กปปส. vs รัฐบาลระบอบทักษิณ : ใครไปใครอยู่ โดย ศ. ดร. เขียน ธีระวิทย์
การชุมนุมใหญ่ของ กปปส. หรือ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนคนนับล้านนั้น มีผลทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์สั่นคลอน แต่ยังไม่พังทลาย การชุมนุมใหญ่ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม คงมีจำนวนคนมากกว่า 2 ล้าน (รวมทั้งที่ศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศด้วย) การชุมนุมมวลชนต่อต้านรัฐบาลทั้งสองครั้งนี้ ได้รวมพลังมวลชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
เหตุการณ์ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นความจริงว่า ระบอบทักษิณได้สร้างทุรกรรมทำร้ายจิตใจคนไทยและประเทศรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แสดงว่าระบอบทักษิณเป็นแก้วสารพัดพิษที่สามารถสื่อสารไปกระตุ้นต่อมจิตสำนึกของคนไทยทุกสาขาอาชีพและทุกวัย จนต้องร่วมใจกันออกมาแสดงพลังกำจัดระบอบทักษิณให้หมดไปจากแผ่นดินไทย
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม สส.พรรคประชาธิปัตย์ที่เหลือทั้งหมด 152 คนได้ประกาศลาออกจากการเป็นส.ส. วันรุ่งขึ้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถอยให้หนึ่งก้าวโดยการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ในแถลงการณ์ยุบสภาของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ นั้น ไม่มีข้อความใดเลยที่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบเกี่ยวกับความผิดพลาดของฝ่ายรัฐบาล แต่ยังคงมีน้ำเสียงยืนยันหลักการของระบอบทักษิณที่ทำผิดซ้ำซากในการใช้รัฐสภาที่ตนคุมเสียงข้างมากทำงานเพื่อประโยชน์ของทักษิณและพรรคพวก ทำผิดแล้วยังเถียงว่าทำถูก
กปปส.ต้องการมากกว่าการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพราะการยุบสภานั้นคณะรัฐมนตรียังคงรักษาการ ไปจนกว่าจะมีสภาชุดใหม่เข้าไปทำหน้าที่แทน กปปส.ไม่ต้องการให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีอำนาจบริหารงานการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ต้องการได้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เป็นกลางเข้าไปกำกับการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้ส.ส.และรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่คนรับใช้ทักษิณนักโทษหนีคุก
ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะมีนักการเมืองหน้าไหนที่มีจิตใจอำมหิตทำร้ายบ้านเกิดเมืองนอนของตัวได้ขนาดเดียวกับทักษิณ จึงให้อำนาจรัฐบาลที่ยุบสภารักษาการไปจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่เข้าไปแทนที่ ฉะนั้นที่ยิ่งลักษณ์อ้างว่าตนต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไปก็ไม่ผิด แต่ข้อโต้แย้งของ กปปส.ก็มีเหตุผล ปัญหาอยู่ที่ว่าคู่พิพาทจะหาทางปรองดองกันได้อย่างไร จึงถูกต้องตามครรลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเป็นที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทางเลือกมีทั้งที่ผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย
ทางเลือกที่ผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่ทำได้ตามหลักรัฐศาสตร์ คือใช้อำนาจปฏิวัติหรืออภิวัฒน์ของประชาชน ด้วยเหตุที่ว่ารัฐบาลได้ละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างร้ายแรงซ้ำซาก กลไกบังคับใช้กฎหมายก็ไม่ทำงานตามอำนาจหน้าที่ ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จึงได้พร้อมใจกันแสดงพลังยึดอำนาจคืน ทางเลือกอาจมีหลากหลาย แต่ที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน คือ การประสานงานรวมพลังของคนคุม 9 ฐานอำนาจเพื่อแก้ปัญหาของชาติ
ผู้คุมกลไกอำนาจรัฐที่สำคัญได้แก่ (1) เลขาธิการ กปปส. (2) นายกรัฐมนตรี (3) ประธานหรือรองประธานวุฒิสภา (ในฐานะประธานรัฐสภา) (4) ประธานศาลฎีกา (5) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (6) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (7) ผู้บัญชาการทหารบก (8) ผู้บัญชาการทหารเรือ และ (9) ผู้บัญชาการทหารอากาศ
ให้บุคคลทั้ง 9 นี้ ประชุมปรึกษาหารือกัน เพื่อออกแถลงการณ์ปฏิวัติ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ (1) ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และให้ร่างรัฐธรรมนูญประชาชนฉบับใหม่มาใช้แทนภายในเวลา 1-2 ปี (2) ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้จัดตั้ง”รัฐบาลประชาชน”และ”สภาประชาชน” ซึ่งประกอบด้วยใครบ้างก็แก้วแต่จะตกลงกัน (3) ข้อตกลงอื่นๆ ที่จะใช้เป็นหลักประกันความสงบเรียบร้อยในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (คล้ายๆ กับประกาศคณะปฏิวัติ)
เนื่องจากฐานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น ขั้นตอนใดที่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ให้ปฏิบัติตามประเพณีการปกครองของไทยดังที่ผ่านมา
