องค์พระบิดรแห่งรัฐธรรมนูญไทย
10 ธันวาคม เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย
สำนักข่าวอิศรา คัดลอกพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์พระบิดรแห่งรัฐธรรมนูญไทย ในหนังสือ “การเมืองเรื่องนายกฯ” ออกตีพิมพ์เมื่อปี 2517 เขียนโดย "เสน่ห์ ศรีมงคล" มานำเสนอ
ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้ลำดับความเป็นมาตั้งแต่พระมหากษัตริย์ทรงรับภาระปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ (ปิตุลาธิปไตย) สมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.1893) ราชาธิปไตย หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) จนมาถึง พ.ศ.2475 การปกครองแบบประชาธิปไตย (Democracy)
และก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะนำประวัติและผลงานบางประการทั้งดีและไม่ดีของนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยมานำเสนอ ได้มีการอัญเชิยพระราชประวัติย่อ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชยชาวไทยมาเสนอไว้ เป็นราชานุสติ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช” ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 76 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เป็นราชโอรสองค์ที่ 9 ของพระราชชนนี ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายของสมเด็จพระธรรมชนกนาถและพระราชชนนี
ประสูติเมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน 2436 เมื่อ พ.ศ. 2448 ทรงได้รับสถาปนาให้ดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชา และพ.ศ. 2468 ได้เลื่อนเป็นกรมหลวง
เมื่อโลกันต์แล้ว ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงศึกษาวิชาทหารจนจบหลักสูตร แล้วเสด็จกลับประเทศไทย ทรงดำรงตำแหน่งนายทหารคนสนิทของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ) พระบรมเชษฐาของพระองค์เอง จนได้เลื่อนพระยศเป็นนายพันเอก
เมื่อ พ.ศ. 2460 ได้เสด็จออกผนวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร และเมื่อทรงลาผนวชแล้วได้ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิง รำไพพรรณี พระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสวัสดิ์ สวัสดิ์วัฒน์วิศิษฐ์ แต่ไม่มีพระราชโอรสและพระธิดา
เนื่องจากพระองค์มีพระราชอนามัยไม่สมบูรณ์ มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนมาตั้งแต่วัยเยาว์ และทั้งพระบรมเชษฐาธิราชร่วมพระชนกชนนีเดียวกับพระองค์ก็มีถึง 5 พระองค์ ดังนั้นพระองค์จึงมิได้เคยคาดฝันที่จะได้ครองราชสมบัติมาก่อน
กระทั่งเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคต โดยไม่มีพระราชโอรสสืบราชสมบัติ พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีข้าราชการ จึงพร้อมใจกันอันเชิญพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์ มีเหตุยุ่งยากทางการเมืองและเศรษฐกิจหลายประการ ทั้งสาเหตุจากภายในและภายนอกประเทศ จึงทำให้ประเทศไทยเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งพระองค์ก็พยายามเสียสละส่วนพระองค์เข้าแก้ไข แต่เหตุการณ์ไม่ดีขึ้น จนทำให้เกิดการยึดอำนาจปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งก็เป็นความปรารถนาของพระองค์อยู่แล้วที่จะทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนให้ปกครองกันเองเยี่ยงนานาประเทศทั้งหลาย จึงไม่มีการขัดขวางใด ๆ
ดังพระราชหัตเลขาทรงมีมาจากราชวังไกลกังวลหัวหิน ถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ใจความตอนหนึ่งว่า
“...คณะทหารมีความปรารถนาจะอัญเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนคร เป็นกษัตริย์อยู่ภายใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่อาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าจลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าก็คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามรัฐธรรมนูญ....”
จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงมี พระราชหฤทัยเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ และทรงพอพระราชหฤทัยในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญอยู่ก่อนแล้ว เมื่อประชาชนต้องการจะได้รัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับพระราชดำริของพระองค์
เราจึงถือได้ว่าพระองค์เป็นผู้ทรงพระราชทานกำเนิดรัฐธรรมนูญไทย ฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และพระองค์ก็ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งประเทศสยามเป็นฉบับถาวร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งถือว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นต้นกำเนิดของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ จึงถือเอาวันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันรัฐธรรมนูญทุกปี
ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ เจ้าอยู่หัว เสด็จไปรักษาพระเนตรอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ทางรัฐบาลได้ออกกฎหมายบางฉบับที่ไม่เหมาะสม และพระองค์ทรงขอแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ
ดังนั้นพระองค์จึงทรงสละราชสมบัติทางพระราชหัตเลขาถึงรัฐบาล พลเอกพระยาพหล พลพยุหเสนานายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ว่า
“เมื่อพระยาพหล พลหยุหเสนา กับพวกได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง โดยใช้กำลังทหารในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีหนังสืออัญเชิญข้าพเจ้าให้ดำรงอยู่ในฐานะแห่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้น เพราะเข้าใจว่าพระยาพหล ฯ และพวก จะสถาปนารรัฐธรรมนูญตามแบบอย่างประเทศทั้งหลาย ซึ่งใช้ปกครองตามหลักนั้นเพื่อให้ประชาราษฎร์มีสิทธิที่จะออกเสียงในวิธีดำเนินการประเทศ และนโยบายต่าง ๆ อันจะเป็นผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไป
ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสในวิธีการเช่นนั้นอยู่แล้ว และกำลังดำริจะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยาม ให้เป็นตามรูปนั้นโดยมิได้มีการกระทบการเทือนอันร้ายแรง เมื่อมามีเหตุอันรุนแรงเกิดขึ้นเสียแล้ว และเมื่อผู้ก่อการรุนแรงนั้นอ้างว่า มีความประสงค์จะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น ก็เป็นอันไม่ผิดกับหลักการที่ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยู่เหมือนกัน
ข้าพเจ้าจึงเห็นควรโน้มตามความประสงค์ของผู้ก่อการยึดอำนาจนั้นได้ เพื่อหวังความสงบราบคาบในประเทศ ข้าพเจ้าได้พยายามช่วยเหลือในการที่จะรักษาความสงบราบคาบ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองอันสำคัญนั้นเป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นได้
แต่ความพยายามของข้าพเจ้าไร้ผล โดยเหตุที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองหาได้กระทำให้เกิดมีเสรีภาพในการเมืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นไม่ และมิได้ฟังความคิดเห็นของราษฎรโดยแท้จริง และจากรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับจะพึงเห็นว่า อำนาจที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ นั้นจะตกอยู่กับพวกพ้องเท่านั้น ไม่ได้ตกอยู่กับผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกเช่นในฉบับชั่วคราวแสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้ใดไม่ได้รับความเห็นชอบของผู้ก่อการจะไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎรเลย ฉบับถาวรได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นตามคำขอร้องของข้าพเจ้า แต่ก็ยังได้มีสมาชิกซึ่งตนเลือกเองเข้ากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครั้งหนึ่ง
การที่ข้าพเจ้ายินยอมให้มีประเภทที่ 2 ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน และชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศทั่วๆไป ไม่จำกัดว่าพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ
นอกจากนี้ คณะผู้ก่อการบางส่วนได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง จึงเกิดแตกร้าวกันขึ้นในคณะผู้ก่อการและพวกพ้องจนต้องปิดสภา และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยคำแนะนำของรัฐบาล ซึ่งถือตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น ทั้งนี้เป็นเหตุให้มีการปั่นป่วนในการเมือง ต่อมาพระยาพหล ฯ กับพวกก็กลับเข้ายึดอำนาจโดยกำลังทหารเป็นครั้งที่สอง และแต่นั้นมาความหวังที่จะให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นไปโดยราบรื่นก็ลดน้อยลง เนื่องจากเหตุที่คณะ ผู้ก่อการ มิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองอันแท้จริงและประชาชนไม่ได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะดำเนินนโยบายอันสำคัญ ๆ จึงเป็นเหตุให้ได้มีการกบฎขึ้นถึงกับต่อสู้ฆ่าฟันกันเองระหว่างคนไทย
เมื่อข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลง รัฐธรรมนูญเสียให้เข้ารูปประชาธิปไตยอันแท้จริง เพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ประชาชนคณะรัฐบาลและพวก ซึ่งกุมอำนาจอยู่บริบูรณ์ในเวลานี้ก็มิได้ยินยอม
ข้าพเจ้าได้ขอร้องให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงหลักการนโยบายอันสำคัญที่มีผลได้เสียแก่พลเมือง รัฐบาลไม่ยอม และแม้แต่การประชุมในสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องสำคัญ เช่นเรื่องคำร้องต่าง ๆ ของข้าพเจ้า สมาชิกก็มิได้มีโอกาสพิจารณาโดยถ่องแท้และละเอียดละออเสียก่อน เพราะถูกเร่งรัดให้ลงมติอย่างรีบด่วน ภายในวาระประชุมเดียว
นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายใช้วิธีปราบปรามบุคคล ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำผิดทางการเมืองในทางที่ยุติธรรมของโลก คือไม่ให้โอกาสต่อสู้ในศาล มีการชำระโดยคณะกรรมการอย่างลับไม่เปิดเผย ซึ่งเป็นวิธีการที่ข้าพเจ้า ไม่เคยใช้ในเมื่ออำนาจอันสิทธิ์ขาดยังอยู่ในมือของข้าพเจ้าเอง และข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เลิกวิธีนี้ รัฐบาลก็ไม่ยอม…
ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใดให้เป็นผู้รับราชสมบัติสืบสันติวงศ์ต่อไปตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิ์จะทำให้ตามกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยรับราชสมบัติสันติวงศ์
อนึ่งข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ใดก่อการไมสงบขึ้นในประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของข้าพเจ้า ถ้าหากมีใครอ้างใช้นามข้าพเจ้าพึงเข้าใจว่า มิได้เป็นไปโดยความยินยอมเห็นชอบหรือความสนับสนุนของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ ความตั้งใจและความหวังซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษยังได้แต่ตั้งสัตย์อธิษฐาน ขอให้ประเทศสยามตงได้ประสบความเจริญ และขอให้ประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขสบาย”…
ตลอดระยะเวลา 10 ปีแห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาไม่นานนัก แต่ก็เป็นช่วงระยะเวลาที่มีความสำคัญที่สุดในทางประวัติศาสตร์ชาติไทย การที่พระองค์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทยให้มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย และพระองค์ทรงยอมสละพระราชอำนาจให้เป็นของส่วนรวมนั้น จึงเป็นการเสียสละอย่างใหญ่หลวงยิ่งนัก จึงสมแล้วที่พระองค์ได้รับถวายการสดุดีว่า
“องค์พระบิดรแห่งประชาธิปไตยไทย” หรือ “องค์พระบิดรแห่งรัฐธรรมนูญไทย”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 ระหว่างสงครามอินโดจีน และได้รับถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในปีนั้นเอง นับพระชนมายุได้ 48 พรรษา