สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานบทความ “เรียนรู้การทรงงาน สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน"
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานบทความ เรื่อง “เรียนรู้การทรงงานสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” ในหนังสือ “สัจธรรมแห่งแนวพระราชดำริ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
-
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานบทความ เรื่อง “เรียนรู้การทรงงานสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” ในหนังสือ“สัจธรรมแห่งแนวพระราชดำริ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ใจความดังนี้...
เดินตามรอยเท้าพ่อ
“ฉันเดินตามรอยเท้าอันรวดเร็วของพ่อโดยไม่หยุด
ผ่านเข้าไปในป่าใหญ่ น่ากลัว ทึบ แผ่ไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด มืดและกว้าง
มีต้นไม้ใหญ่เหมือนหอคอยที่เข้มแข็ง
พ่อจ๋า... ลูกหิวจะตายและเหนื่อยด้วย
ดูซิจ๊ะ... เลือดไหลออกมาจากเท้าทั้งสองที่บาดเจ็บของลูก
ลูกกลัวงู เสือ และหมาป่า
พ่อจ๋า... เราจะถึงจุดหมายปลายทางไหม..?
ลูกเอ๋ย... ในโลกนี้ไม่มีที่ไหนดอกที่มีความรื่นรมย์ และความสบายสำหรับเจ้า
ทางของเรามิได้ปูด้วยดอกไม้สวยๆ
จงไปเถิด แม้มันจะเป็นสิ่งบีบคั้นหัวใจเจ้า
พ่อเห็นแล้วว่า หนามตำเนื้ออ่อนๆ ของเจ้า
เลือดของเจ้า เปรียบดั่งทับทิมบนใบหญ้าใกล้น้ำ
น้ำตาของเจ้าที่ไหลต้องพุ่มไม้สีเขียว
เปรียบดังเพชรบนมรกตที่แสดงความงดงามเต็มที่
เพื่อมนุษยชาติ จงอย่าละความกล้า
เมื่อเผชิญกับความทุกข์ ให้อดทนและสุขุม
และจงมีความสุขที่ได้ยึดอุดมการณ์ที่มีค่า
ไปเถิด... ถ้าเจ้าต้องการ… เดินตามรอยเท้าพ่อ”
(พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากหนังสือ “มณีพลอยร้อยแสง” จัดพิมพ์โดยโรงเรียนจิตรลดา เมื่อปี 2519)
*************
ทรงงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมุ่งมั่นอย่างวิริยะและอุสาหะที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุข อยู่ดีกินดี ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรเพื่อทรงศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้แก่ราษฎรในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยได้พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมาย เพื่อพัฒนาประชาชนและประเทศให้ก้าวหน้าหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยทรงยึดหลักในการดำเนินโครงการว่า ต้องเป็นการพัฒนาที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งประโยชน์ให้เกิดแก่ส่วนรวมและประเทศชาติอย่างแท้จริง จึงจะเป็น “การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2529 ความตอนหนึ่งว่า
“...ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญเราจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว...”
ในการปรับปรุงและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงงานเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์ทรงทำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชประสงค์จะช่วยให้ราษฎรสามารถพึ่งตนเองได้ จึงจะเป็นการช่วยเหลืออย่างยั่งยืน ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานในพิธีเปิดการประชุมและนิทรรศการเรื่อง “มรดกสิ่งทอของเอเชีย : หัตถกรรมและอุตสาหกรรม” ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535 ความตอนหนึ่งว่า
“...ข้าพเจ้าตั้งใจจะสรรหาอาชีพให้ชาวนาที่ยากจนเลี้ยงตัวเองได้เป็นเบื้องต้น ทั้งนี้เนื่องจากข้าพเจ้าได้มีโอกาสตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเยี่ยมราษฎรตามชนบทมาหลายสิบปี ได้พบว่า ราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวนาชาวไร่ที่ต้องทำงานหนัก และต้องเผชิญอุปสรรคจากภัยธรรมชาติมากมาย... ทำให้ชาวนาชาวไร่มักยากจน การนำสิ่งของไปแจกราษฎรผู้ประสบภัยธรรมชาติ เป็นเพียงบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภว่า เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ยั่งยืน ควรจะหาวิธีอื่นที่ช่วยให้ราษฎรพึ่งตนเองได้...”
