ควันหลงมิคสัญญีที่รามฯ...เด็กสามจังหวัดใต้ครวญอยู่ยาก โดนมองแง่ลบหนักขึ้น
การชุมนุมและความขัดแย้งทางการเมือง ณ วันสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนกลายเป็นความสูญเสียของนักศึกษาและมหาวิทยาลัยรามคำแหง
การรวมตัวกันของ "ลูกพ่อขุน" และปราศรัยอย่างดุเดือดตลอดบ่ายหลังมีข่าวนักศึกษาหญิงถูกทำร้ายจากกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองที่มารวมตัวกันอยู่ใกล้ๆ สถาบัน ทำให้หัวใจของนักศึกษาและประชาชนจำนวนไม่น้อยที่นั่งรับฟังร้อนระอุ
ภาพการกรูเข้าไปกรุ้มรุมทำร้ายมวลชนของอีกฝ่ายที่มายั่วโมโห หรือเฮโลเข้าไปทุบรถโดยสารสาธารณะทั้งรถแท็กซี่และรถประจำทางที่มีคนใส่เสื้อสีของผู้ชุมนุมฝ่ายตรงข้ามร่วมโดยสารมา ทำให้สังคมตกตะลึง แต่นั่นยังไม่เท่าสถานการณ์ที่บานปลายจนถึงขนาดใช้ปืนตัดสินกัน จนมีนักศึกษาวัยเพียง 21 ปีต้องเสียชีวิต ทั้งยังมีนักศึกษาได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก รวมถึงคนนอกที่มีทั้งตายและบาดเจ็บเช่นกัน เป็นความสูญเสียอีกครั้งหนึ่งที่สืบเนื่องจากความขัดแย้งแบ่งสีแบ่งฝ่ายในสังคมไทยที่ลุกลามและยืดเยื้อมานานปี
ประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก คือเสียงวิพากษ์ด่าทอที่ตามมา ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งก็บานปลายมาจากความขัดแย้งแบ่งสีนั่นเอง หลายคนวิจารณ์พฤติกรรมรุนแรงของนักศึกษา และพาลไปถึงถิ่นฐานย่านกำเนิด โดยเฉพาะความเป็น "เด็กใต้" และ "เด็กจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" บางคนถึงกับตั้งคำถาม...เป็นโจรใต้ขึ้นมาก่อความวุ่นวายหรือเปล่า
เพราะรามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยยอดนิยมของคนใต้ หอพักหน้ารามฯกลายเป็นแหล่งรวมของวัยรุ่นจากภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีภาพความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบในการรับรู้ของสังคมไทยมาร่วม 10 ปี
"การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาไม่ได้มีกลุ่มนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมด้วยเลย แต่เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น หลายกลุ่มกลับมองและกล่าวหาว่าโจรใต้ไปตีรถคนเสื้อแดง ทั้งที่พวกเราไม่ได้เกี่ยวข้อง" เป็นเสียงจากนักศึกษารามคำแหงชั้นปีที่ 4 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.นราธิวาส
เขาบอกว่า นักศึกษาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระวังตัวกันอยู่แล้วที่จะไม่ไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองใดๆ เพราะในอดีตที่เคยไปร่วมแล้วเกิดความรุนแรงขึ้น ก็จะถูกเหมาว่า "เด็กใต้" หรือ "โจรใต้" เป็นผู้ใช้ความรุนแรง
"นี่ขนาดไม่ได้ไปยังโดน ถ้าเกิดพวกเราไปจะไม่โดนเหมาเป็นเรื่องอื่นไปแล้วหรือ จึงอยากขอความเป็นธรรมตรงจุดนี้ด้วย"
เขายังเผยความรู้สึกกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 30 พ.ย.ว่า เสียใจมากที่เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยต้องได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเพราะถูกใช้ความรุนแรงก่อน สงสารเพื่อนแต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะถ้ายิ่งขยับทำอะไร ก็จะยิ่งถูกมองแง่ลบและสังคมประณาม
"สิ่งที่ทุกคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำได้ตอนนี้คือพยายามเก็บตัวเองอยู่ในหอพัก พยายามไม่เดินไปไหนมาไหนถ้าไม่จำเป็น เพราะคนที่พยายามจะโยนไฟให้เรามีทุกที่ทุกเวลา จึงต้องพากันระวังตัว เราไม่อยากไปตกอยู่ในวังวนที่พวกเขาต้องการให้พวกเราเป็น"
เขายังเล่าสภาพความเป็นอยู่ของนักศึกษารามฯจากชายแดนใต้ด้วยว่า ที่ผ่านมาขนาดไม่มีเหตุจลาจลหรือความรุนแรงใดๆ เด็กจากสามจังหวัดก็ต้องอยู่อย่างระแวดระวังอยู่แล้ว พยายามเกาะกลุ่มกันตลอด จะทำอะไร จะไปไหนก็ต้องไปเป็นกลุ่ม
