คปสม.ชงตั้งสภาพลเมืองถาวร เพิ่มอำนาจภาคประชาชนถ่วงดุล
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมฯ ชง 5 ข้อเสนอเปลี่ยนแปลงประเทศ หลังผิดหวังระบบการเมืองเก่าไม่แก้ปัญหา ยันต้องเพิ่มอำนาจถ่วงดุลโดยปชช. เน้นเลือกตั้งผู้ว่าฯ-ยกเลิกราชการภูมิภาค-จัดงบกลาง 30%-ตร.ท้องถิ่น
วันที่ 13 ธันวาคม 2556 เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) ออกแถลงการณ์ข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยและผู้ใช้อำนาจเพื่อการแก้ปัญหาชุมชนและสังคมว่า รัฐบาลที่มาจากทั้งทหารปฏิวัติ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในระบบการเมืองแบบเก่าประชาชนไม่ต่างอะไรกับผู้ร้องขอ และไม่นำสู่การแก้ปัญหาประชาชนโดยตรง จึงมีข้อเสนอกับสังคม ดังนี้
1.ต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจประเทศไทยใหม่ โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีอำนาจถ่วงดุลโดยประชาชนโดยตรง คือ มีอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ และสภาพลเมือง เพื่อเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2.ต้องปฏิรูประบบรัฐสภาโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง จาก 3ส่วน คือ
2.1 ส.ส. คือผู้แทนกลุ่มอาชีพ โดยแบ่งกลุ่มอาชีพของประเทศออกเป็นกลุ่ม และให้ทุกคนลงทะเบียนอาชีพตนเอง และเลือก ผู้แทนของกลุ่มอาชีพตนเอง
2.2 ส.ส.คือผู้แทนกลุ่มประเด็น โดยเครือข่ายกลุ่มประเด็นที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วกับองค์กรต่าง ๆให้รวบรวมและแบ่งกลุ่มประเด็น และเลือกผู้แทนตนเองตามสัดส่วนตามจำนวนสมาชิก
2.3 ส.ส.ผู้แทนจากพื้นที่จังหวัด โดยการแบ่งเขตตามสัดส่วนจำนวนประชากร
3.ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีระบบการเดินเผชิญสืบ โดยให้ใช้หลักฐานสังคมวิทยา มานุษยวิทยา หลักฐานความเป็นวิถีชีวิตชุมชนประกอบการพิจารณาคดี และให้มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนยุติธรรม
4.ต้องปฏิรูประบบบริหารราชการ โดยการกระจายอำนาจไปสู่จังหวัด โดย 1.การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ยกเลิกราชการส่วนผู้มิภาค ให้คงเหลือเฉพาะรัฐส่วนกลางและท้องถิ่น 2.การจัดเก็บภาษีให้เป็นรายได้ของจังหวัดและส่งส่วนกลาง 30 % 3.กระจายการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ทะเลให้จังหวัดจัดการตนเอง และ 4.ให้ตำรวจเป็นตำรวจท้องถิ่น
5.ต้องปฏิรูปให้มีสภาพลเมืองถาวรที่เป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ เสนอแผนการพัฒนาประเทศ หรือกฎหมายภาคประชาชนหรืออื่น ๆ ตามมติสมัชชาสภาพลเมือง หรือมีอำนาจวีโต้ หรือคัดค้านนโยบาย แผนการพัฒนา หรือกฎหมายที่ส่งผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง เมื่อผ่านสมัชชาสภาพลเมืองให้ถือเป็นกฎหมาย หรือนโยบายของประเทศที่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