ทรงมุ่งพัฒนาชนบทห่างไกล ให้อยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมีความสุข
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยทุกข์สุขของราษฎรทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกลและทุรกันดาร จึงเสด็จพระราชดำเนินในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญเท่าที่จะทำได้
ข้อสำคัญคือ เมื่อเวลาเสด็จออกพัฒนา พระองค์จะต้องไปทอดพระเนตรให้เห็นพื้นที่จริงๆ จะต้องทรงรู้เสียก่อนว่า พื้นที่นั้นในด้านภูมิศาสตร์และภูมิสังคมเป็นอย่างไร โดยตรัสว่า การเสด็จด้วยพระองค์เองนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก จะได้มีความรู้สึกต่อพื้นที่นั้น และพระราชทานความช่วยเหลือได้ตรงกับความต้องการของประชาชน รวมทั้งช่วยให้พระองค์ทรงทราบสภาพพื้นที่ของประเทศไทยเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงสอนผู้ตามเสด็จฯ ให้รู้จักดูแผนที่ และสังเกตภูมิประเทศ ดูภูเขา ทางน้ำ ต้นไม้ ซักถามผู้ที่อยู่ในพื้นที่ให้ทราบข้อมูลมากที่สุด การพัฒนานั้นไม่ใช่ว่าพระองค์จะเข้าไปในหมู่บ้านแล้วโปรดเกล้าฯ ว่า ควรทำอะไร ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถก็ทรงงานในลักษณะเดียวกัน คือจะซักถามข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ โดยจะเน้นในการพัฒนาตัวบุคคล อาทิ การดูแลรักษาสุขภาพอนามัย และการส่งเสริมอาชีพช่างฝีมือ
งานหลักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ พัฒนาปัจจัยในการผลิต เพื่อการกินอยู่ของคนในท้องถิ่น ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือการหา "น้ำ" ให้เพียงพอแก่การเพาะปลูก โดยทรงเล็งเห็นว่า น้ำเป็นส่วนสำคัญที่สุดของชีวิต และเป็นปัจจัยในการผลิตพืชผลต่างๆ รวมทั้งทรงทำพร้อมกันในทุกด้าน เพื่อให้ประชาชนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง โดยพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
พระองค์มีพระราชดำรัสอยู่เสมอว่า จะต้องให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยดี จึงทรงช่วยรักษาพยาบาลอุปการะผู้เจ็บป่วย นอกจากนั้น ทรงเห็นความสำคัญว่า ต้องช่วยให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษา มีความรู้อย่างน้อยให้อ่านออกเขียนได้ สามารถอ่านเอกสารของทางราชการ และเพื่อให้รับความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ
ดังนั้น ตั้งแต่เกิดมาจำความได้ จึงเห็นทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงคิดหาวิธีการต่างๆ ที่จะยกฐานะความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น และได้ตามเสด็จฯ เห็นความทุกข์ยากลำบากของพี่น้องเพื่อนร่วมชาติ ก็คิดว่าช่วยอะไรได้ควรช่วย ไม่ควรนิ่งดูดาย เห็นจะเป็นเพราะความเคยชิน เมื่อโตขึ้นพอมีแรงทำอะไรได้ก็ทำอย่างอัตโนมัติ และเป็นเหตุที่ทำให้ชอบการพัฒนาช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งเป็นหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องทำประจำอยู่แล้ว และอีกประการหนึ่ง รู้สึกเสมอว่าการเป็นเจ้าฟ้านั้น ได้เปรียบผู้อื่นหลายอย่าง จึงควรนำข้อได้เปรียบนั้นมาทำประโยชน์แก่ผู้อื่น
ประสบการณ์ตามเสด็จฯ ไปทรงงานในถิ่นทุรกันดาร
ประสบการณ์ในการตามเสด็จพระราชดำเนิน มีมากมายเล่าเท่าไหร่ไม่จบ ออกไปทุกครั้งก็ได้ความรู้ ความคิด และมีประสบการณ์ใหม่ๆ
โดยเมื่อครั้งข้าพเจ้ายังเป็นเด็ก จำได้ว่าจะทรงจัด “ทีมพัฒนา” ออกไปเยี่ยมราษฎร กิจกรรมที่ไปทำกันนั้น ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่า มีอะไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ คือ มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ มีการไปสำรวจความเป็นอยู่ของคน เมื่อออกไปพัฒนาแล้วต้องเขียนรายงานถวายด้วย บางทีก็รู้สึกสงสัยว่ามีคนโน้นคนนี้มาหาท่านด้วยปัญหาที่เจ้าตัวแก้ไม่ตก หรือมีปัญหามาก เคยทูลถามพระองค์ทรงคิดได้อย่างไรว่า ควรจะทำอย่างไรดีกับคนไหน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รับสั่งว่า ถ้าเรามีความรักและความห่วงใยก็ย่อมทำได้
