“ภัยพิบัติไทย” นักวิชาการเตือน อย่าหลงลืมยามสงบ
ดูจะเป็นเรื่องปกติอย่างน่าระอา ที่ต้องรอให้เจอโศกนาฏกรรมจึงจะหลั่งน้ำตารับภัยพิบัติ แต่ยามสงบเรามักไม่ขมีขมันเตรียมพร้อมกันเท่าไร แต่ในด้านมุมที่น่าชื่นชมคือความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเรื่องการรับมือภัยพิบัติชาติ และนักวิชาการที่ยังคงขยันออกมาส่งเสียงเตือน “ไม่ให้หลงลืม”
………………………………
ดร.สมิทธ “เตือนภัยเขื่อนแตก” วิศวกรรม กฟผ.ยังพลาด
ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ นิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกฐา “ภัยพิบัติ: สัญญาณเตือนไทย สัญญาณเตือนโลก” ในสัมมนา “ภัยพิบัติไทย ภัยพิบัติโลก: ความ (ไม่) พร้อมของประเทศไทย” จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับ บริษัทบางจาก ปริโตเลียม ว่าภัยพิบัติยังคงเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ประเทศไทยจึงต้องมีสติ ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป โดยเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์
โดยภัยธรรมชาติที่เกิดจากแผ่นดินไหวนับว่ามีความรุนแรงที่สุด เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแต่เกิดความเสียหายและผลกระทบมาก และในประเทศไทยก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เหมือนกับประเทศอื่นๆ จากรอยเลื่อที่มีพลังในจังหวัดทางภาคเหนือ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน จะเห็นว่าหลังจากเหตุการณ์สึนามิ ในปี 2547 เป็นต้นมา ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวถี่ขึ้นเรื่อยๆ
ดร.สมิทธ บอกว่ายังมีรอยเลื่อนทางภาคตะวันตกที่ยังคงมีพลังและอาจเกิดแผ่นดินไหวได้อีก ได้แก่ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ แต่กลับมีเขื่อนขนาดใหญ่สร้างทับอยู่คือเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีก อาจทำให้เขื่อนแตก ซึ่งกรณีเขื่อนแตกจากการสร้างทับรอยเลื่อนก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศจีน ซึ่งน่าเป็นห่วงถึงมาตรการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาดังกล่าว
“กฟผ.ทราบมาก่อนหรือไม่ว่ามีรอยเลื่อนอยู่ในบริเวณดังกล่าว และมีนโยบายอย่างไรต่อประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ หากเกิดกรณีเขื่อนแตกขึ้นระดับน้ำใน จ. กาญจนบุรี จะท่วมสูงกว่า 25 เมตร ชาวบ้านจะเอาตัวรอดอย่างไร จะหนีไปไหน มีการซักซ้อมการเตรียมรับมือหรือไม่?”
ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังมองภาพรวมระดับประเทศว่า นอกจากกาญจนบุรีแล้ว จังหวัดใกล้เคียงอย่างราชบุรี นครปฐม และกรุงเทพฯ ย่อมได้รับผลกระทบลดหลั่นลงมาตามระยะทาง
เสนอทางออก“ลดน้ำแล้ง-น้ำท่วม-รับมือแผ่นดินไหว”
ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กล่าวในวงเสวนาว่าปัญหาน้ำในประเทศไทยเป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่แยกส่วน โดยมองปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วมออกจากกัน
สถานการณ์ปัจจุบันที่สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง ฝนเปลี่ยนมาตกใต้เขื่อนมากขึ้น บางเขื่อนจึงเก็บกักน้ำไม่ได้อย่างเดิม แม้จะมีเขื่อนมากมาย แต่ไม่ช่วยให้การจัดการน้ำได้ เพราะยังขาดเรื่องการจัดการน้ำในชุมชน เปรียบกับการที่มีถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ แต่ไม่มีซอกซอย ก็ระบายรถไม่ได้
ดร.รอยล ยังกล่าวกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชนว่า อยากเสนอให้รัฐบาลกระจายอำนาจการจัดการน้ำสู่ชุมชน โดยเฉพาะในเขตภาคอีสาน เพราะมีพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 65 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทานเพียง 4 ล้านไร่ รองลงมาคือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคใต้ได้แก่ ชุมพร ระนอง พัทลุง และนครศรีธรรมราช
“การแก้ปัญหาเรื่องน้ำทางภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่างควรทำในรูปแบบของสระพวง คือ มีอ่างเก็บน้ำเล็กๆ ขนาด 4-5 ไร่ ในชุมชน และมีคลองเชื่อมต่อกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งใช้งบประมาณเฉลี่ยย 1.5 ล้านบาทต่อพื้นที่การเกษตร 1,000 ไร่ ”
