เปิดตัว“นิมซี่เส็ง”จิ๊กซอว์สำคัญคดีทุจริตระบายข้าวถุงรบ.“ยิ่งลักษณ์”
เปิดตัว“นิมซี่เส็งฯ” ผู้รับจ้างขนส่งสินค้า โชห่วยช่วยชาติ "ร้านถูกใจ" 82 ล้านบาท จิ๊กซอว์ตัวสำคัญคดีทุจริตระบายข้าวถุงรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์”
ในกระบวนการว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามารับงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการโชห่วยช่วยชาติ “ร้านถูกใจ” ของกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์
บริษัท นิมซี่เส็งขนส่ง 1988 จำกัด ปรากฎชื่อเป็นผู้ได้รับการว่าจ้างงานขนส่งและกระจายสินค้าในโครงการ นี้ จำนวน 2 งาน คือ การขนส่งและกระจายสินค้า “ร้านถูกใจ” ระยะที่ 2 วงเงิน 49,337,500 บาท เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2556 และ จ้างขนส่งและกระจายสินค้าคงค้างและสินค้าใหม่ วงเงิน 13,200,000 บาท วันที่ 16 ก.ค. 2555 รวมวงเงิน 82,437,000 บาท
(อ่านประกอบ: ไส้ใน“ร้านถูกใจ”ใช้เงินจ้างทำ”ป้าย-ซื้อชั้นวาง-เสื้อยืด-พีอาร์สื่อ”กว่า157 ล.)
แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าบริษัท นิ่มซี่เส็งขนส่ง 1988 จำกัด มีที่มาที่ไปอย่างไร
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า บริษัท นิมซี่เส็งขนส่ง 1988 จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2531
มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 368/2 ถนนเชียงใหม่-ลำปาง ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ แจ้งประกอบกิจการขนส่งทางบก
ปรากฏรายชื่อ "นายชวลิต สุวิทย์ศักดานนท์" และ "นางสาวอังคณา สุวิทย์ศักดานนท์" เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 เมษายน 2556 มี 8 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนในตระกูล “สุวิทย์ศักดานนท์” นายอุทัต สุวิทย์ศักดานนท์ ถือหุ้นใหญ่สุด
ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 บริษัท นิ่มซี่เส็งขนส่ง 1988 จำกัด แจ้งนำส่งงบดุล ปี 2555 ปีล่าสุด ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับทราบ
ระบุว่า มีรายได้รวม 1,296,889,628 บาท แต่มีรายจ่ายรวม 1,256,383,417.87 บาท ทำให้มีกำไรสุทธิ 9,011,723.17 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสำนวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการระบายข้าวถุง ของ คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ที่พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา เป็นประธาน
มีการระบุข้อมูลว่า ภายหลังจากที่คณะอนุกมธฯ ตรวจสอบร้านค้าทั่วไปในจังหวัดต่างๆ พบว่าไม่มีข้าวสารถุงรูปแบบของ อคส. วางจำหน่าย คณะอนุกมธฯ ได้เชิญบริษัท นิ่มซี่เส็งฯ มาสอบถามถึงจำนวนข้าวสารถุงที่นิ่มซี่เส็งฯ รับไปจัดส่งที่ร้านถูกใจ
ได้รับการยืนยันว่า ยอดจำนวนข้าวถุงทั้งหมดที่บริษัทนิ่มซี่เส็งฯ รับส่งไปจำหน่ายนั้น มีเพียงแค่ 50,000 ตัน จากจำนวนข้าวที่มีการอนุมัติให้เบิกข้าวสารในโกดังของรัฐไปจำนวนถึง 1 ล้านตันเศษ
และเป็นข้อมูลชิ้นสำคัญ ที่นำไปสู่กระบวนการสอบสวนเชิงลึกของคณะอนุกมธฯ จนพบข้อเท็จจริงว่า บริษัทเอกชน 3 ราย คือ บริษัท สยามรักษ์ จำกัด บริษัท ร่มทอง จำกัด และบริษัท คอน-ไซน์ เทรดดิ้ง จำกัด ที่เข้ามารับจ้างเป็นตัวแทนจำหน่ายข้าวถุงอคส.ไปทำสัญญาขายสิทธิระบายข้าวต่อให้กับบริษัทเอกชนและโรงสีที่รับงานปรับปรุงข้าว ทำให้ข้าวส่วนที่เบิกมาหายไป ไม่ถูกส่งไปถึงมือประชาชนตามนโยบายโครงการที่วางไว้