ความจริงพระองค์มีเครื่องช่วยจำเหมือนกันคือการจดบันทึก พระองค์ทรงเรียกว่า “สมุดทอดพระเนตร” โดยจะทรงบันทึกเรื่องโน้นเรื่องนี้ที่ทรงนึกขึ้นได้ว่าควรทำตามข้อสังเกตในสถานที่เสด็จพระราชดำเนิน เช่น คนจน คนป่วย คนมีลูกมากที่ต้องจัดให้มีอาชีพ ให้ลูกมีโอกาสศึกษาเล่าเรียน คนมีเรื่องกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ เรียกได้ว่า ไม่ลืมเรื่องของใครเลย ภายหลังมีข้าราชบริพารรับผิดชอบจดไปแต่ละแผนก พระองค์ก็ยังทรงจดของพระองค์เองอยู่ สุดท้ายทรงให้บันทึกข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์ด้วย
วิธีการทรงงาน และการทำงานของขบวนตามเสด็จฯ
คติที่พระราชทานให้เป็นหลักของการทำงานมีอยู่มาก เช่นว่า เราไปไหนก็มีพาหนะ มีคนมาอำนวยความสะดวกมากมาย ฉะนั้นต้องพยายามทำให้การไปของเรามีประโยชน์คุ้มค่าที่สุด เราอย่าคิดหวังยึดใครเป็นที่พึ่ง แต่ต้องทำตัวให้เป็นที่พึ่งของคนได้ คนที่มาขอความช่วยเหลือเรานั้นเป็นคนยากจนที่มีความเป็นอยู่ที่ลำบาก หาเช้ากินค่ำ จะต้องรีบช่วยเหลือเขาทันที จะไปรอเอาไว้ก่อนไม่ได้
และประการสำคัญคือ “การให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง”
เวลาออกไปทรงเยี่ยมราษฎรมีคนมาเฝ้ามากมาย ฉะนั้นจึงต้องมีข้าราชบริพารที่ตามเสด็จฯไปมาก ข้าราชบริพารแต่ละคน เวลาตามเสด็จจะต้องมีอุปกรณ์ติดตัวไปให้ครบรวมทั้งของส่วนตัว เช่น ไฟฉาย สมุดจด และแผ่นกระดาษสำหรับเขียนข้อความติดสิ่งของและรายชื่อบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ เครื่องเขียนสำหรับจด มีทั้งปากกาเล็กสำหรับจดธรรมดา ปากกาโตสำหรับเขียนข้อความในแผ่นกระดาษ ถุงพลาสติกสำหรับใส่สมุดที่จะเขียนกลางสายฝน สมุดที่ใช้จดส่งตัวคนไข้เข้าโรงพยาบาล เสื้อฝนสำหรับแจกราษฎรก็ต้องถือไปด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเสด็จพระราชดำเนินด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปกันได้น้อยคน คนที่ไปก็ต้องเป็นประโยชน์ที่สุด ต้องถือของแจกราษฎร เช่น เสื้อยืดเด็ก ผ้าขนหนู ขนมผิงเกษตร (ขนมทำด้วยถั่วเหลือง) เกลือไอโอดีน ฯลฯ ในรถที่นั่งกันไปยังให้มีค้อน เผื่อเกิดมีปัญหาขัดข้องประตูรถเปิดไม่ได้ยังพอใช้ค้อนทุบออกมาได้ เวลานั่งรถคันหนึ่งๆ ก็ให้นั่งไปมากๆ เพื่อประหยัดที่ เป็นต้น ซึ่งแต่ก่อนข้าพเจ้าก็มีโอกาสได้รับการฝึกฝนเช่นนี้ ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่วาง
เป็นระเบียบเหมือนกัน
ขณะทรงเยี่ยมราษฎร เมื่อมีผู้ขอพระราชทานพระมหากรุณาฯ หรือโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ต้องไปสัมภาษณ์เพื่อจดข้อมูลไว้ โดยมีวิธีการซักถามประวัติของผู้ที่จะสงเคราะห์ ถามถึงครอบครัว ลูกเต้า วิธีการทำมาหากิน รายได้ และความสามารถของแต่ละคน ใช้เวลาให้น้อยที่สุด พูดให้ดี สุภาพ ไม่ให้คนถูกถามตกใจจนพูดไม่ออก
พระองค์ได้พระราชทานคำแนะนำไว้ว่า ถ้ามีเวลาน้อยที่สุดจะต้องรู้ที่อยู่เขาเสียก่อน จะได้ให้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอื่นๆ ช่วยติดต่อไปภายหลังได้ เพื่อคิดพระราชทานความช่วยเหลือ และการช่วยเหลือก็ต้องทำระยะยาว ให้ความรู้ในการประกอบอาชีพจนเขาตั้งตัวได้ ไม่ใช่ว่าให้เขามีความหวังแล้วทิ้ง ต้องดูแลให้เขาได้รับความช่วยเหลือจริงๆ และสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด
ข้อคิดและเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ
จากการตามเสด็จฯ ทรงงานพัฒนาของทั้ง 2 พระองค์ ช่วยให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้กระบวนการพัฒนาที่นำไปสู่ความก้าวหน้าหรือความเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น และนำมาซึ่งข้อคิดบางประการคือ การพัฒนาที่ไม่สมดุลและไม่ยั่งยืน อาจจะก่อปัญหามากกว่าการแก้ปัญหา เช่น การเพาะปลูกใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่เป็นพิษจำนวนมากเกินพอดี เป็นอันตรายต่อสุขภาพของทั้งคนและสัตว์ในพื้นที่บริเวณนั้น อาจจะทำให้ดินเสีย เพาะปลูกไม่ได้มากเท่าเดิม การพัฒนาจึงต้องรักษาสมดุลกับการอนุรักษ์ เช่น ในการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ ต้องดูว่าจะเสียทรัพยากรอื่นๆ ที่ควรรักษาไว้หรือไม่ อย่างไร เป็นต้น
