เปิดแนวคิด ‘คุณชายอดัม-สิงห์’ กับความเป็นไปได้ของ ‘จริยธรรม’ คนทำสื่อ
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ‘สื่อมวลชน’ ปัจจุบันมีบทบาทอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางของประเทศไทย โดยเฉพาะในสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองในขณะนี้ จนบางฝ่ายต่างเรียกร้องถึงจริยธรรมหลักวิชาชีพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นกลางและมีคุณธรรม หากแต่ความเป็นจริงแล้วท่ามกลางสื่อมวลชนที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดคงยากที่จะควบคุมให้ทุกองค์กรสามารถมีจริยธรรมในลักษณะเดียวกันได้
ซึ่งภายในงานส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ประจำปี 2556 ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้มีการนำเสนอปรัชญาและแนวคิดของ 2 หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งวงการบันเทิงเมืองไทยเกี่ยวกับจริยธรรมคนทำสื่อที่ควรจะเป็น ในเวทีเสวนา ‘มองจริยธรรมผ่านสายตาคนทำสื่อรุ่นใหม่’
ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล หรือ ‘คุณชายอดัม’ บุตรชายหัวเเก้วหัวเเหวนในม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล กับหม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา ในฐานะผู้กำกับหนังมาดเท่ ดีกรีหนุ่มนักเรียนนอกกับเรื่องล่าสุด ‘สารวัตรหมาบ้า’ ฝากมุมมองจริยธรรมสื่อไว้อย่างน่าสนใจว่า จริยธรรมเปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนตัวผู้สร้างได้ถูกอบรมบ่มเลี้ยงหรือมีจริตเจตนาที่ดีอย่างไรในการนำเสนอสื่อต่อสังคม
ดังนั้น หากถามว่าข้อจำกัดด้านจริยธรรมสื่อสามารถก้าวข้ามได้มากเท่าไหร่ ผมว่าสามารถก้าวข้ามได้เยอะมาก ซึ่งเราอาจไม่จำเป็นต้องทำตามจริยธรรมที่ถูกกำหนดขึ้นก็ได้ เพราะแต่ละบุคคลมีจริยธรรมของตนเองอยู่แล้ว โดยจากพื้นฐานการเติบโตจากครอบครัว การศึกษา ฉะนั้นจริยธรรมของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเจตนา
ส่วนจริยธรรมสื่อจะเป็นข้อจำกัดในการทำงานของตนเองหรือไม่นั้น คุณชายอดัม ระบุว่าไม่มีข้อจำกัดสำหรับผม เพราะไม่เคยบอกว่าผมมีจริยธรรม แต่ก็พยายามเน้นย้ำอยู่เสมอเช่นเดียวกับสื่อหลาย ๆ สำนัก
“การที่ได้ก้าวข้ามกรอบจริยธรรมแล้วทำให้ตนเองรู้สึกผิด และให้ผู้อื่นมองเราในมุมมองที่ผิด นั่นหมายถึง จริยธรรมของเรากับผู้อื่นอาจจะมีความแตกต่างกัน หรือไม่เราพยายามทำลายจริยธรรมส่วนรวมของสังคมไป” คุณชายอดัม กล่าว และว่าเพราะฉะนั้นมันไม่มีข้อจำกัดเลยที่จะก้าวข้ามจริยธรรมไปแล้วทำสื่ออะไรก็ตามออกมา เพราะในโลกเสรีสามารถทำอะไรก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่แก้ผ้าเดินโทงเทงถ่ายวิดีโอลงอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา
...แต่มุมมองคนอื่นที่มองเรา ถ้าแก้ผ้าเดินโทงเทงทำให้เราเป็นสัญลักษณ์ของสังคมหรือกลายเป็นผู้ถูกรุมประณาม นั่นก็ขึ้นอยู่กับจริยธรรมของเราที่มีเจตนาสื่อออกไป...
