โพลล์เลือกตั้งชายแดนใต้ ปชป.ทิ้งห่าง พบชาวบ้านห่วงปัญหาว่างงานมากกว่าความไม่สงบ
สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ได้เปิดเผยผลสำรวจที่ใช้ชื่อว่า โออีซี โพลล์ (OEC Poll) เรื่อง ความคิดเห็นของประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พบว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเป็นพรรคการเมืองที่ครองคะแนนนิยมสูงสุดในพื้นที่ ส่วนปัญหาที่ชาวบ้านเป็นกังวลมากที่สุดกลับเป็นปัญหาว่างงานและเศรษฐกิจ หาใช่ปัญหาความไม่สงบที่ยืดเยื้อมานานกว่า 7 ปี
โพลล์ดังกล่าวนี้ใช้วิธีสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างจำนวน 3,000 คน ระหว่างวันที่ 13–19 มิ.ย.2554 ผลสำรวจพบว่า ประชาชนในพื้นที่มากถึงร้อยละ 98.9 ตั้งใจจะไปเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค.ที่จะถึงนี้ มีเพียงร้อยละ 1.1 ที่ตั้งใจไม่ไปเลือกอย่างแน่นอน
เมื่อถามเจาะลงไปถึงความคิดเห็นทางการเมือง พบว่า ประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ร้อยละ 69.4 ตัดสินใจเลือกผู้สมัครและพรรคการเมืองเรียบร้อยแล้วแล้ว ขณะที่ร้อยละ 30.6 ยังไม่ตัดสินใจ โดยพรรคการเมืองที่ประชาชนต้องการให้เป็นรัฐบาลมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 35.4 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 21.6 พรรคมาตุภูมิ ร้อยละ 8.3 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 4.8 และพรรครักประเทศไทย ร้อยละ 2.1
เมื่อถามถึงความสนใจติดตามข่าวสารทางการเมือง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ให้ความสนใจในระดับปานกลาง ร้อยละ 46.1 รองลงมาคือให้ความสนใจในระดับมาก ร้อยละ 25.7 ระดับน้อยร้อยละ 15.5 ระดับมากที่สุดร้อยละ 8.9 และไม่ติดตามข่าวสารทางการเมืองเลย ร้อยละ 3.7
ส่วนช่องทางในการติดตามข่าวสารทางการเมือง ประชาชนร้อยละ 78.8 ติดตามจากสื่อโทรทัศน์ ร้อยละ 7.7 ติดตามจากสื่อวิทยุ ร้อยละ 4.8 ติดตามจากเพื่อน ญาติสนิท ร้อยละ 3.2 ติดตามจากสื่อหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 3.0 ติดตามจากการพูดคุยในร้านน้ำชา ร้อยละ 2.1 ติดตามข่าวสารจากมัสยิด และร้อยละ 0.3 ติดตามจากหอกระจายข่าวหมู่บ้าน
เกณฑ์หรือคุณสมบัติที่ประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ส.ส.ในครั้งนี้มากที่สุด เรียงตามลำดับได้แก่ 1.ความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง 2.ความรู้ความสามารถ 3.นโยบายของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัด 4.ความเป็นผู้นำ 5.ความเสียสละ ทำงานเพื่อส่วนรวมมาตลอด 6.ความชื่นชอบผู้สมัครเป็นการส่วนตัว
ส่วนเกณฑ์หรือคุณสมบัติที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง เรียงตามลำดับได้แก่ 1.นโยบายเป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ได้จริง 2.มีความตั้งใจ จริงใจในการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม 3.เข้าใจและรับฟังปัญหาของประชาชน ช่วยเหลืออย่างจริงจัง 4.มีอุดมการณ์ที่แน่นอนมั่นคง 5.ซื่อสัตย์ ไม่คดโกง มีความโปร่งใสในการทำงาน
สำหรับปัญหาที่ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการให้รัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไขหลังเลือกตั้งมากที่สุด เรียงตามลำดับได้แก่ 1.ปัญหาเรื่องรายได้ และค่าครองชีพ 2.ปัญหาการว่างงาน 3.ปัญหาความไม่สงบ 4.ปัญหาด้านการศึกษา และ 5.ปัญหายาเสพติด
อนึ่ง โพลล์ของสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ โออีซี โพลล์ จัดทำโดย ผศ.ดร.เสถียร แป้นเหลือ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง อาจารย์เชาวน์เลิศ ล้อมลิ้ม จากภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นายจะเด็ด ศิริบุญหลง ฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง
โดยลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 62.2 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 37.8 เป็นเพศชาย ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างมีอายุระหว่าง 20-30 ปี ร้อยละ 51.1 อายุระหว่าง 31-45 ปี ร้อยละ 19.6 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 16.1 อายุระหว่าง 46-60 ร้อยละ 9.6 และอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 3.5
กลุ่มตัวอย่างในภาพรวมแยกเป็นนับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 89.4 นับถือศาสนาพุทธร้อยละ10.5 และนับถือศาสนาคริสต์ร้อยละ 0.1
ระดับการศึกษาของกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ34.6 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 32.6 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 17.2 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ร้อยละ 15.1 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 4.1 จบการศึกษาระดับปวช.และปวส. และอื่นๆ ร้อยละ 4.3
อาชีพของกลุ่มตัวอย่าง เป็นนิสิตนักศึกษาร้อยละ 25.7 ข้าราชการร้อยละ 22.7 ชาวสวนร้อยละ 15.1 อาชีพรับจ้างร้อยละ 14.0 อาชีพชาวนาร้อยละ 6.5 อาชีพค้าขาย ร้อยละ 4.3 แม่บ้าน 3.7 อาชีพอื่นๆ ร้อยละ 8.0
“อภิสิทธิ์”ลุยหาเสียงสามจังหวัดชูสานต่อผลงานดับไฟใต้
ด้านความเคลื่อนไหวการรณรงค์หาเสียงของผู้สมัคร ส.ส.และพรรคการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันอังคารที่ 21 มิ.ย.2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ได้ลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ยะลา และปัตตานี เพื่อหาเสียงช่วยผู้สมัครของพรรค พร้อมนำเสนอนโยบายแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านการพบปะผู้นำท้องถิ่นและผู้นำศาสนา บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลาม
โอกาสนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังขึ้นปราศรัยบนเวทีชั่วคราวที่สนามหน้าโรงแรมออมทอง อ.เมือง จ.ปัตตานีด้วย โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะสานต่อนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป โดยจะเน้นงานพัฒนาควบคู่กับการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม สำหรับผลงานที่ผ่านมาของพรรค สามารถยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชนให้เท่าเทียมกับคนในภูมิภาคอื่นๆ สถิติความรุนแรงก็ลดลง และยังยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เป็นอำเภอแรกอีกด้วย ถือเป็นความสำเร็จที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน
วันพุธที่ 22 มิ.ย.2554 นายวนัสธนา สัจจากุล หรือบิ๊กหอย หัวหน้าพรรคพลังคนกีฬา อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หมายเลข 36 ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ยะลา เพื่อตระเวนหาเสียงในเขตเทศบาลพร้อมกับลูกพรรค โดยใช้รถจักรยานยนต์แบบพ่วงข้าง หรือรถโชเล่ย์ ทั้งนี้ “บิ๊กหอย” ชูนโยบายสนับสนุนบอลไทยไปบอลโลก พร้อมผลักดันนักมวยในพื้นที่สามจังหวัดมุ่งสู่โอลิมปิค ตามนโยบาย “มวยดาวรุ่ง มุ่งสู่โอลิมปิค”
วันเดียวกัน ห้องประชุมยะลารวมใจ ชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ถนนสุขยางค์ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมคณะ ได้เป็นประธานการประชุมตรวจความพร้อมการรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง ส.ส. ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายตำรวจที่รับผิดชอบทุกพื้นที่เข้าร่วมประชุม รวมทั้งประธาน กกต.เขตทุกเขตด้วย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขณะลงพื้นที่หาเสียงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
2 "บิ๊กหอย" นายวนัสธนา สัจจากุล หัวหน้าพรรคพลังคนกีฬา โบกไม้โบกมือให้พี่น้องประชาชนขณะตระเวรหาเสียงในเขตเทศบาลนครยะลา (ภาพทั้งหมดโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)