"พวกเราอยู่ที่นี่ มีคนมองพวกเราว่าเป็นโจรใต้ ชอบใช้ความรุนแรง พอกลับบ้านไปก็มีคนมองว่าพวกเราเป็นโจรอีก อยู่ที่ไหนก็ลำบาก เดือดร้อนตลอด ก็เลยทำให้ไม่ค่อยอยากแสดงออกอะไรในเรื่องการเมือง ทำให้ไม่มีเด็กจากสามจังหวัดไปร่วมการชุมนุม แต่ก็ยังโดนกล่าวหาว่าโจรใต้ใช้ความรุนแรงจนรู้สึกเสียใจที่ถูกกล่าวหาทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรเลย เราไม่เคยถูกมองแง่ดี เป็นเพราะเกิดจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างนั้นหรือ หรือว่าเด็กใต้ต้องใช้ความรุนแรงเสมอไป ขอฝากให้คิดใหม่แล้วมาร่วมแก้ปัญหาให้ประเทศเดินไปข้างหน้าจะดีกว่า"
นายอิสมะแอ ขอสงวนนามสกุล เยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเคยไปเที่ยวและพำนักกับเพื่อนๆ ย่านรามคำแหง กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดกับนักศึกษา รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เพราะชัดเจนว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นถูกละเลยจากผู้ถือกฎหมาย จริงอยู่ที่แรกๆ ก่อนเกิดเหตุการณ์ก็มองยากว่าใครเริ่มก่อน แต่เมื่อเหตุการณ์ลุกลามรุนแรงแล้ว และเกิดต่อเนื่องหลายชั่วโมงด้วย ทำไมผู้ถือกฎหมายไม่เข้าไประงับเหตุ ส่วนตัวเชื่อว่าถ้าผู้ถือกฎหมายปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ก็จะไม่ทำให้เรื่องบานปลายจนกลายเป็นความสูญเสียขนาดนี้
"จริงๆ ความรู้สึกที่เรามีต่อรัฐบาลชุดนี้ก็มองว่าพอรับได้ เพราะมีนโยบายให้โอกาสประชาชนระดับล่างบ้าง หากเทียบกับรัฐบาลของอีกฝ่ายที่เคยมีอำนาจ แต่พอเจอเหตุจลาจลที่รามคำแหงแล้วรู้สึกรับไม่ได้เลย อยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมองประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นหลักมากกว่าประโยชน์ทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างต้องการชัยชนะ โดยไม่ได้มีบ้านเมืองเป็นตัวตั้ง" อิสมะแอ กล่าว
ย่านรามคำแหงนั้น ในทางกายภาพไม่ได้เป็นแค่สถานศึกษาขนาดใหญ่ แต่ยังเป็นชุมชนขนาดมหึมาที่มีกำลังซื้อมหาศาล ที่นี่เป็นจุดหมายของวัยรุ่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งมาร่ำเรียนและหาลู่ทางแห่งอาชีพ
วัยรุ่นจากสามจังหวัดจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะที่ซอยรามคำแหง 61 และ 53 เต็มไปด้วยหอพักที่มีแต่เด็กสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปอาศัย ปากซอยมีร้านน้ำชา ไม่ไกลกันนักมีมัสยิด สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบมุสลิมชายแดนใต้อย่างมาก
จากการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น ทำให้กลุ่มนักศึกษารามฯจากชายแดนใต้สามารถต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองในมหาวิทยาลัยได้ โดยเฉพาะเวลามีการเลือกตั้งองค์การนักศึกษาและสภานักศึกษา ซึ่งมีบรรยากาศไม่ต่างจากการเมืองสนามใหญ่ หลายห้วงหลายสมัยจึงมีนักศึกษาจากชายแดนใต้ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การนักศึกษา หรือรองประธานสภานักศึกษา และบางส่วนเข้าไปมีบทบาทในสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
สำหรับผู้ที่ไม่ได้สนใจกิจกรรม บางรายก็ไปทำการค้าขาย มีทั้งที่เป็นนักศึกษาและไม่ใช่นักศึกษา แต่ก็ใช้ชีวิตกินอยู่หลบนอนในชุมชนของคนสามจังหวัดฯหน้ารามฯ
มะรูดิง บีรู เจ้าของร้านขายร้องเท้ามือสองหน้ารามฯ บอกว่า เมื่อพูดถึงหน้ารามฯ ทุกคนจะมองเห็นเป็นภาพของเด็กบ้านเรา (เด็กจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) เพราะแทบทุกซอกซอยย่านนี้มีเด็กบ้านเราอาศัยอยู่ บางคนมาเรียน อยู่จนมีงานทำ ได้ครอบครัวที่นี่เลย เราจะอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นหมู่ นอกจากที่เรียนรามฯ ก็จะมาเด็กบ้านเราที่เรียน ที่อื่น และทำงานที่อื่นมาเช่าห้องอยู่แถวหน้ารามฯด้วย เพราะทุกคนรู้สึกว่ามีบรรยากาศเดียวกับบ้านเรา มีข้าวยำรับประทาน ใส่ผ้าคลุม นุ่งโสร่งเดินไปไหนมาไหนได้ปกติ ที่สำคัญคือมีมัสยิด ทำให้เด็กบ้านเราชอบอยู่แถวนี้