การใช้อำนาจปฏิวัติเช่นนี้เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ “สภาประชาชน” และ “รัฐบาลประชาชน” เกิดขึ้นได้ แต่นั่นก็เป็นการขัดกับหลักการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เคยประกาศหลายครั้ง ณ เวทีการชุมนุมมวลชนต้านระบอบทักษิณ
การอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 3, 7, 69 เพื่อจัดตั้งรัฐบาลประชาชน และสภาประชาชน นั้น อาจจะต้องตีความอย่างบิดเบือน ซึ่งคนรังเกียจความเจ้าเล่ห์ของระบอบทักษิณไม่ควรทำ ต้องทำอย่างตรงไปตรงมาจึงจะสบายใจ
ทางเลือกที่ถูกรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ก็คือทำงานสานต่อจากสถานภาพของรัฐบาลและรัฐสภาที่เป็นอยู่ในขณะที่เขียนนี้ (11 ธันวาคม) ทางเลือกที่พอใช้ได้น่าจะมีดังต่อไปนี้
(1) ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการลาออกทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 (3) และให้ประธานหรือรองประธานวุฒิสภาในฐานะประธานรัฐสภา นำความกราบบังคมทูลและรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าบริหารราชการแทนในฐานะรักษาการ โดยความยินยอมเห็นชอบจากเลขาธิการ กปปส. คณะรัฐมนตรีรักษาการมีภาระหน้าที่ที่สำคัญคือการจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะฐานะ ส.ส. ของนางสาวยิ่งลักษณ์ก็สิ้นสุดไปแล้วพร้อมกับการยุบสภา
(2) ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ลาออกจากรักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะทำให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปด้วย ให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่พิจารณาแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนใหม่ หรือจะให้ผู้นำสูงสุดฝ่ายข้าราชการประจำปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีไปพลางก็ได้
(3) ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีไม่ยอมลาออก หรือไม่ถูกบังคับให้ลาออก การเลือกตั้ง ส.ส. ก็จะเป็นไปตามกฎหมาย กรณีนี้พรรคเพื่อไทยของทักษิณอาจจะอยู่หรือไปก็ได้ ขึ้นอยู่ความเคร่งครัดของเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย
ความนิยมของพรรคเพื่อไทยตกต่ำทั่วประเทศก็จริง แต่พรรคนี้ยังมีเงินแจกในการหาเสียงมากที่สุดและกล้าเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายมากที่สุด
พรรคเพื่อไทยอาจจะเข้ามาปกครองประเทศอีก ถ้าผู้บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ยังคงปล่อยให้คนทำผิดกฎหมายดังที่เป็นอยู่ในการเลือกตั้งครั้งก่อน
แต่ถ้า กปปส. จัดตั้งเป็นองค์กรภาคเอกชนออกตรวจตราสอดส่องการเลือกตั้งในฐานะเป็น “ยามเฝ้าแผ่นดิน” โดยมีเครือข่ายทั่วประเทศ เรียนรู้เรื่องกฎหมายเลือกตั้ง จับตาดูว่าใครทำผิดกฎหมาย ตั้งแต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง, ผู้สมัคร ส.ส. และบริวาร, ก.ก.ต. และตำรวจที่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย เห็นใครทำผิดกฎหมายหรือไม่บังคับใช้กฎหมาย จะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างรวดเร็วและถืงที่สุด งานนี้จะต้องเอาสื่อมวลชน สภาทนายความ และป.ป.ช. มาเป็นพันธมิตร ถ้า กปปส.ทำงานเป็นแกนนำ และขอความร่วมมือจากองค์กรมวลชนอื่นๆ อย่างมีระบบ (ควรสร้างกลไกทำงานนี้อย่างยั่งยืนด้วย) พรรคเพื่อไทย และระบอบทักษิณไปแน่ กรรมการ และเจ้าหน้าที่ ก.ก.ต. และตำรวจจำนวนมากก็จะต้องไปตามระบอบทักษิณด้วย
อย่างไรก็ตาม ผลงานของ กปปส. จะอยู่กับแผ่นดินไทยแน่นอน
(1) ประวัติศาสตร์จะจารึกว่าสามารถรวมพลทำการกู้ชาติแบบอารยะขัดขืนได้มากที่สุด สามารถสร้างพลังธรรมะกดดันยับยั้งร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างได้ผล และสามารถบีบให้ยุบสภาฝูงแกะของทักษิณไปได้
(2) สปิริตในการต่อต้านระบอบคดโกงอย่างร้อนแรงนั้น มีผลกระทบต่อการส่งเสริมคุณธรรมในหมู่ประชาชนในวงกว้างที่สุดในประวัติศาสตร์ เข้าถึงเยาวชนโดยผ่านสถาบันการศึกษา ที่เข้าร่วมงานการต่อต้านระบอบทักษิณด้วย
(3) ประชาชนรู้เรื่องการทุจริตคดโกงในรูปแบบต่างๆ ของระบอบทักษิณดีขึ้น โดยผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ในรูปแบบต่างๆ
(4) ถ้า กปปส. แปรสภาพเป็นองค์กรมวลชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐแทนประชาชน ประชาธิปไตยของไทยจะมีโอกาสพัฒนารุดหน้าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ผลที่ตามมาคือเศรษฐกิจจะดีขึ้น ประชาชนจะมีความสุขมากขึ้น
(5) เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การปรองดองก็จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เพราะทุกคนจะได้รับความยุติธรรมที่มีความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่สร้างความเสียหายให้แก่บ้านเมืองก็จะมีน้อยลง และการทำรัฐประหารก็จะหมดไปเอง