นอกจากนี้ การพัฒนาเป็นเรื่องกว้างและมีหลายด้าน ต้องทำกันอย่างต่อเนื่อง และมักต้องใช้เวลานาน เช่น
- การพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development) จะต้องวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการณ์ การลดปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ การพัฒนาบนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
- การพัฒนาการเกษตร (Agricultural Development) อาทิ การเพิ่มเนื้อที่การผลิต การเพิ่มผลิตภาพการผลิต หรือ Productivity เช่น ในพื้นที่เท่าเดิม สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น การเพิ่มผลผลิตสื่อความว่ามีผลผลิตเพิ่มขึ้น อาจเพราะการขยายพื้นที่เพาะปลูกหรือการเพิ่มทรัพยากรต่างๆ ในการผลิต และการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
- การพัฒนาสังคม (Social Development) มีหลายอย่าง เช่น สร้างความเท่าเทียมระหว่างชนเผ่าต่างๆ กลุ่มคนในสังคม ความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง การให้สิทธิเสรีภาพแก่บุคคลที่มีความจำเป็นในชีวิตต่างๆ กัน เช่น ผู้พิการ พัฒนาจิตใจคนให้มีคุณธรรม เป็นต้น การพัฒนาการศึกษา (Educational Development) อาทิ การกระจายโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา การพัฒนาหลักสูตร การอบรมครู บุคลากรทางการศึกษา
- การพัฒนาการเมือง (Politic Development) ให้เป็นไปทางประชาธิปไตย หรือให้เกิดความสงบ ความมั่นคง ต้องสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนในชาติ การพัฒนาองค์กรประชาชน พัฒนาการบริหาร การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น และวิธีการอื่นๆ เป็นต้น
การที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสตามเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ช่วยให้ข้าพเจ้าเห็นความสำคัญของการพัฒนาว่า การพัฒนาบ้านเมืองหรือการพัฒนางานทุกอย่างให้เจริญยิ่งขึ้นไปนั้น ไม่ควรมีลักษณะเป็นการก้าวหน้าจนลืมหลัง หากจำเป็นต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อน แล้วค่อยๆ สร้างเสริมให้ก้าวหน้ามั่นคงขึ้นเป็นลำดับ สำหรับเป็นรากฐานที่สามารถจะรองรับความเจริญและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดตามมาจากผลของการพัฒนา มิใช่มุ่งแต่จะพัฒนาให้รุดหน้าด้วยการทุ่มเทกำลังทรัพย์ กำลังคน ตลอดจนอุปกรณ์ทุกอย่าง เพื่อให้ได้ผลเร็วที่สุดและมากที่สุด ซึ่งจะทำให้รากฐานทานไม่อยู่ การพัฒนาที่อุตส่าห์ลงทุนลงแรงไปมากมายก็จะล้มเหลวลงอย่างน่าเสียดาย ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ ตามมา ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
ดังนั้น การพัฒนาบ้านเมืองให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน จึงต้องคำนึงถึงรากฐานเดิมอยู่ตลอดเวลา ถ้าเห็นว่า ความเจริญก้าวหน้าเกินกว่าฐานรองรับ ก็ต้องกลับมาเสริมฐานให้กว้างขวางมั่นคงจนมีกำลังเพียงพอก่อนจึงค่อยพัฒนาต่อไป
ยึดแนวพระราชดำริเป็นแนวทางในการดำเนินงานพัฒนา
จากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงให้ความสำคัญและตรัสเสมอว่า “คน” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนา ข้าพเจ้าจึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริในการทรงงานพัฒนาประเทศของพระองค์มาประยุกต์ใช้ในวิธีดำเนินงานโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ที่ข้าพเจ้าริเริ่มขึ้น ด้วยพอจะมีความรู้และความสนใจในเรื่องสุขภาพอนามัยและการศึกษา ข้าพเจ้าจึงมุ่งเน้นงานพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในท้องถิ่นทุรกันดาร เพื่อจะได้เติบใหญ่เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป
ข้าพเจ้าได้ยึดหลักการดำเนินงาน ซึ่งได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ดังนี้
1. การพึ่งพาตนเอง โดยเน้นให้ทุกคนได้ช่วยเหลือตนเองก่อนเป็นอันดับแรก เช่น การให้เมล็ดพันธุ์พืชผัก พันธุ์สัตว์ เพื่อผลิตอาหารไว้บริโภคเอง แทนที่จะให้อาหารโดยตรง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ต่อไป เป็นต้น
2. การมีส่วนร่วม เน้นให้ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการทำโครงการได้มีส่วนในการ
ช่วยคิดช่วยทำ อาทิ การที่ผู้ปกครองและเด็กต้องร่วมกันวางแผนและทำการผลิตทางการเกษตร จัดเวรในการประกอบอาหารกลางวัน ซึ่งมีผลทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ได้เรียนรู้และเข้าใจในกิจกรรมที่ทำอยู่
3. การพัฒนาแบบองค์รวมโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ โดยเน้นการพัฒนาในทุกๆ ด้านไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้กลุ่มเป้าหมายจะต้องได้รับความรู้จากกิจกรรมที่ทำ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตต่อไปได้ อาทิ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร มีการดำเนินกิจกรรมให้ความรู้ด้านเกษตรกรรมและกลุ่มเป้าหมายได้ปฏิบัติจริงทั้งการปลูกและประกอบอาหาร
4. การพัฒนาระบบประสานงานความร่วมมือจากทุกส่วน ในการช่วยเหลือจากภาครัฐบาลและภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ มีการจัดทำแผนงานหลักของโครงการทุกๆ ระยะ 5 ปี เพื่อให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นแนวทางทำให้งานต่างๆ มีความก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ
5. การพัฒนาผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยมีการอบรม การประชุมสัมมนา การศึกษาดูงาน เพื่อให้ความรู้และเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ปฏิบัติงานโครงการเป็นประจำ รวมทั้งมีการประเมินและรายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทราบถึงความก้าวหน้าของโครงการ และสามารถนำไปปรับปรุงการดำเนินงานได้
6. การยึดหลักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น กิจกรรมการพัฒนาต่างๆ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนำภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้
ข้าพเจ้าเริ่มดำเนินงานในสถานศึกษาก่อน หากท้องถิ่นใดยังไม่มีสถานศึกษาก็จะเข้าไปรวมกลุ่มเด็กในพื้นที่จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนชุมชนหรือโรงเรียน แล้วทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านกระบวนการทางการศึกษา เช่น โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร การส่งเสริมอนามัยแม่และเด็ก การส่งเสริมโภชนาการเด็กเล็ก การป้องกันโรคการพัฒนาครู การพัฒนาห้องสมุดและสื่อการเรียนการสอน การจัดตั้งและพัฒนาสถานศึกษา การพัฒนาการเรียนการสอน รวมถึงการพัฒนาอาชีพและสหกรณ์โรงเรียน การอนุรักษ์วัฒนธรรม หลังจากนั้นจึงขยายการพัฒนาไปสู่ชุมชน
การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน
ข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างการดำเนินโครงการในระยะเริ่มต้น ซึ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน ซึ่งจากการที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า คนเราถ้าสุขภาพอนามัยไม่ดีเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะไม่สามารถที่จะทำกิจการต่างๆ ต่อไป จึงเห็นว่านอกจากการช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลแล้ว เรื่องการบริโภคอาหารที่ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