ส่วนเหตุจลาจลที่เกิดขึ้น รู้สึกผิดหวังกับรัฐบาล ผิดหวังกับเจ้าหน้าที่ ยิ่งกว่านั้นยังเห็นว่าเด็กบ้านเราถูกคนบางกลุ่มพยายามดึงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ ทั้งที่ไม่ได้ไปร่วมอยู่ด้วยเลย
"เราไม่ได้ไปร่วมก็ยังถูกใส่ความ รู้สึกว่าเด็กชายแดนใต้อยู่ที่ไหนก็จะทำแต่เรื่องไม่ดีในสายตาคนทั่วไป เราก็พยายามเฉยๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เมื่อได้ยินน้องนักศึกษามาบ่นเวลามาซื้อรองเท้าก็อดคิดไม่ได้ ที่ผ่านมาเด็กบ้านเราต้องระวังตัวตลอดเวลาไปไหนมาไหน เพราะมีแต่คนมองด้านไม่ดีไว้ก่อน บางครั้งจะถูกทำร้ายก็มี สาเหตุจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านเรา แต่ผลกระทบมาถึงที่นี่ คนทั้งประเทศเหมารวมว่าคนที่มาจากภาคใต้ต้องไม่ดี ต้องรุนแรง เลยทำให้เด็กบ้านเราไม่ค่อยอยากยุ่งเรื่องการเมือง เพราะไปยุ่งเมื่อไหร่ก็จะกลายเป็นปัญหาอื่นไปด้วยเลย ก็ได้แต่ภาวนาให้ทุกคนทุกกลุ่มในบ้านเมืองใช้สติในการแก้ปัญหา เพื่อความสงบสุขของทุกคน" มะรูดิงบอก
มวลชนชายแดนใต้ชุมนุมยืดเยื้อ-ประณามเหตุในรามฯ
สำหรับการชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลและขับไล่ระบอบทักษิณที่ชายแดนใต้ ยังคงมีการรวมตัวกันทุกวันในช่วงที่สถานการณ์การเมืองในส่วนกลางร้อนแรง โดยเฉพาะที่ จ.ยะลา กับ จ.ปัตตานี มีจุดรวมพลอยู่ใกล้ๆ กับศาลากลางของทั้งสองจังหวัด จำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อเกิดเหตุรุนแรงที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ชุมนุมก็ได้หยิบเรื่องนี้มาวิพากษ์วิจารณ์และอภิปรายโจมตีรัฐบาลด้วย โดยกลุ่มประชาชนปัตตานีผู้รักชาติ ได้จัดชุมนุม อ่านแถลงการณ์ และยืนไว้อาลัยให้กับนักศึกษารามฯที่เสียชีวิต
เช่นเดียวกับประชาคม ม.อ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ที่ได้มีแถลงการณ์กรณีทำร้ายนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงจากผู้ไม่ประสงค์ดี พร้อมประณามการกระทำที่คุกคามสวัสดิภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย เช่น การข่มขู่ รลอบทำร้าย เผายางรถยนต์ เป็นต้น โดยที่เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายมีพฤติกรรมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หนำซ้ำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังไปขึ้นเวทีของมวลชนอีกกลุ่มหนึ่ง โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์และความสูญเสียที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ก่อนหน้านั้น ม.อ.ได้ประกาศงดการเรียนการสอน 2 วัน ระหว่างวันที่ 28-29 พ.ย. (วันพฤหัสบดีกับวันศุกร์) เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาบุคลากรของมหาวิทยาลัยไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเสรี
อย่างไรก็ดี ยังมีการรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนรัฐบาลด้วยเช่นกัน เช่น ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 30 พ.ย. องค์กรผู้นำศาสนา 3 จังหวัดชายแดนชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 3 จังหวัดชายแดนชายแดนภาคใต้ อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่นประจำมัสยิด และผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ จำนวนกว่า 300 คน ร่วมอ่านแถลงการณ์นำโดย นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี สนับสนุนและเป็นกำลังใจให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบบประชาธิปไตย รวมทั้ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ด้วย
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เหตุรุนแรงที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง
2 การชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษา ม.อ. (ภาพโดย เลขา เกลี้ยงเกลา)
ขอบคุณ : ภาพเหตุการณ์หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง เอื้อเฟื้อโดยกรุงเทพธุรกิจ