ย้อนอดีตวิวาทะปม “นายกฯ ม.7” ก่อน “สุเทพ” ปัดฝุ่นเสนอใหม่
กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งสำหรับการเรียกร้องให้ใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หรือที่เรียกกันว่า “นายกฯ ม.7”
เมื่อ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขาธิการ กปปส.ได้เสนอโมเดลเรื่องการจัดตั้ง “สภาประชาชน-รัฐบาลประชาชน” ภายหลังโค่นล้มระบอบทักษิณเสร็จสิ้น หัวค่ำวันที่ 3 ธ.ค.2556 ที่ศูนย์ราชการ มีข้อความ ดังนี้
“เมื่อระบอบทักษิณหมดอำนาจ อำนาจก็จะกลับคืนสู่ประชาชน ตามบทบัญญัติ มาตรา 3 จากนั้น ประชาชนจะได้รวมกันเลือกตัวแทนจากสาขาอาชีพ เป็นสภาประชาชน ที่กำหนดนโยบาย ทำหน้าที่สภานิติบัญญัติ เพื่อการเปลี่ยนแปลง ตรากฎหมายเลือกตั้ง ตรากฎหมายต้านทุจริต สภาประชาชนเป็นผู้เลือกคนดี ที่ไม่ใช่คนพรรคการเมืองเป็นนายกฯ และ ครม.ชั่วคราว ตามบทบัญญัติ มาตรา 7 จากนั้นรัฐบาลภาคประชาชนจะทำตามแนวนโยบายสภาประชาชนให้เสร็จโดยเร็ว เช่น การกระจายอำนาจการปกครองทุกจังหวัด การปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย จะดำเนินการให้มีการเลือกตั้งตามประชาธิปไตย ทั้งรัฐบาลประชาชน สภาประชาชนจะกลับบ้าน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป”
กรณี “นายกฯ ม.7” เคยเป็นประเด็นทางการเมืองช่วงปี 2549 ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยครั้งนั้น ใช้คำเรียกว่า “นายกฯพระราชทาน”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ลองสืบค้นข่าวเก่าๆ ย้อนไป ก่อนพบว่า แนวคิดนี้ เริ่มจาก “เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” ส.ว.กทม. ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 ก.พ.2549 ว่า "ส.ว.กลุ่มอิสระจำนวนหนึ่ง เตรียมทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอรัฐบาลพระราชทานตามมาตรา 7 เพื่อเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เป็นการผ่าทางตันในขณะนี้ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ หมดความชอบธรรมแล้ว"
จากนั้น ในวันที่ 5 มี.ค.2549 ส.ว.กลุ่มดังกล่าว ร่วมกับนักวิชาการ ราชนิกูล แพทย์อาวุโส ศิลปินแห่งชาติ ฯลฯ รวม 96 คน ก็ได้ไปยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานรัฐบาลชั่วคราวและนายกฯ คนใหม่ แทนรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7
เมื่อมีการจุดพลุเรื่อง “นายกฯม.7” ปรากฏว่า มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็น ทั้งสนับสนุน-คัดค้าน เป็นจำนวนมาก
โดยสถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2549 หลังจากมีผู้ชุมนุมจำนวนมากออกมาประท้วงขับไล่ โดย กกต.ได้กำหนดวันเลือกตั้ง เป็นวันที่ 2 เม.ย.2549 อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้าน 3 พรรคได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง จนมีความกังวลว่าอาจทำให้เกิดเด๊ดล็อกทางการเมือง เพราะจะมี ส.ส.ไม่ครบ 500 คน ไม่สามารถเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกนายกฯ ได้
เริ่มจาก -ฝ่ายสนับสนุน- มีอาทิ
“สนธิ ลิ้มทองกุล” แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวระหว่างการชุมนุมที่หน้าห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรียม เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2549ว่า
“เรามาที่นี่ เพื่อมารวมพลังให้เห็นว่าเราเป็นของจริง ไม่ใช่พวกแขวนป้ายที่คอ พอตอนเช้า ก็มาลงชื่อรับเงิน เรามาเพื่อให้เห็นว่า ทักษิณต้องออกไป และเพื่อแสดงประชามติขอบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อขอนายกพระราชทาน”
สนธิยังให้สัมภาษณ์ที่ท้องสนามหลวงระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุม เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2549 ว่า
“ความจริงแล้วปัญหาทั้งหมดจะยุติได้ด้วย กกต.เพียงองค์กรเดียวเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหลายครั้ง หลักฐานก็เห็นชัดเจน ถ้า กกต.ให้ใบแดงทุกอย่างก็จบ ตำแหน่งนายกฯ ก็ว่างลงเปิดช่องให้มีแนวทางการใช้มาตรา 7 เพื่อขอนายกพระราชทานเข้ามาดำเนินการปฏิรูปการเมืองใช้เวลา 6 เดือน จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณจะมาลงเลือกตั้งก็ไม่ว่าอะไร แต่ตอนนี้ปัญหาก็คือกกต.ไม่ได้ดำเนินการอะไรเลยเพราะว่ากกต.ทำหน้าที่เอื้อประโยชน์และช่วยให้เหลือให้ทักษิณฟอกตัวเท่านั้น”
“พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ อีกคน ก็ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2549 ก่อนเคลื่อนขบวนไปปราศรัยหน้ากระทรวงการคลัง
“เมื่อบ้านเมืองถึงทางตันก็ต้องนำมาตรา 7 มาใช้ ซึ่งถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการปฏิรูปการเมืองและแก้ไขปัญหาวิกฤติที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เชื่อว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับแนวทางของเครือข่ายพันธมิตร เพราะที่ผ่านมาก็มีกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียง และนักวิชาการ เสนอทางออกให้ใช้มาตรา 7 เหมือนกัน”
“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปราศรัยที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2549 ว่า
“ขอพูดกับคุณทักษิณว่า ขอให้นำคณะรัฐมนตรีกราบบังคมทูลขอพึ่งพระบารมี ขอนายกฯ และรัฐบาลชุดใหม่ โดยไม่เกี่ยวกับข้อเสนอของผู้ชุมนุมและไม่เกี่ยวกับกรณี กฟผ. โดยจะให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการ เพื่อให้เข้าตามเงื่อนไขมาตรา 7 เพื่อพิจารณาให้มีนายกฯ และรัฐบาลชุดใหม่มาจากการพระราชทาน เพื่อทำหน้าที่ฟื้นเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขให้รัฐธรรมนูญเดินต่อไปได้”
อภิสิทธิ์ยังแถลงข่าวถึงเรื่องนายกฯ ม.7 อีกครั้ง ในวันที่ 26 มี.ค.2549 ว่า
“ข้อเสนอของพรรคในการขอรัฐบาลพระราชทานตามมาตรา 7 เป็นการพิจารณาตามสถานการณ์บ้านเมืองและรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ หรือเว้นวรรคประชาธิปไตย ตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวหา โดยข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์นั้นแตกต่างจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพราะต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาร่วมกันแก้ไขปัญหา ไม่ต้องการให้มีการตอบโต้กันไปมา อย่างไรก็ตามหากนายกรัฐมนตรี พิจารณาข้อเสนอของพรรคในฐานะคนไทยคนหนึ่งก็จะเข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์ ทำเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองอย่างแท้จริง”
“บัญญัติ ทัศนียเวช” ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และ “เดชอุดม ไกรฤทธิ์” นายกสภาทนายความแห่งชาติ ร่วมกันออกแถลงการณ์ เรื่องวิกฤตศรัทธาในตัวนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2549 โดยมีบางช่วงของแถลงการณ์ที่ระบุถึงการใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ว่า
“สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาทนายความ จึงขอแถลงการณ์มาเพื่อขอให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกันนำเสนอข้อเท็จจริงข้างต้น และดำเนินการโดยราชประชาสมาสัย ให้เกิดพลังมหาชน เพื่อขอให้ทรงใช้พระราชอำนาจตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
ฯลฯ เป็นต้น
ขณะที่ -ฝ่ายคัดค้าน- มีอาทิ
“วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2549 ว่า
"มาตรา 7 มีขึ้นมาเพื่ออุดช่องว่างกรณีที่ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญลืมคิดถึงเหตุการณ์บางอย่างไป จึงได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จะได้ไม่เกิดทางตัน แต่ถ้ามีมาตราต่างๆ อยู่แล้วก็ไม่ใช่จะหยิบมาตรา 7 ขึ้นมา เพราะมาตรา 7 ไม่สามารถทดแทนทุกมาตราในรัฐธรรมนูญได้ ไม่อย่างนั้นมีมาตราเดียวก็พอ อันนี้ไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 จะใช้ต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่เรื่องที่พูดอยู่ในเหตุการณ์การเมืองเฉพาะหน้า ณ เวลานี้"
“โภคิน พลกุล” รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2549 ว่า
