จับตาโค้งสุดท้าย"กำนันสุเทพ" ว่าที่"วีรบุรษ"หรือกบฏการเมือง?
"..อย่างน้อยในหน้า “ประวัติศาสตร์การเมืองไทย” ก็ได้จารึกชื่อของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เอาไว้เรียบร้อยแล้วว่าเป็น “บุรุษผู้สั่นคลอนการเมืองไทย” ไม่ต่างจาก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นส่วนหนึ่งในความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมไทยซึ่งส่งผลมาถึงปัจจุบัน.."
ในช่วงรอบเดือนที่ผ่านมา ไม่มีบุคคลใดที่ถูกพูดในที่สาธารณะ และปรากฏอยู่ในหน้าสื่อทุกสำนักมากเท่า “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ แกนนำม็อบโค่นระบอบทักษิณ ที่ล่าสุดพัฒนาเป็น คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปประเทศ และขับไล่ตระกูลชินวัตรออกจากแผ่นดินไทย
ทั้งนี้ ปฏิบัติการ “คว่ำกระดาน” แสดงเจตจำนง “อารยะขัดขืน” ของ “สุเทพ” นั้น เกิดขึ้นจากกรณีรัฐบาลผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ซึ่งสอดไส้การนิรโทษ “ทักษิณ ชินวัตร” และแกนนำทุกสีเสื้อ ส่งผลให้หลากบุคคลหลายองค์กรตบเท้าเดินหน้าประท้วงในทันที ซึ่ง “สุเทพ” ก็อาศัยจังหวะเวลานั้นจัดเวทีที่ราชดำเนินขึ้น เพื่อคัดค้าน และประกาศโค่นล้ม “ระบอบทักษิณ” ให้สิ้นซากไปจากแผ่นดินไทย
โดยในช่วงคัดค้าน “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” นั้น ได้รับเสียงตอบรับล้มหลาม อาทิ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นำโดย “สมคิด เลิศไพฑูรย์” อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์, สหภาพรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น และนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการอีกจำนวนไม่น้อยที่ ’เห็นดีเห็นงาม’ กับการกระทำของ “สุเทพ” ในครั้งนี้
ต่อมาเมื่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกวุฒิสภาคว่ำ และรัฐบาลลงสัตยาบันไม่นำกลับมาพิจารณา และทิ้ง พ.ร.บ.ปรองดอง และนิรโทษอื่น ๆ ที่เหลือในสภาจนหมด แต่ “สุเทพ” ก็ยังดาหน้าลุยต้านรัฐบาลต่อ โดยอ้างว่าเพื่อขุดรากฐานโคนการคอร์รัปชั่นของ “ระบอบทักษิณ”
“ถ้าไม่ชนะผมจะไม่กลับไปเหยียบในสภา ถ้าล้มรัฐบาลไม่ได้ผมจะผูกคอตาย” วาทกรรมที่โด่งดังที่สุดในรอบเดือนของ “สุเทพ” ชี้ให้เห็นชัดว่านี่เป็นการเดิมพันแบบ “เทหมดหน้าตัก” อีกครั้งหนึ่ง
แม้ “สุเทพ” จะสั่ง ‘ยกระดับ’ การชุมนุม เคลื่อนพล ‘ม็อบนกหวีด’ ยึดกระทรวงสำคัญต่าง ๆ มากมาย ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่ล่อแหลมและส่อเค้าเกิดเหตุการณ์รุนแรง แต่ก็ยังมีคนเชิดชูเปรียบเสมือนเขาว่าเป็นดั่ง “วีรบุรุษ” ผู้มา “ปลดแอก” การเมืองไทยที่ในปัจจุบันเต็มไปด้วยปัญหา “คอร์รัปชั่น”
“เปลว สีเงิน” คอลัมนิสต์รุ่นเดอะจาก ‘ไทยโพสต์’ ได้เขียนบทความเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 ชื่อว่า “‘ล้านมหาชน’ บนเส้นลวด ‘สุเทพ’” โดยอธิบายว่า ถ้าจะว่าเป็นวัน “มหาประชาชนปฏิวัติ” ขับไล่เสนียดแผ่นดิน เข้าสู่โหมด “จัดระเบียบสังคมปกครอง – สังคมบริหาร – สังคมประชาชาติ” สู่อนาคตใหม่ที่มหาประชาชนร่วมแรง – ร่วมใจกันกำหนด “มันผิดตรงไหน ?” บนการนำของ “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” และคณะพรรค – คณะมิตรสหายร่วมแนวทาง “ขจัดระบอบทักษิณ – ปฏิวัติสังคมชาติใหม่”
“อยากบอกกับคุณสุเทพว่า คุณเป็นคนแรกและคนเดียวในจำนวน 24 – 25 ล้านคนไทย ที่สามารถชวนคนออกมาร่วมแนวทางได้เป็นล้าน มันยาก แต่สุเทพทำได้แล้ว !”