ในระยะแรก ข้าพเจ้าจึงใช้โรงเรียนในสังกัดตำรวจตระเวนชายแดนเป็นแหล่งศึกษา เพราะเห็นว่าเป็นโรงเรียนในเขตท้องถิ่นที่ห่างไกลการคมนาคม และมีภาวะที่ยากลำบากต่างๆ โดยในตอนเริ่มต้นมุ่งดำเนินงานในแง่ที่ว่า ทำอย่างไรเยาวชนที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนจะมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ จึงคิดถึงเรื่องอาหารกลางวัน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ วัสดุที่ใช้ในการประกอบอาหาร โดยส่วนใหญ่ก็คือพืชผลทางการเกษตร และประชาชนส่วนใหญ่ในเขตที่ประสบปัญหานั้นมีอาชีพเกษตรเป็นหลัก จึงพยายามเสริมในส่วนนี้ โดยการให้พันธุ์พืชผัก หรืออุปกรณ์สำหรับให้นักเรียนทำการเกษตร เพื่อนำผลผลิตที่ได้มารับประทาน
เท่าที่ทำมาได้ผลดี คือช่วยให้นักเรียนมีอาหารดีขึ้น และได้รับความรู้ทางด้านการเกษตรในกรรมวิธีใหม่ๆ ได้เห็นความเสียสละของครูที่ช่วยดูแลนักเรียนให้มีทั้งสุขภาพ และวิชาการดีขึ้น จึงได้ขยายงานไปในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ โดยขณะนี้ทำเฉพาะโรงเรียนในสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ส่วนที่อื่นๆ ได้พยายามแนะนำในเรื่องอาหารเท่าที่จะทำได้
นอกจากนี้ สืบเนื่องจากข้าพเจ้าสนใจเรื่องการศึกษามานานแล้ว เมื่องานฉลองพระนครครบ 200 ปี ข้าพเจ้าได้เป็นประธานกรรมการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ได้บูรณะอาคารหลังหนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขณะนั้นคิดอยู่ว่าการบูรณะอาคารสถานนั้นเป็นการรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติในทางวัตถุ ควรทำควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านบุคคล ถ้าทำให้อาคารนี้เป็นโรงเรียนขึ้นมาใหม่ก็คงจะดีไม่น้อย ด้วยความช่วยเหลือของหลายฝ่าย ความคิดฝันของข้าพเจ้าก็เป็นจริง คือเกิดเป็น “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) เท่าที่เปิดมาได้ผลน่าพอใจ มีชั้นเรียนตั้งแต่ศูนย์ปฐมวัย อนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา มีโครงการทดลองเปิดศูนย์ปฐมวัยสำหรับเด็กหูหนวกด้วย
สำหรับระดับอุดมศึกษานั้นเคยสอนมหาวิทยาลัย ขณะนี้สอนอยู่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกระดับ เมื่อมีโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตามเสด็จฯ ไปต่างจังหวัด ข้าพเจ้ามักหาเวลาไปดูโรงเรียนต่างๆ เพื่อหาความรู้ และถ้าช่วยอะไรได้ก็จะช่วย ประเทศเรามีโรงเรียนค่อนข้างจะทั่วถึง ฉะนั้น โรงเรียนจึงเป็นแหล่งที่จะช่วยเผยแพร่ความรู้และบริการของทางราชการให้เข้าถึงชุมชนได้เป็นอย่างดีทั้งในด้านการเกษตร การประกอบอาชีพแขนงต่างๆ และด้านสาธารณสุข
บทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนา
ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ข้าพเจ้าเห็นว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทต่องานพัฒนาในหลายๆ ด้าน เนื่องจากเป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์และสร้างสรรค์ เพื่อช่วยในการทำงาน เพิ่มผลผลิต หรือแก้ปัญหาต่างๆ อันก่อให้เกิดวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อให้การดำรงชีวิตของมนุษย์ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้เข้ามีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นในการสร้างนวัตกรรม (Innovation) คือ การเรียนรู้ การผลิต และการใช้ประโยชน์จากความคิดใหม่ ให้เกิดผลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อันจะเป็นโอกาสหรือความท้าทายในการนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ งานพัฒนาของเราจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำอย่างเป็นองค์รวม ตั้งแต่กระบวนการคิด วางแผน และการนำไปวิจัยและพัฒนาต่อยอด จนกระทั่งได้ผลผลิตเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม ดังเช่นองค์ความรู้เทคโนโลยีอันเนื่องมาจากพระราชดำริอันหลากหลายที่ทรงพัฒนาและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด เพื่อนำมาช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคมไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ณ อาคารใหม่ สวนอัมพรเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2522 ความตอนหนึ่งว่า
