คำต่อคำ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร
"ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าคนส่วนใหญ่ต้องการแนวทางไหน และต้องการให้ใครมาบริหารประเทศตามแนวทางนั้น รัฐบาลใคร่ขอเชิญชวนให้ทุกกลุ่ม ทุกพรรคการเมือง ที่มีความคิดเห็นหลากหลาย ใช้เวทีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย เป็นการเสนอทางเลือกตั้งให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ"
ขอเรียนแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบว่า จากการที่ดิฉันได้หารือและรับฟังข้อคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว ดิฉันจึงได้ตัดสินใจขอพระราชทานทูลเกล้าถวายร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ด้วยเหตุผลดังนี้ 1.การยุบสภาเป็นกระบวนการตามปกติของการปกครองระบบประชาธิปไตย แบบรัฐสภา ตามที่ปรากฎอยู่ในหลายประเทศที่ใช้ระบอบนี้ ซึ่งประเทศไทยได้ยึดถือทำเนียมการปฏิบัติดังกล่าวมาโดยตลอด ดั่งจะเห็นได้จากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ บัญญัติรองรับการยุบสภาผู้แทนราษฎรไว้ และมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วหลายครั้ง พ.ศ.2539 พ.ศ.2543 พ.ศ.2549 พ.ศ.2554
2.ตามที่รัฐบาลได้เข้ารับหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2554 โดยมีภารกิจสำคัญในการแก้ไขวิกฤตการณ์ภายในประเทศหลายประการ ทั้งในเรื่องมหาอุทกภัย ผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่ผันผวน รวมทั้งการฟื้นฟุประชาธิปไตยภายในประเทศ การพยายามสร้างความปรองดอง ตลอดจนฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินการอย่างสุดความสามารถ แก้ปัญหาต่างๆจนลุล่วงไปด้วยดี
แต่อย่างไรก็ตามในประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง และถึงแม้รัฐบาลจะพยายามสร้างความเข้าใจอย่างไร ไม่ว่าจะเสนอแนวทางแก้ไข การเปิดเวทีปฏิรูปการเมือง และการเสนอให้ทำประชามติ ก็ยังมีผู้เห็นต่างและคัดค้าน ซึ่งรัฐบาลยอมรับฟัง หากการคัดค้านเป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยตามรัฐสภา แต่ปรากฏว่ามีผู้คัดค้านจำนวนหนึ่ง รวมทั้งสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน เลือกที่จะใช้วิถีทางชุมนุมต่อต้านนอกเวทีรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินบริหารการชุมนุมอย่างละมุนละม่อม และด้วยท่าทีที่ประนีประนอม อันเป็นการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นมาโดยตลอด เพื่อรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียอีก
เนื่องจากประเทศไทยเจ็บปวดมามากแล้ว วันนี้รัฐบาลได้คำนึงถึงแนวคิดที่แตกต่าง และต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นตัวแทนของประชาชนจำนวนมา รัฐบาลเห็นว่าภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เมื่อถึงจุดที่มีความคิดขัดแย้ง อาจจะนำมาซึ่งความแตกแยก และมีความรุนแรงจนอาจจะมีการสูญเสีย การคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินด้วยการยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตามหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษิตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าคนส่วนใหญ่ต้องการแนวทางไหน และต้องการให้ใครมาบริหารประเทศตามแนวทางนั้น รัฐบาลใคร่ขอเชิญชวนให้ทุกกลุ่ม ทุกพรรคการเมือง ที่มีความคิดเห็นหลากหลาย ใช้เวทีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย เป็นการเสนอทางเลือกตั้งให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
3.เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รัฐมนตรีทั้งคณะ ย่อมพ้นจากตำแหน่งไป ด้วยตามมาตรา 180 (2) แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ซึ่งกำหนดไว้ด้วยว่าคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี จะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในมาตราดังกล่าว
4.ขอให้ประชาชนทั้งหลายให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ซึ่งจะได้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงวันกำหนดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้รัฐบาลขอให้ประชาชนทำหน้าที่และใช้สิทธิเลือกตั้ง ด้วยความพร้อมเพียง ใส่ใจ และชอบธรรม เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมที่สุด ซึ่งจะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองโดยสันติ ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย