แนวทางปฎิบัติด้านนิติบัญญัติ อันเนื่องมาจากการยุบสภา
วันที่ 10 ธันวาคม 2556 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอแนวทางปฎิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะ ด้านนิติบัญญัติ
1.1 สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงทันทีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรมีผลใช้บังคับและต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน
1.2 เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะคำนวณถึงก่อนวันยุบสภาผู้แทนราษฎร 1 วัน
1.3 จะมีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 108 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย) และพระราชกฤษฎีกาได้กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
1.4 กระทู้ถามและญัตติทั้งหมดตกไป
1.5 กรรมาธิการสามัญและกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรพ้นจากตำแหน่ง
1.6 ร่างพระราชบัญญัติที่ทั้ง 2 สภาเห็นชอบแล้วและส่งให้รัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวาย ไม่ตกไป ดำเนินการต่อได้
1.7 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือบรรดาร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยหรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ตกไป
1.8 ร่างพระราชบัญญัติที่ค้างอยู่ในวาระที่ 1 วาระที่ 2 และวาระที่ 3 ไม่ว่าในชั้นสภาใด ให้ชะลอไว้ก่อน เมื่อตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้วและคณะรัฐมนตรีร้องขอต่อรัฐสภาภายใน 60 วันนับแต่วันเปิดสภา ให้ยกขึ้นพิจารณาต่อได้
1.9 วุฒิสภายังไม่สิ้นสุด แต่จะประชุมไม่ได้ เว้นแต่ประชุมเพื่อเห็นชอบการแต่งตั้ง – ถอดถอนบุคคลบางตำแหน่ง (มาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย) (รับเงินเดือนได้)
1.10 คณะกรรมาธิการของวุฒิสภาจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อื่นของคณะกรรมาธิการนั้น ๆ หรือตามที่วุฒิสภามอบหมาย และเชิญผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ไปชี้แจงข้อมูลได้ (ข้อ 98 ของข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551)
ที่มา:http://www.thaigov.go.th/th/governmental/item/81841-id81841.html