คุณชายอดัม ยังชี้ให้เห็นอีกว่า จรรยาบรรณหรือจริยธรรมยังเปรียบเสมือนวิชาบังคับเลือก บังคับโดยหลายปัจจัย โดยอดีตมักจะบังคับอนาคตเสมอ สิ่งที่เราได้รับมาจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งมักจะถูกส่งต่อไปอีกรุ่นหนึ่ง เช่น ‘การคอร์รัปชั่น’ที่ถูกส่งต่อมายังปัจจุบัน
“ความคิดในเรื่องของการสั่งสอนสิ่งใดถูกหรือไม่ถูกมักถูกส่งมาจากในอดีตสู่ปัจจุบัน จริยธรรมหรือจรรยาบรรณก็มักถูกส่งต่อมาจากอดีตสู่ปัจจุบัน ดังนั้น กรอบจริยธรรมทั้งหมดไม่ได้บอกว่าเกิดจากคนรุ่นใหม่ แต่โดยวิธีนำเสนอรูปแบบใหม่”
ดังนั้น เป้าหมายในการนำเสนอสื่อมีเป้าหมายเดียวกัน แต่อาจจะไม่ได้หาวิธีแบบบี ซี ดี อี ได้ เพราะวิธีการแบบ เอ นั้นเป็นวิธีการจากอดีต ฉะนั้น จรรยาบรรณหรือบรรทัดฐานของผู้ผลิตสื่อยังต้องยึดกรอบจากอดีตเป็นสำคัญ
คุณชายอดัม กล่าวอีกว่า อีกปัจจัยหนึ่งคือระบบหรือระบอบที่ครอบงำสังคมในขณะนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เช่น ปัจจุบันนี้เราถูกครอบงำด้วยระบอบทุนนิยม เงินเป็นผู้กำหนดบรรทัดฐานของจรรยาบรรณ หรือจริยธรรมในระดับหนึ่ง เพราะทุกคนทำตามเงิน
ทำให้จริยธรรมหรือจรรยาบรรณจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งที่สามารถเป็นไปได้ในแง่ของรูปตัวเงิน แต่ขณะเดียวกันก็มีกำแพงของมันอยู่ กล่าวคือ อดีตบอกว่าคุณห้ามโป๊ เพราะฉะนั้นคุณสามารถวิ่งมาชนได้ และหาเงินมาสร้างจรรยาบรรณแบบใหม่ขึ้นมาให้การแก้ผ้าเป็นสิ่งถูกต้อง หรือคุณสามารถควักลูกตาในหนังได้ ทั้งที่ในสมัยก่อนอาจจะทำไม่ได้
“เมื่อถึงจุดหนึ่งคุณอาจจะเจออดีตที่จะวิ่งเข้ามาและบอกว่าไม่ได้นะ เพราะหลายคนไม่เคยยอมรับสิ่งเหล่านี้ มันก็จะเปรียบเหมือนคลื่นซัดฝั่ง ฝั่งก็จะหายไปทีละนิด อดีตก็จะหายไปทีละนิด เพราะถูกคลื่นซัดมาเรื่อย ๆ วันดีคืนดีอาจมีหินถล่มลงมา จนต้องสร้างกำแพงขึ้นมาใหม่ และเชื่อว่าจะมีการพุ่งชนกำแพงแบบนี้ต่อไป” คุณชายอดัม อธิบาย
พร้อมระบุต่อว่า ปัจจุบันวงการสื่อของไทยยังเป็นทุนนิยม ทุกคนวิ่งตามเรตติ้งนับถือเป็นเสมือนเทพเจ้าของวงการทีวี นับถือนายทุนเป็นใหญ่ในวงการภาพยนตร์ นับถือบก.ข่าว แต่ก็ไม่รู้ว่าบก.ข่าวจะนับถืออะไรไว้
ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือส่วนนี้ต้องคอยฟัดกับอดีตเหมือนกัน คนที่ออกมาก็ถูกบังคับเลือกให้อยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง แต่เราอยู่ตรงกลางแล้วโดนคลื่นซัดเข้าฝั่ง ถามว่าเราจะทำอะไรตามใจเราได้หรือไม่ ผมว่าไม่จริง ในขณะเดียวกันเรามีสิทธิที่จะทำ แต่เราต้องโดนตอกกลับแน่นอน เหนือเมฆทำโดนตอกกลับ ทำหนังมามีพระเล่นกีต้าร์โดนตอกกลับ คือ มีหลายมุมมองโดนตอกกลับไปมา เป็นประจำ เหมือนเราถูกบังคับเลือกกลาย ๆ ตั้งแต่เลือกทำสื่อแล้ว
ด้านวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล หรือ ‘สิงห์’ ทายาทคนเล็กของอดีตแกนนำประชาธิปไตยอย่างเสกสรรค์ ประเสริฐกุล และจิระนันท์ พิตรปรีชา ในฐานะนักคิด นักเขียน และผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อตัวแทนคนรุ่นใหม่อีกคนหนึ่ง มองว่า จริยธรรมเป็นข้อตกลงให้กับคนที่อยู่ตั้งแต่สองคนขึ้นไปกำลังบอกว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง แต่ข้อตกลงดังกล่าวย่อมขึ้นอยู่กับการมองของคน โดยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของคนนั้น ฉะนั้นจริยธรรมที่พูดถึงอาจเป็นจริยธรรมที่มีความแข็งตัวและหนืด กล่าวคือ ไม่ยอมเปิดที่ว่างให้ขยับ ซึ่งนั่นเป็นมิติหนึ่งของจริยธรรมที่ถูกกำหนดขึ้นตายตัวของสังคมที่วางกันแล้วว่าจริยธรรมที่ดีเป็นเช่นนี้ เช่น ห้ามดื่มเหล้า ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามจับปืนเจาะหัวคน ห้ามแต่งตัวโป๊ ซึ่งล้วนแต่เป็นจริยธรรมที่ตายตัว
โดยจริยธรรมที่ตายตัวอาจจะมีปัญหาในการทำสื่อบ้าง เพราะบางครั้งเราอยากนำเสนออะไรที่สร้างสรรค์ แต่ต้องไปติดกับหลักเกณฑ์เหล่านี้ ซึ่งมิได้สัมพันธ์กับสภาวะปัจจุบันกับสังคมขณะนั้น แต่ถือกันมาแต่ก่อนว่าเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง นับว่าเป็นข้อจำกัด
หากแต่อีกด้านหนึ่งก็มีจริยธรรมสากลที่ควรจะทำกันไว้ เช่น ไม่สร้างความเกลียดชังผ่านสื่อมวลชน การนำเสนอข้อมูลทุกด้าน การพูดจาให้เกียรติซึ่งกันและกัน ถือเป็นจริยธรรมในแง่หนึ่ง และอาจจะยอมรับกันได้ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าจรรยาบรรณของอาชีพสื่อก็ได้ แต่ว่าจริยธรรมซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวของสังคมค่อนข้างมีปัญหามากขึ้น เพราะเริ่มมีคนไม่เห็นด้วย