ส่วน “สุมิตรา จันทร์เงา” ได้อธิบายไว้ในบทความเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ชื่อว่า “สุเทพ เทือกสุบรรณ : ระเบิด…ที่หัวใจ” โดยระบุว่า เราไม่ได้เห็นเขาในอีกภาพหนึ่งซึ่งไม่ใช่นักการเมืองเสียแล้ว ไม่ใช่คนของประชาธิปัตย์หรือของใคร เขากลายมาเป็นกำนันของลูกบ้านที่เดือดร้อน และอาสาจะนำพาผู้คนไปบุกเบิกดินแดนใหม่โดยไม่กลัวเกรงสัตว์ร้ายหรือภยันตรายใด
“สุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ได้ทำสิ่งใดเลย นอกจากขจัด “ความกลัว” ออกไปจากหัวใจผู้คน และเขาทำได้สำเร็จ เขาทำให้ประชาชนได้ชัยชนะมาตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายนแล้ว มันชัดเจนที่สุดที่ไม่เคยมีผู้นำมวลชนคนใดเคยทำได้มาก่อน ห้วงเวลาที่เหลือต่อจากนี้เป็นแค่การปลดปล่อยความกลัวในหมู่ผู้คนบางส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่”
อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ที่เขม็งเกลียวและส่อเค้ารุนแรงขึ้นได้ทุกขณะ หลังจาก “กปปส.” ได้ยึดกระทรวงสำคัญและสถานที่ราชการไว้ โดยอ้างว่าเป็นการ “อารยะขัดขืน” นั้น ยังมีบุคคลบางกลุ่มออกมาทัดทานการกระทำดังกล่าวของ “สุเทพ” ไว้อีกด้วย
“ชัยวัฒน์ สถาอานันท์” ผู้นำวาทกรรม “อารยะขัดขืน” มาใช้ในไทยเป็นคนแรก ได้เขียนจดหมายถึง “สุเทพ” เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ระบุว่า การชุมนุม การเป่านกหวีด การเรียกร้องให้ชะลอการเสียภาษี รวมถึงการ “เดินดาวกระจาย” ไปเข้ายึดครองสถานที่หน่วยงานราชการนั้นถือเป็นการกระทำที่ ‘สันติวิธี’ แต่ล้วน ‘ละเมิดกฎหมาย’ และในเมื่อคุณสุเทพประกาศว่าการกระทำดังกล่าวเป็น “อารยะขัดขืน” ดังนั้นก็ต้องพร้อมรับโทษทัณฑ์ เพราะพลังของอารยะขัดขืนไม่ได้อยู่ตรงการขัดขืนเท่านั้น แต่อยู่ที่การยอมรับบทลงโทษด้วย
นอกจากนี้อารยะขัดขืนไม่ใช่สันติวิธีที่มีไว้ล้มรัฐบาล หรือเปลี่ยนระบอบการเมือง เพราะการยอมรับการลงโทษคือการยืนยันความชอบธรรมของผู้ลงโทษคือรัฐ เพราะเมื่อผู้ใช้อารยะขัดขืนถูกจับพร้อมกับมโนธรรมสำนึกในสังคมถูกปลุกให้ตื่นขึ้น ก็จะช่วยชี้ให้ผู้ออกกฎหมายในสภาได้ประจักษ์ว่า กฎหมายบางข้อนั้นไม่เป็นธรรม และต้องแก้ไขหรือยกเลิกเสีย
“ถ้าวิธีการที่คุณสุเทพใช้ไม่ใช่อารยะขัดขืน แต่เป็นสันติวิธีก็อาจทำและใช้สู้กับรัฐบาลได้ อีกทั้งยังทำให้ล้มรัฐบาลได้อีกด้วย อันที่จริงมีผลการวิจัยพบว่า สันติวิธีใช้ได้ผลต่อรัฐบาลเผด็จการยิ่งกว่าจะนำมาใช้ต่อสู้กับรัฐบาลในระบบประชาธิปไตย ซึ่งมีความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้ง”
นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ Siam Intelligence (SIU) ได้เขียนบทความชื่อว่า “สิ่งที่คุณสุเทพควรปฏิรูปเป็นอย่างแรก คือพรรคประชาธิปัตย์” โดยระบุว่า ข้อเสนอของคุณสุเทพในการปฏิรูปประเทศไทยนั้น หลายข้อมีความก้าวหน้า แม้บางข้อยังไม่มีรายละเอียดมากนักว่าจะนำไปปฏิบัติจริงได้ แต่ข้อเสนอเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน ถ้าหากคุณสุเทพนำเสนอในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ก็จะเป็นนโยบายหาเสียงที่ทรงพลังมาก
คำถามคือ ทำไมเราไม่เห็นพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประกาศข้อเสนอเหล่านี้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และย้อนไปในช่วงที่ ปชป. เป็นรัฐบาลระหว่างปี 2551 – 2554 ทำไมถึงไม่ดำเนินนโยบายก้าวหน้าเหล่านี้
คำตอบคงเป็นเพราะ ปชป. เองก็เป็นส่วนหนึ่งของ “การเมืองระบบเก่า” ที่คุณสุเทพเห็นว่า “เป็นปัญหาและต้องปฏิรูปหรือไม่ ?”
