เสียงจากคนชายแดนใต้...ยุบสภาปัญหาไม่จบ หวั่นกระทบพูดคุยสันติภาพ
การตัดสินใจยุบสภาของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองในขณะนี้หรือไม่ เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายยังถกเถียงกัน
เพราะการชุมนุมและข้อเรียกร้องของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ไปไกลกว่ายุบสภาเยอะ
มุมมองจากภาคส่วนต่างๆ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประเด็นที่น่าจับตา และน่าติดตามว่าคนจากพื้นที่นี้คิดอย่างไร เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างคึกคักไม่น้อยหน้าพื้นที่อื่นตลอดช่วงที่มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลและระบอบทักษิณที่กรุงเทพฯ
ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนยังกังวลถึงผลกระทบในแง่ของความต่อเนื่องของนโยบายสำคัญของพื้นที่ โดนเฉพาะการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็น
ยุบสภากระทบนโยบายดับไฟใต้
สมพร สังข์สมบูรณ์ นักวิชาการอิสระซึ่งทำงานกับชุมชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาหลายปี มองว่า แม้นายกฯจะตัดสินใจยุบสภา แต่ปัญหาการเมืองจะยังคงมีต่อไป เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีจุดร่วมเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ไม่มีความสุขร่วมและไม่มีความทุกข์ร่วมเพื่อประเทศชาติ
ส่วนผลกระทบต่อนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น สมพร บอกว่า กระทบแน่ๆ เพราะเมื่อสถานะของรัฐบาลไม่มั่นคง เป็นแค่รัฐบาลรักษาการ ย่อมไม่มีอำนาจเต็มเหมือนตอนเป็นรัฐบาลปกติ สำหรับการพูดคุยสันติภาพที่มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ส่วนตัวไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก เพราะรู้ดีว่าเป็นการพูดคุยเจรจาเพื่อหวังผลอย่างอื่น มีผลประโยชน์แอบแฝง และไม่มีความเหมาะสมที่มาเลเซียจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก
"ในพื้นที่มีคนจำนวนไม่น้อยมองว่าการพูดคุยเจรจาเป็นส่วนเล็กๆของการแก้ปัญหาเท่านั้น เป็นรูปแบบที่ออกมาเหมือนกับรัฐต้องการให้ได้ทำ แต่ไม่ได้มองไปถึงผลสำเร็จ ฉะนั้นควรมีอะไรที่มากกว่าการเจรจาเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง อย่างจริงใจ หลักสำคัญของการเจรจาคือต้องมีความจริงใจ แต่ตอนนี้ยังหาไม่เจอ"
พูดคุยสันติภาพชะงักแน่
ฮาซัน ยามาดีบุ ประธานกลุ่มบุหงารายา องค์กรภาคประชาสังคมที่เป็นแหล่งรวมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ กล่าวว่า แม้นายกฯจะยุบสภา ปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะจุดยืนหรือปลายทางของผู้ชุมนุมที่แท้จริงแล้วคือรัฐบาลที่ปกครองประเทศไทยต้องมาจากพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น
สิ่งที่กระทบแน่นอนหลังจากยุบสภา และรัฐบาลต้องกลายเป็นรัฐบาลรักษาการ คือ การพูดคุยเจรจาระหว่างรัฐบาลกับบีอาร์เอ็น เพราะนโยบายที่เกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพนั้น พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยมีนโยบายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีแนวคิดที่จะเจรจาแบบเปิดเผย บนโต๊ะ ฉะนั้นหากพรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นรัฐบาล กระบวนการที่ทำมาอาจจะสะดุด หรืออาจปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นแบบอื่น ทั้งๆ ที่กระบวนการสันติภาพเป็นกระบวนการที่ต้องการความต่อเนื่องอย่างมาก
