ลูกบอกว่าเจ็บ หมอต้องมัดมือไว้ เพราะกลัวเขาไปแกะสารพัดสายที่ใส่ไว้ (สายส่งอาหาร เครื่องช่วยหายใจ) ตอนนี้ยังเข้าเยี่ยมได้แค่บางเวลา แต่เฝ้าในห้องไม่ได้ เพราะต้องรอดูอาการให้ปลอดภัยก่อน"
เป็นเสียงของ ซอบรียาห์ สะมะแอ วัย 31 ปี ครูโรงเรียนเทศบาล 3 บ้านปาตาตีมอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ที่กล่าวขณะก้มลงกอดลูกชายตัวน้อยบนเตียงคนไข้ เพื่อกล่อมให้หลับและลืมความเจ็บปวดด้วยความรู้สึกสงสารจับใจ
ลูกชายของ ซอบรียาห์ ชื่อ มูซา อายุแค่ 2 ขวบ แต่เขาต้องประสบชะตากรรม ถูกยิงจนบาดเจ็บสาหัส ลำไส้ทะลัก ขณะที่คนร้ายรัวกระสุนหวังสังหารบิดาของเขา มะนูซี สะมะแอ อดีตทหารพราน ขณะนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์ที่บิดาเป็นคนขับในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ทำให้ทั้งมูซาและพ่อได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ต่อมาผู้เป็นบิดาทนพิษบาดแผลไม่ไหว สิ้นใจที่โรงพยาบาล เหตุเกิดเมื่อค่ำวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา
เหตุร้ายครั้งนี้นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เด็กและเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ไม่ใช่เหยื่อทางอ้อมในลักษณะต้องเป็นกำพร้าเพราะพ่อหรือแม่ถูกยิงเสียชีวิต แต่เป็นเหยื่อทางตรง คือ ถูกยิงเจียนตาย...
แพทย์ได้ผ่าตัดช่วยชีวิตหนูน้อยจนพ้นขีดอันตราย และต้องนอนอย่างเดียวดายอยู่ในห้อง ไอ.ซี.ยู. โรงพยาบาลปัตตานี ขณะที่ ซอบรียาห์ ผู้เป็นแม่ เพิ่งจัดงานศพสามีเสร็จตามพิธีกรรมทางศาสนา เธอต้องเก็บงำความเศร้าโศกเอาไว้ เพราะยังมีลูกชายวัย 2 ขวบอีกคนที่ต้องดูแล
ซอบรียาห์ แต่งงานกับ มะนูซี เมื่อปลายปี 2553 มีลูกด้วยกัน 1 คน คือ มูซา เมื่อปลายปี 2554 ชีวิตที่ผ่านมาของเธอและมะนูซีมีเวลาอยู่ด้วยกันน้อยมาก ด้วยอาชีพทหารพรานของเขาที่ได้ลาพักกลับบ้านเดือนละครั้งเดียวเท่านั้น ครั้งละแค่ 6-7 วัน ทำให้ ซอบรียาห์ ใกล้ชิดกับลูกมากเป็นพิเศษ เพราะต้องอยู่ด้วยกันสองคนเกือบตลอด กระทั่ง 3 เดือนที่ผ่านมานี้เอง มะนูซีตัดสินใจลาออกจากการเป็นทหารพราน แล้วกลับไปอยู่บ้านกับลูกเมีย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ ซอบรียาห์ บอกว่าดีที่สุดในชีวิต
"บ้านของเรากำลังจะสร้างเสร็จ เขาตัดสินใจลาออกหลังจากที่เราขอร้องให้ออกมานาน ให้กลับมาอยู่บ้านกับลูกเมีย ดูแลลูก เขาทำงานบ้านได้ทุกอย่าง ยกเว้นรีดผ้าที่เขาบอกว่าไม่ชอบเลย ส่วนฉันเป็นครู ไปสอนหนังสือทุกวัน กลับมาจากทำงาน สามีจะทำของกินรอไว้ เป็นช่วงเวลาที่เราได้อยู่ด้วยกันอย่างเต็มที่หลังจากแต่งงานกันมา มูซาก็เริ่มปรับตัว ติดพ่อ เวลาพ่อจะไปละหมาดที่มัสยิดเขาจะร้องตามไปด้วย พ่อก็พาไปโน่นไปนี่ ชีวิตกำลังจะลงตัว แต่เขาก็มาจากไปเสียก่อน"
"มูซา" ไม่ใช่เด็กคนแรกที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบยืดเยื้อยาวนานมาเกือบ 10 ปีเต็ม ที่ผ่านมามีเด็กและเยาวชนถูกลูกหลงจากความรุนแรงรูปแบบต่างๆ จำนวนไม่น้อย ทั้งกระสุนปืนและสะเก็ดระเบิด บางคนยังเป็นเจ้าชาย-เจ้าหญิงนิทรา บางคนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจไปตลอดชีวิต แต่ดูเหมือนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังให้ความสำคัญกับปัญหานี้น้อยมาก
ศุภวรรณ พึ่งรัศมี ประธานธาดานุสรณ์ องค์กรแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า ในพื้นที่ขณะนี้จะเห็นได้ว่ามีข่าวเด็กได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเยอะมาก แต่ไม่มีหน่วยงานไหนลงมาทำงานเรื่องเด็กโดยตรง ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลที่ชัดเจน มีแต่ข้อมูลของผู้ใหญ่ ทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเลขเด็กที่ได้รับผลกระทบจนถึงขณะนี้มีเท่าไร แต่ทุกคนรู้ว่ามีเด็กที่ประสบปัญหาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจิตใจ การวางตัวในสังคม เพราะอย่าลืมว่าเด็กที่ประสบความรุนแรง จะมีปัญหาพอสมควร โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ สมาธิ จากเด็กที่ตั้งใจเรียนเมื่อพบความรุนแรงจะกลายเป็นเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียนเลย
"ความรุนแรงที่เกิดกับเด็ก จุดอ่อนที่เห็นได้ชัดคือ ปัจจุบันไม่มีตัวเลขว่าเด็กที่ประสบปัญหาหรือตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจริงๆ มีเท่าไร นี่ยังไม่นับข้อมูลเชิงลึกว่าพวกเขาและเธออยู่กันอย่างไร มีสภาพจิตใจเป็นอย่างไรบ้าง เด็กหลายคนต้องสูญเสียพ่อหรือแม่หรือทั้งสองคนจากเหตุรุนแรง เรื่องแบบนี้ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กในพื้นที่เป็นอย่างมาก เหตุการณ์ความสูญเสียหลายเหตุการณ์ทำให้เด็กบางคนกลายเป็นเด็กพิการ บางคนยังมีลูกกระสุนฝังในตัว เพราะยังผ่าไม่ได้ เนื่องจากอย่างน้อยต้องรอถึงอายุ 9 ขวบจึงจะผ่าได้ อย่างนี้เป็นต้น"
ศุภวรรณ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ลอบยิงอดีตทหารพรานที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี (กรณีของมูซา) ถ้าผู้ใหญ่ไม่รู้จักวิธีเยียวยาเด็ก ต่อไปเด็กอาจแสดงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิมได้หลายแบบ เช่น โยเย ร้องไห้ หวาดกลัว เกาะติดแม่ไม่ปล่อย ซึ่งเป็นพฤติกรรมของเด็กเวลาที่รู้สึกไม่ปลอดภัย แต่เด็กกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมมากกว่าปกติ หากผู้ดูแลไม่เข้าใจก็จะรู้สึกรำคาญ เมื่อรำคาญก็ทำให้เด็กไม่รู้สึกถึงความอบอุ่นปลอดภัย เด็กจะเกิดความด้านชา ฉะนั้นผู้ใหญ่ที่เข้าไปดูแลเด็กในส่วนนี้ต้องเข้าใจพัฒนาการของเด็ก เข้าใจพฤติกรรม หลังจากเด็กเจอบาดแผลในชีวิต ต้องคอยประคับประคองให้เด็กยืนหยัดในสังคมให้ได้
"เด็กวัยนี้สิ่งที่เขาต้องการคือความปลอดภัย การที่เขาเจอเหตุการณ์ถูกยิงและสูญเสียพ่อไปด้วย เขาต้องสูญเสียความรู้สึกที่ปลอดภัยไป ฉะนั้นผู้ใหญ่ที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ไม่เพียงแค่แจกของ แต่ต้องทำให้รู้สึกถึงความปลอดภัย มั่นใจที่จะยืนอยู่ในสังคมนี้ได้แบบมองโลกในแง่ดี" ศุภวรรณ กล่าว
เธอบอกด้วยว่า เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น โดยมากจะส่งผลกระทบกับเด็กทันที ไม่ว่าจะเป็นการคบเพื่อน การปรับตัว การมองโลก การยืนอยู่ในสังคม บาดแผลในใจจะไปปิดกั้นความคิดดีๆ ของเด็ก จริงอยู่ว่าเวลาจะช่วยทำให้บาดแผลตามร่างกายหายไปได้ แต่บาดแผลข้างในใจยังคงอยู่
"ถ้าเราไม่ช่วยเขา โตขึ้นเขาก็จะมีปัญหา เนื่องจากบาดแผลในใจยังไม่ได้รับการเยียวยา เหมือนแผลตามร่างกาย แม้จะหายแล้ว แต่เมื่อมีใครมาสะกิดก็เจ็บ ยิ่งถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง พฤติกรรมก็จะแสดงออกด้วยการใช้ความรุนแรงจะมากขึ้น เห็นได้จากเด็กผู้ชายเมื่อสูญเสียผู้นำในครอบครัว ก็จะหันไปคบเพื่อน ไปติดยา ซึ่งถ้าครอบครัวไม่เข้มแข็ง ก็จะไม่สามารถควบคุมห้ามปรามเด็กได้เลย"
"ฉะนั้นอยากเห็นการทำงานของทุกฝ่ายที่ช่วยกันอย่างเต็มที่ รวมไปถึงแนวทางที่ต้องมีหน่วยงานภาครัฐเข้าไปดูแลรับผิดชอบโดยตรง ติดตามต่อเนื่องอย่างชัดเจน แต่ขณะนี้เราไม่มีหน่วยงานที่ดูแลด้านเด็กโดยตรงเลย สิ่งที่เป็นข้อกังวลคือ เด็กจะหันไปติดยาเสพติดและใช้ความรุนแรง ฉะนั้นต้องเร่งแก้อย่างจริงจัง ก่อนที่จะสายเกินไป" ศุภวรรณ กล่าว
ถือเป็นอีกหนึ่งผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ค่อยมีใครใส่ใจ...แต่วันนี้ทุกฝ่ายไม่ควรละเลยอีกต่อไป!
---------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ซอบรียาห์ ขณะก้มกอดลูกน้อย