บทความดังกล่าว ระบุอีกว่า ต้องยอมรับว่า ปชป. มีปัญหาหลายประการ ที่สำคัญที่สุดคือปรับตัวตามกระแสโลกไม่ทัน และภายหลังยังมีปัญหาเรื่องการเอาหลังอิง “อำนาจนอกระบบ” จนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการเมืองในประเทศไทย
เพียงแต่คุณสุเทพกลับไปปฏิรูป ปชป. ให้เข้มแข็งต่อสู้กับพรรคเพื่อไทย (พท.) ในเชิงการเมืองได้ แล้วเข้ามาเป็นรัฐบาลที่มั่นคง ดังที่คุณสุเทพวาดฝันไว้ ก่อนจะมาดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศไทยอย่างจริงจัง เนื่องจากความเจริญของประเทศตามระบอบประชาธิปไตยไม่มีทางลัด ระบอบประชาธิปไตยเปิดกว้างให้ผู้หวังดีต่อประเทศ เข้ามาเสนอนโยบายว่าประเทศไทยควรจะมุ่งไปในทิศทางใด
“คุณสุเทพอาจใจร้อนไปสักหน่อยที่ต้องแพ้การเลือกตั้งให้กับสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” อยู่ร่ำไป แต่ถ้ามองถึงประโยชน์ระยะยาวของประเทศแล้ว คงไม่มีเส้นทางอื่นใดนอกจากกลับมาโฟกัสที่การปฏิรูป ปชป. เสียที”
ทั้งหมดนี้ถือเป็นข้อคิดเห็นในเชิง “สาธารณะ” ต่อ “สุเทพ” ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างเกรียวกราว ราวเสียงนกหวีดที่ดังกระหึ่มอยู่ในสังคมขณะนี้
อย่างไรก็ดี น่าสังเกตว่าการกระทำของ “สุเทพ” คลับคล้ายคลับคลากับ ม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เมื่อปี 2549 และปี 2551 เป็นอย่างมาก โดย “เกษียร เตชะพีระ” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่คล้ายกันระหว่างทั้งสองม็อบคือ
1.วาทกรรม (ราชาชาตินิยม)
2.ยุทธศาสตร์ (ปฏิรูประบอบการเมืองไปในทิศทางลดอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนลง เพิ่มอำนาจของบรรดาสถาบันที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมาก
3.ยุทธวิธี (ก่อม็อบอนาธิปไตย ยึดสถานที่ราชการ ให้รัฐเป็นอัมพาตทำงานไม่ได้)
4.เป้าหมายเฉพาะหน้า (ล้มรัฐบาล)
และ 5.วิสัยทัศน์ทางการเมือง (ระบอบกึ่งประชาธิปไตยใต้การกำกับของทหารและคณะตุลาการคุณธรรม)
ทั้งนี้ไม่ว่าปฏิบัติการ “คว่ำกระดาน” ของ “สุเทพ” จะบรรลุจุดประสงค์ จนกลายเป็น “วีรบุรุษทางการเมืองไทย” ที่ปฏิวัติประชาชนเพื่อสังคมใหม่
หรือจะเป็นเพียง “กบฏประชาธิปไตย” ที่จ้องล้มตัดขารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ตาม
แต่อย่างน้อยในหน้า “ประวัติศาสตร์การเมืองไทย” ก็ได้จารึกชื่อของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เอาไว้เรียบร้อยแล้วในแง่ “บุรุษผู้สั่นคลอนการเมืองไทย”
ไม่ต่างจาก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นส่วนหนึ่งในความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมไทยซึ่งส่งผลมาถึงปัจจุบัน