“เทคโนโลยีนั้น โดยหลักการคือ การทำสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ดังนั้น เทคโนโลยีที่ดีสมบูรณ์แบบจึงควรจะสร้างสิ่งที่จะใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า และมีความสูญเปล่าหรือความเสียหายน้อยที่สุด แม้แต่สิ่งที่เป็นของเสีย เป็นของที่เหลือทิ้งแล้ว ก็ควรจะได้ใช้เทคโนโลยีแปรสภาพให้เป็นของใช้ได้ ในทางตรงข้ามเทคโนโลยีที่ใช้การได้ไม่คุ้มค่าก่อให้เกิดความสูญเปล่าและความเสียหายได้มาก ท่านทั้งหลายจะเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีที่บกพร่อง ไม่สมควรนำมาใช้ไม่ว่าในกรณีใด..."
ทรงเป็นแบบอย่างนักพัฒนา เพื่อความยั่งยืนและความอยู่ดีกินดีของราษฎร
โดยสรุปแล้วคือ มนุษย์อาจจะพบความรู้ทางวิทยาศาสตร์ต่อไปได้อีกไม่มีที่สิ้นสุด และสร้างเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อที่จะสนองความต้องการในด้านต่างๆ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม การมีเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่อาจเพียงพอที่จะสร้างความเข้มแข็งได้ หากผู้คนหรือสังคมไม่รู้จักวิธีการใช้ ขาดสารสนเทศที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ หรือขาดความพร้อม อันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ สังคม ประเพณี และวัฒนธรรม ดังนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่ "ความสมดุล" เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วนในทุกมิติ เพื่อสร้างความพร้อมและลดข้อจำกัด อันจะทำให้ผู้คนหรือสังคมเหล่านั้นได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเต็มศักยภาพ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานพระจอมเกล้าลาดกระบังนิทรรศน์ 26 ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2526 ความตอนหนึ่งว่า
“...การพยายามศึกษาวิทยาการและเทคโนโลยีอันก้าวหน้าทุกสาขาจากทั่วโลก แล้วเลือกสรรส่วนที่สำคัญเป็นประโยชน์ นำมาปรับปรุงใช้ให้พอดีพอเหมาะกับสภาพและฐานะของประเทศเรา เพื่อช่วยให้ประเทศของเราสามารถนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาใช้พัฒนางานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่สิ้นเปลือง...”
ทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แม้จะประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ก็ยังคงทรงงานอยู่ โดยทรงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ในการทรงงาน อาทิ ทรงรับฟังข้อมูลข่าวสาร รวมถึงสถานการณ์ต่างๆ ของประเทศ จากวิทยุสื่อสาร และสื่อต่างๆ และการรายงานผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ ผ่านทางคอมพิวเตอร์ ตลอดจนทรงสืบค้นข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ ทำรายงานถวาย และบางครั้งจะทรงให้คำแนะนำด้วย หากทรงพบว่าโครงการนั้นๆ มีปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงาน ในขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงให้ราชเลขานุการในพระองค์ฯ ติดตามผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ และนำมาถวายรายงานเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นแบบอย่างของนักพัฒนาที่ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ โดยทรงทุ่มเทพระวรกายและพระสติปัญญา เพื่อดำเนินทุกวิถีทางที่จะช่วยให้ประชาชนที่พระองค์ทรงรักได้มีความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งข้าพเจ้าเองได้ตั้งปณิธานที่จะเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท ในการช่วยเหลือประชาชนและประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน... เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทต่อไป .
ภาพประกอบ:http://www.scmpcenter.com