สุเทพ เทือกสุบรรณ VS ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร : ใครเป็นกบฏ
ข้าพเจ้าเคยเขียนไว้ในโอกาสต่างๆ หลายครั้งแล้วว่า ตามหลักรัฐศาสตร์ เมื่อรัฐบาลใดละเมิดกติกาสัญญาประชาคม รัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ก็เท่ากับเป็นการย้อนยุคไปใช้กฎคนป่า คนอื่นที่อยู่ภายใต้บังคับของรัฐบาลนั้นก็สามารถใช้กฎธรรมชาติของคนป่าได้เช่นกัน ถ้าสามารถจัดตั้งอำนาจรัฐใหม่ สร้างกฎเกณฑ์หรือกติกาใหม่ให้คนอื่นๆ ยอมรับได้ (ไม่ว่าจะสมัครใจหรือกลัวก็ตาม) ก็จะกลายเป็นรัฐาธิปัตย์ หรือรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย
การปฏิวัติ-รัฐประหารในไทยหลายครั้งที่ผ่านมาเป็นหลักฐานยืนยันความถูกต้องของหลักการนี้ แม้ว่าจะมีประเทศมหาอำนาจที่เป็นประชาธิปไตยบางประเทศแสดงตัวอยู่ในทีว่าไม่ยอมรับก็ตาม
รัฐบาลในระบอบทักษิณไม่ปฏิบัติตามครรลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญซ้ำซาก ส่วนมากผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายไม่ดำเนินคดี กระนั้นก็ตาม พรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชนของทักษิณก็ถูกยุบมาแล้วในปี 2550 และ 2551 ตามลำดับ โทษฐานโกงการเลือกตั้ง แต่กว่าจะผ่านขั้นตอนการดำเนินคดีจนสิ้นสุดโดยศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคนั้น พวกทักษิณก็ได้โอกาสปกครองประเทศไปพลาง รวมกันเป็นเวลา 6 ปี 5 เดือน นอกจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะประเด็นยุบพรรค ส่วนความผิดอื่นทางอาญาที่เป็นมูลเหตุนำไปสู่การยุบพรรคนั้น ไม่มีใครฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลอาญาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งก็เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้มีการชุมนุมประท้วงของขบวนการคนเสื้อเหลือง การบุกยึดทำเนียบรัฐบาล สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ การปะทะกับขบวนการคนเสื้อแดง จนเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ความเสียหายที่คนไทยได้รับนั้นเกินกว่าที่จะประเมินมูลค่าได้
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงเชิดชูระบอบทักษิณเป็นหลักในการปกครองประเทศ ยอมให้ทักษิณซึ่งเป็นนักโทษหนีคุก เร่ร่อนอยู่ต่างแดนนั้นสั่งการให้ทำผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญซ้ำซากเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ล่าสุดรัฐบาลนี้ได้ทำให้บ้านเมืองปั่นป่วน โดยทำผิดรัฐธรรมนูญอย่างฉกรรจ์ซ้ำสอง
ความผิดขั้นแรก ทำการละเมิดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ทั้งในด้านสาระและกระบวนการในความพยายามที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ จนศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยขี้ขาด เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ว่า รัฐสภาได้ทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาดว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และองค์กรอื่นๆของรัฐว่า ได้บริหารราชการไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารที่จะตัดสินว่าสิ่งที่ตนทำไปนั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
ความผิดซ้ำสอง คือ รัฐบาลและส.ส. 312 คนที่สังกัดพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรรวมอยู่ด้วยนั้นได้ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยเรื่องนี้ นอกจากนั้น รัฐบาลยังไม่ยอมรับผิดโดยไม่ยอมขอคืนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำเสนอสำนักราชเลขาธิการ เพื่อให้ทูลเกล้าฯกลับคืนมา นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ได้เร่งรีบในการนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอคำวินิจฉัยไว้แล้ว
รัฐธรรมนูญมาตรา 216 วรรค 5 บัญญัติไว้ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรอื่นๆของรัฐ”
การปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็เท่ากับเป็นการกบฏ ย้อนยุคกลับไปใช้กฎคนป่า ประชาชนจะใช้กฎป่าบ้างก็ย่อมได้
ฉะนั้น มวลชนที่ชุมนุมกันต่อต้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่เสนอโดยส.ส. ฝ่ายรัฐบาล จะหันมาต่อต้านรัฐบาลหรือขับไล่รัฐบาลระบอบทักษิณนั้น ความจริงไม่ต้องอ้างกฎหมายใดๆ มาสนับสนุนก็ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างใช้กฎป่า ข้อสำคัญอยู่ที่ใครเป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐไว้ได้เท่านั้น ฝ่ายที่สามารถคุมกลไกอำนาจรัฐ อาจจับคู่ต่อสู้มาดำเนินคดีในข้อหากบฏหรืออื่นๆ แม้จำเลยจะยกหลักการหรือทฤษฎีรัฐศาสตร์มาเป็นข้อต่อสู้ ตำรวจ อัยการ ศาล อาจจะไม่เข้าใจ และไม่รับฟัง คู่ต่อสู้จึงต้องเสี่ยงภัยเอาเอง
ในที่สุด กฎธรรมชาติก็เข้าข้างกฎคนป่า “อำนาจคือความชอบธรรม” ถ้ายิ่งลักษณ์หรือระบอบทักษิณคุมกลไกของรัฐไว้ได้ สุเทพและพรรคพวกก็คงจะถูกดำเนินคดีข้อหากบฏหรืออะไรก็ตาม ผู้สอบสวนทำสำนวนคดีเบื้องต้นก็คือตำรวจของระบอบทักษิณ อัยการผู้สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีก็ถูกระบอบทักษิณครอบงำอยู่จากเบื้องบน ศาลเท่านั้น ซึ่งผู้พิพากษาส่วนมากยังไม่ยอมขายตัว อาจจะตัดสินคดีความไปตามตัวบทกฎหมาย แต่ศาลก็ต้องพิจารณาตัดสินคดีตามสำนวนที่ตำรวจและอัยการฟ้องร้องขึ้นมา
ถ้าหากฝ่าย กปปส. (คณะกรรมการประชาชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) สามารถคุมกลไกของรัฐไว้ได้ แกนนำของ กปปส.ก็คงจะรอดจากการถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นกบฏ ตามมาตรฐานสากลก็ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะมวลชนเหล่านั้นได้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยสันติวิธี ตามสิทธิของพลเมืองที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ แกนนำของผู้ชุมนุมตอกย้ำซ้ำซาก ณ หน้าเวทีการชุมนุมทุกแห่ง มิให้ผู้ชุมนุมติดอาวุธ และชุมนุมโดยยึดหลัก “อารยะขัดขืน” แต่ก็เห็นมีผู้ชุมนุมฝ่าฝืนกฎ ปาก้อนหินหรือยิงหนังสติคใส่ตำรวจอยู่บ้างประปราย นั่นดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กเกินไปที่จะดำเนินคดีกันถึงโรงศาล
เรื่องการบุกรุกครอบครองพื้นที่หน่วยราชการที่กระทรวงการคลัง และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะเพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมนั้น แกนนำก็ยอมรับว่าทำผิดและยอมรับโทษ เพื่อแลกกับการช่วยชาติที่ใหญ่หลวงกว่า
ฝ่ายรัฐบาลนั้นมีการบริหารงานผิดพลาดซึ่งคงจะถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการทำให้ผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธตาย 4 คน และบาดเจ็บ 263 คน การรักษาสถานที่ราชการที่ทำเนียบรัฐบาลและที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลนั้น ได้ใช้ปืนยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาฉีดใส่ฝูงชนที่จะบุกเข้าสถานที่โดยไม่จำเป็น เพราะเห็นอยู่แล้วว่า ผู้ชุมนุมต้องการไปแสดงพลังเท่านั้น เข้าไปพบผู้นำสถานที่ มอบดอกไม้ เจรจากัน ประกาศชัยชนะว่าเข้าไปได้แล้วเท่านั้น ไม่เคยเข้าไปทำร้ายใคร และไม่เคยทำลายทรัพย์สินใดๆ ของหน่วยราชการ
กล่าวโดยสรุป ถามว่า “ใครเป็นกบฏ” ตอบตามหลักวิชา ยิ่งลักษณ์และผู้นำรัฐบาลบางคนน่าจะถูกดำเนินคดีฐานเป็นกบฏ (ที่ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ) ซึ่งเท่ากับละเมิดรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้คนไทยจำนวนนับล้าน ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ส่วนสุเทพและแกนนำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนั้น จะถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏคงฟังไม่ขึ้น เพราะเป็นแกนนำในการต่อต้านรัฐบาลที่ไม่ชอบโดยสันติวิธี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 69 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้”