จัดการน้ำระดับชุมชนจะแก้ปัญหาได้ทั้งน้ำแล้งน้ำท่วม เพราะมีแหล่งน้ำเก็บกักยามน้ำหลาก และอยู่รอดถึงฤดูแล้ง อีกทั้งแก้ปัญหาได้ตรงจุด เพราะมีความละเอียดมากกว่า ทั้งในแง่ความรู้และการจัดการ
ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆในแถบภูมิภาคเดียวกันแล้ว ประเทศไทยได้รับผลเสียหายจากภัยพิบัติต่ำสุด นับว่าเป็นโอกาสที่สำคัญ เพราะปัจจุบันเกิดวิฤติการณ์ด้านอาหารทั่วโลก หากมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี จะกลายจุดแข็งในภาคเกษตรกรรม ซึ่งต้องเกิดจากการร่วมมือกันทุกภาคส่วน
"เราจะมีการบริหารจัดการใหม่ภายใต้โครงสร้างเดิมได้อย่างไร หากเราต้องการให้เกิดความมั่นคงเรื่องน้ำ ทางออกคือ เราต้องมีการจัดการในระดับชุมชน ” อ.รอยล กล่าวย้ำ
ด้าน รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สถานีเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) บอกว่าอดีตเรามองแผ่นดินไหวเป็นเรื่องไกลตัว การก่อสร้างอาคารจึงไม่ได้ออกแบบรองรับ เพิ่งจะมาตื่นตัวในระยะหลัง แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจอีกมากทั้งสถาปนิก ผู้ตรวจสอบอาคาร ผู้อยู่อาศัยก็ยังไม่เห็นความสำคัญ จึงควรส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนตระหนักในปัญหาดังกล่าว
"ผู้บริโภคต้องเห็นความสำคัญก่อน แม้ว่าจะมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น รัฐบาลควรยกระดับมาตรฐานการออกแบบอาคารให้รองรับแผ่นดินไหว บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง หากเราไม่ทำวันนี้ ต่อไปอาจกลายเป็นปัญหา อย่างน้อยก็ช่วยลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”
ถึงเวลา “บูรณาการจัดการในนาทีฉุกเฉิน” สร้างสื่อกลางเตือนภัย
นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นายแพทย์อิทธิพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึง “การบริหารจัดการภัยพิบัติ”ว่าจากประสบการณ์ในฐานะผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เห็นปัญหามากมายจากการทำงานซ้ำซ้อน เช่น บางพื้นที่มีของบริจาคเกินความจำเป็น มีการเก็บข้อมูลซ้ำซ้อน การบูรณาการจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการบริจาคควรเป็นไปตามพื้นที่ที่ต้องการมากกว่า ต้องมีหน่วยงานรัฐคอยบูรณาการจัดการว่าในพื้นที่ยังขาดอะไร ส่วนผู้ประสบภัยเองต้องรู้ว่าสิ่งไหนจำเป็นไม่ใช่ว่ารับมาทั้งหมดจนแบกไม่ไหว
“เป็นสิทธิประชาชนที่จะเอาชีวิตรอดยามเกิดภัยพิบัติ แต่ปัจจุบันประชาชนรับรู้หรือไม่ว่าตนมีสิทธิที่จะทำอะไรบ้าง และรัฐมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลืออย่างไร ต้องมองว่าเป็นหน้าที่ร่วมกัน คือ หน้าที่ของรัฐ ที่จะส่งเสริมและให้ความรู้ความเข้าใจประชาชน หน้าที่ของประชาชนที่จะต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ขบวนการตระหนักรู้เหล่านี้จะเกิดขึ้นในเมืองไทยอย่างไร” นพ.อิทธิพร กล่าว
ด้าน ดร.ทวิดา กมลเวช นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่าการแก้ปัญหาของไทยเป็นการไล่ตามปัญหา คือรอให้ปัญหาเกิดก่อน จึงตามแก้ ต้องเปลี่ยนความเชื่อเรื่องความปลอดภัยใหม่ อย่าใช้คำว่า “นึกไม่ถึง” เพราะทุกวันนี้ไม่มีอะไรคาดเดาได้เลย พร้อมเสนอให้มีสื่อกลางทำหน้าที่เสนอข่าวสารเพื่อความเข้าใจตรงกัน
“ควรมีการการจัดการสื่อภัยพิบัติ ในภาวะวิกฤติ ควรมีตัวกลางที่จะคอยสื่อสารผ่านสื่อสู่ประชาชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ไม่ใช่รัฐมนตรีที่ไม่รู้เรื่องอะไร อาจเป็นสื่อมวลชน หรือคนที่ทำหน้าที่ให้ความกระจ่างกับชุมชนได้ เข้าใจทั้งเรื่องภัยพิบัติ และสื่อสารรู้เรื่อง”
อ.ทวิดา ฝากถึงนักการเมืองว่าเมื่อเป็นตัวแทนประชาชน ก็ควรทำหน้าที่ตัวแทนจริงๆให้ชาวบ้านพึ่งพาได้ ลงพื้นที่ก็อย่าทำให้คนเดือดร้อน สั่งการแต่ทำไม่เป็น ต้องเพิ่มบทบาทให้ผู้นำท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการและประสานขอความช่วยเหลือระดับพื้นที่ เพราะรู้สภาพพื้นที่ดีกว่าคนจากส่วนกลางเพราะภัยธรรมชาติมักจะเกิดในระดับท้องถิ่นก่อนเสมอ ดังนั้นต้องให้ท้องถิ่นจัดการก่อน หากเกินกำลังค่อยขยายออกไปสู่ระดับประเทศ
…………………………
กระนั้นก็ตาม “ไม่มีประเทศไหนในโลกที่จัดการภัยพิบัติได้แค่หน่วยงานเดียว คำว่าบูรณาการต้องบริหารทุกภาคส่วนจริงๆ ทั้งหน่วยงานรัฐ หน่วยงานท้องถิ่น เอ็นจีโอ ต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันทุกภาคส่วน”ดร.ทวิดา ทิ้งท้าย.