“มาตรา 7 ต้องเป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่จะใช้บังคับกับกรณีใด จึงให้ไปใช้ตามครรลองระบอบประชาธิปไตย แต่การยุบสภาเป็นพระราชอำนาจ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 116 ที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ เมื่อทรงยุบสภาแล้วผลต่อมาคือ สมาชิกภาพของ ส.ส.หมดไป
“หากมีการใช้มาตรา 7 โดยยกเลิกพระราชกฤษฎีกายุบสภา ก็อาจมีปัญหาต่อความสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. จึงทำไม่ได้ ที่สำคัญ พระราชกฤษฎีกา คือพระราชอำนาจที่พระราชทานลงมาแล้ว วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ควรส่งผู้สมัคร ส.ส. แทน และไปบอกประชาชนว่า อยากเห็นการปฏิรูปการเมืองเป็นอย่างไร วิธีนี้จะแก้ง่ายกว่าที่จะไปรบกวนเบื้องพระยุคลบาท อีกทั้งการจะใช้มาตรา 7 เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ จะต้องมีบทบัญญัติรองรับชัดเจนว่าอยู่ในกรณีใดบ้าง คิดว่าวิธีนี้ไม่เป็นธรรม ถ้านายกฯทำอะไรไม่ถูกต้องใช้วิธีทางการเมืองเข้าจัดการ วันนี้จึงอยากให้ทำอะไรที่อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ”
“วรเจตน์ ภาคีรัตน์” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ขณะนั้นยังไม่มีกลุ่มนิติราษฎร์) กล่าวระหว่างการบรรยายพิเศษเรื่อง “หลังการเลือกตั้ง 2 เมษายน จะปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่อย่างไร” เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2549 ว่า
“ขณะนี้ประชาชนในประเทศแตกออกมาเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งต้องการที่จะใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 เพื่อขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งต้องการให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทั้งสองฝ่ายทำให้บ้านเมืองเกิดความไม่แน่นอนเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็มีอีกฝ่ายหนึ่งต้องการปฏิรูปทางการเมือง ทั้งนี้ในความคิดของเขานั้น การใช้มาตรา 7 เพื่อขอนายกฯพระราชทานไม่ควรทำ
“ขณะนี้เราต้องมองไปข้างหน้า เพื่อให้มีการเปิดสภาให้ได้ แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าสภาจะเป็นของไทยรักไทยทั้งหมด มีเพียงฝ่ายค้านเพียงคนเดียว จะทำให้อำนาจไปรวมศูนย์อยู่ที่พรรคไทยรักไทย อีกทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณก็ยังมีบทบาทอยู่ในฐานะหัวหน้าพรรค แต่ตรงนี้เราคงจะปฏิเสธระบบการเมืองไม่ได้ ดังนั้นความจำเป็นในการเปิดสภาจึงจำเป็นต้องมี”
“นพ.เหวง โตจิราการ” ประธานสมาพันธ์เพื่อประชาธิปไตยขณะนั้น ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2549 ว่า
“ทั้งในฐานะส่วนตัวและโดยสมาพันธ์ฯ แม้จะเห็นด้วยกับเป้าหมายขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะใช้ ม.7 เพราะสถานการณ์การเมืองขณะนี้ยังไม่ถึงจุดคับขัน และที่สำคัญ ถ้าย้อนกลับไปดูเนื้อหา ม.7 อย่างละเอียดอีกครั้งจะพบว่าไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะกลไกตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ยังดำเนินการได้อยู่ กฎหมายไม่ถึงขั้นพิการจนใช้ไม่ได้เลย จึงยังไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสม และยังจะเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาทด้วย”
ฯลฯ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระบรมราโชวาทกับคณะพิพากษาประจำสำนักงานศาลยุติธรรม ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2549 โดยมีตอนหนึ่งถึงข้อเรียกร้องเรื่องการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7
ข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่อง “นายกฯ ม.7” ก็ซาลงไป กระทั่งแทบไม่มีใครหยิบมาพูดถึงอีก
ผ่านไป 7 ปีเศษ น่าสนใจว่าเมื่อ “กำนันสุเทพ” หยิบแนวคิดเรื่องให้มีนายกรัฐมนตรี ที่มาโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 มาปัดฝุ่นนำเสนอใหม่
สาธารณชนจะมีท่าทีต่อข้อเสนอนี้ของเลขาธิการ กปปส.อย่างไร ?
-----
ทั้งนี้ สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 มีบทบัญญัติว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ภาพประกอบ - สุเทพ เทือกสุบรรณ จากเว็บไซต์ www.posttoday.com