ยุบสภาปัญหาไม่จบ
นิธิมา ลามะ ครูสตรีจาก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส มองคล้ายๆ กันว่า แม้รัฐบาลจะยุบสภา ปัญหาก็ไม่จบอย่างที่เห็นกันอยู่ เพราะแกนนำผู้ชุมนุมไม่ต้องการแค่การยุบสภา ไม่ต้องการให้นายกฯลาออก แต่ต้องการไล่นายกรัฐมนตรีและตระกูลชินวัตรออกจากประเทศ ส่วนตัวรู้สึกว่าเท่าที่ได้สังเกตการณ์การชุมนุมมาตลอด ไม่เข้าใจว่าผู้ชุมนุมต้องการอะไรกันแน่ ไม่เข้าใจข้อเสนอทางการเมือง เพราะไม่มีความชัดเจน
ส่วนการพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาลชุดนี้ดำเนินการมานั้น นิธิมา บอกว่า จะได้รับผลกระทบแน่นอน แต่กระทบในแง่ของกระบวนการพูดคุย ไม่ได้กระทบถึงการแก้ปัญหาในพื้นที่ เพราะคิดว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพเป็นละครฉากหนึ่งที่รัฐบาลทำขึ้นเพื่อให้สังคมทั่วไปมองว่ารัฐบาลต้องการแก้ปัญหา ทำเพื่อให้ดูดี แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ต้องการแก้ปัญหาอะไร ฉะนั้นไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่หรือไป การพูดคุยจะล่มหรือไม่ ก็ไม่มีผลต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่เลย
เปลี่ยนรัฐบาลก็ยังสานต่อพูดคุย
ดร.ตายูดิน อุสมาน ประธานหลักสูตรปริญญาโทสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มองในแง่ดีว่า หลังจากที่นายกฯประกาศยุบสภา คงทำให้อะไรหลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยเฉพาะหากนายกฯยอมให้มีการตั้งสภาประชาชน แต่ตอนนี้ยังมองไม่เห็นท่าทีตรงนั้น และสถานการณ์โดยรวมก็ยังคงเปราะบาง
"สำหรับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานการณ์โดยรวมอาจรุนแรงขึ้น เพราะเมื่อมีการยุบสภา อาจทำให้การประท้วงที่กรุงเทพฯเบาบางลง และทำให้ข่าวในพื้นที่ภาคใต้ปะทุขึ้นมาใหม่อีกครั้ง"
ส่วนความคืบหน้าการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ดร.ตายูดิน มองแง่ดีเช่นกันว่า เมื่อยังมีรัฐบาลรักษาการอยู่ ก็ยังคงต้องเดินหน้าพูดคุยกันต่อไป แต่จะทำได้เมื่อไหร่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง และถ้ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในอนาคต การพูดคุยเจรจาก็คงต้องดำเนินต่อไป เพราะกระบวนการสันติภาพเป็นความต้องการของประชาชน และเป็นความต้องการของรัฐบาลทุกชุดด้วย หากทำสำเร็จก็จะเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่
"ขณะนี้การพูดคุยเจรจายังไม่คืบหน้า เพราะทาง สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทนำในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ) ยังต้องดูแลรัฐบาลในปัญหาการเมืองก่อน ขณะที่ปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาระยะยาว มีขั้นตอนและต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าจะประสบความสำเร็จ ผมยังเชื่อว่าถึงอย่างไรการพูดคุยสันติภาพก็ต้องเดินต่อไป แม้จะเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบ หรืออาจถึงขั้นเปลี่ยนตัวคณะพูดคุยสันติภาพก็ตาม"
จับตาเก้าอี้เลขาฯศอ.บต.
สำหรับการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลนั้น คือการเปลี่ยนตัวข้าราชการระดับสูงที่ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ และหนึ่งในนั้นคือเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งมีบทบาทสูงมากในการแก้ไขปัญหาในดินแดนด้ามขวานยุคนี้
"แน่นอนผมว่าถึงอย่างไรก็คงมีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการ ศอ.บต เพราะตำแหน่งนี้เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนรัฐบาล ถ้าเกิดมีรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาก็คงต้องเปลี่ยนตัวและหาคนที่สามารถทำงานเข้ากันได้ ตอบสนองรัฐบาลชุดใหม่ได้ เข้ามาทำงานแน่นอน แต่ถ้ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังอยู่ ผมคิดว่าเลขาธิการ ศอ.บต.ก็ยังน่าจะเป็นคนเดิม (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง)"
สำหรับการเมืองภาพใหญ่ ดร.ตายูดิน บอกว่า ยังคาดเดายากว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ และหากเลือกตั้งแล้ว พรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลจะเปลี่ยนขั้วหรือเปล่า เพราะการเมืองคือสิ่งไม่แน่นอน
"ท้ายที่สุดเมื่อต่างคนต่างไม่ยอม ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับกัน เหตุการณ์ความวุ่นวายก็คงมีกันต่อไป ทางออกที่ดีที่สุดคือคงต้องมีคนกลางในการเจรจาหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องยอมถอย ถ้าทำได้เมื่อไหร่สถานการณ์บ้านเมืองจะดีขึ้น"
มวลชนสามจังหวัดใต้ฮือไล่รัฐบาล
ด้านบรรยากาศการเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อวันจันทร์ที่ 9 ธ.ค.2556 ซึ่ง กปปส.นัดเดินขบวนใหญ่ทั่วประเทศเพื่อกดดันให้รัฐบาลยุบสภาและสละสิทธิไม่ทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการนั้น ปรากฏมวลชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการรวมตัวกันและเดินขบวนคู่ขนานกับที่กรุงเทพฯ
ที่ จ.ปัตตานี กลุ่มมวลชนซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการธุรกิจ และประชาชนทั่วไป จำนวนกว่า 5 พันคน ได้รวมตัวกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี เพื่อสนับสนุนการชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ตั้งเวทีปราศรัยชั่วคราวบนรถ และปราศรัยโจมตีขับไล่รัฐบาล ประกาศไม่ยอมรับการยุบสภา พร้อมเรียกร้องให้นายกฯลาออกและไม่ทำหน้าที่รักษาการโดยไม่มีเงื่อนไข
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมยังเรียกร้องให้ข้าราชการบนศาลากลางหยุดงาน ปิดประตู ปิดไฟ ลงมาร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาลด้วย ซึ่งภายหลังข้าราชการก็ได้ยอมปิดไฟ และทะยอยออกจากห้องทำงานทั้งหมด ขณะที่ นายนฤพล แหละตี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้ขึ้นเวทีชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุม จากนั้นมวลชนได้ยอมสลายตัวไปอย่างสงบ
ที่ จ.ยะลา ผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันตั้งแต่ช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 8 ธ.ค. บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดยะลา มีการตั้งเต็นท์และเวที พร้อมติดตั้งจอโปรเจกเตอร์ขนาดใหญ่เพื่อถ่ายทอดสดการชุมนุมจากเวทีราชดำเนินที่กรุงเทพฯด้วย
กระทั่งช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 9 ธ.ค. กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนกว่า 5 พันคน นำโดย นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ อดีต ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำเคลื่อนขบวนไปรอบเมืองเพื่อเชิญชวนประชาชนชาวยะลาให้หยุดทำงาน จากนั้นได้นำรถบรรทุกสิบล้อจำนวน 4 คันปิดประตูเข้า-ออกศาลากลางจังหวัดยะลา เพื่อไม่ให้ข้าราชการได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่
ที่โรงพยาบาลเบตง อ.เบตง จ.ยะลา กลุ่มพลังมวลชนจากหลายสาขาอาชีพในอำเภอ จำนวนกว่า 1 พันคน ได้รวมตัวกันและแสดงพลังของชาวเบตงในการชุมนุมคู่ขนานไปกับ กปปส.ที่กรุงเทพฯ จนกว่าจะได้รับชัยชนะ
จากนั้นมวลชนได้พร้อมใจกันเดินเท้าระยะทางเกือบ 5 กิโลเมตร เพื่อประกาศชัยชนะในขั้นต้น หลังจากทราบว่านายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา โดยได้เดินเท้าเข้าไปในเขตเทศบาลเมืองเบตง เพื่อไปรวมตัวกันที่หน้าตลาดสดเทศบาล พร้อมประกาศเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่อไป
ที่ จ.นราธิวาส กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านระบอบทักษิณจำนวนประมาณ 1 พันคน ได้ไปรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดตั้งแต่เช้า มวลชนมีทั้งครู นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ดี เมื่อทราบว่ารัฐบาลประกาศยุบสภาแล้ว มวลชนบ้างส่วนได้ทยอยเดินทางกลับ แต่ก็ยังมีมวลชนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่พอใจ แต่ต้องการเคลื่อนไหวคู่ขนานไปกับ กปปส.ที่กรุงเทพฯ จึงชุมนุมกันต่อ และเรียกร้องให้ข้าราชการหยุดงาน โดยการชุมนุมทุกจุดเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 การชุมนุมของมวลชนจำนวนมากที่ลานหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)
2 ผู้ชุมนุมนำรถสิบล้อปิดทางเข้า-ออกศาลากลางจังหวัดยะลา (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)