“หลายกรณีนำมาสู่การพูดคุยในปีนี้ มีตั้งแต่ ละครเหนือเมฆ รายการตอบโจทย์ ซึ่งถ้ามองลึก ๆ แล้ว คือความขัดแย้งของจริยธรรมด้านที่โดนกำหนดไว้ และด้านที่คนเห็นว่าควรเปิดเสรีให้มีการโต้เถียงว่ามันคือจริยธรรมดีหรือไม่” สิงห์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม สิงห์ เห็นว่าจริยธรรมที่ลื่นไหล คือ จริยธรรมที่สอดคล้องกับบริบทเดียวกันของสังคม ซึ่งอนุญาตให้คิดว่าถูกหรือไม่ ผิดหรือไม่ โดยหากจะว่าไปในเรื่องปรัชญาต้องมานั่งคิดอีกว่า สมมติจะมานั่งพูดเรื่อง นโยบายอันหนึ่ง เราควรจะเน้นเรื่องความถูกต้องทางศีลธรรมที่เน้นทางศาสนา หรือเน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับแนวโน้มของสังคมว่าต้องการอะไรขณะนี้ เพราะฉะนั้นศีลธรรมที่เป็นสากลและอยู่ได้ จะต้องตอบโจทย์ในทุกด้าน และไม่มีศีลธรรมที่อยู่ได้ เพราะสิ่งนั้นไม่ได้ตอบโจทย์ทุกด้าน
“ขึ้นชื่อว่าศีลธรรมจรรยาย่อมอยู่ในตัวของมันเอง และต้องมาจากข้างในทำอะไรด้วยความสมัครใจ ถ้าทำในรูปแบบว่าเราต้องทำอะไรที่ถูกหรือผิดจากข้างนอก ยิ่งออกในรูปของกฎหมาย หรือบรรทัดฐานองค์กร แต่ข้างในมันก็คือศีลธรรมของเราเอง ซึ่งแน่นอนว่าแรงกดดันจากข้างนอกคงโดนกำหนดด้วยจริยธรรมของคนหลาย ๆ คนอยู่ดี” สิงห์ กล่าว และว่า แน่นอนว่ามีศีลธรรมบางอย่างที่เราละเมิดไม่ได้ ถ้าละเมิดขึ้น จะต้องโดนสังคมปาก้อนหินใส่ แต่หากวางอยู่เป็นบรรทัดฐานมาก่อน แล้วเราละเมิดที่ละนิด อย่างเนียน ๆ เช่น การวิจารณ์ศาสนา ก็ค่อย ๆ ทำไป ด้วยความนอบน้อม เพราะว่าเราทำเพราะอยากสื่อที่คนไม่เห็นเหมือนเรา ให้รู้ว่าก่อนหน้านี้ที่เรารู้สึกว่าวิจารณ์ไม่ได้ เรามีความคิดอยากค่อย ๆ ลองส่งไป แต่หากออกตัวแรงปุ๊บมันก็ชนกำแพงทันที ไม่สามารถทำต่อได้ ซึ่งหากเป็นแรงกดดันจากข้างนอกเราก็หาวิธีอ้อม ๆ ไปได้
ส่วนแรงกดดันจากภายในเป็นกระบวนการจากการลองและก็ดูว่าเราเห็นด้วยกับข้างในจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นตัวการที่ต้องแก้ไปในตัวเรื่อยๆ แต่ก่อนอาจจะคิดว่าคำพูดที่เบา ๆ มันดี แต่โตไปเบา ๆ อาจจะไม่กี่คนที่ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนจริยธรรมส่วนตัวไปตามนั้น อย่างเช่น คนทำหนังก็มีแนวทางที่ค่อย ๆ พัฒนาไปเรื่อย
“วิธีที่นำเสนอสื่อก็แสดงถึงตัวตนเราที่อยู่ข้างในจริง ๆ เพียงแค่ทุกท่านที่อยู่ตรงนี้มีพื้นที่เอาตนเองออกมาจากผลงานของตนเอง แต่ว่ามีสื่อจำนวนมากในองค์กรใหญ่ ๆ ที่รับโจทย์มาต้องทำงานนั้นไปและก็มีเจ้านายเต็มที่ก็ไม่สามารถจะหันมาคิดเรื่องจริยธรรมได้ ยกเว้นเรื่องเวลาส่งงานเมื่อไหร่ เจ้านายต้องการอะไรมากกว่าเท่านั้น” สิงห์ กล่าวในที่สุด .
ภาพประกอบ:http://www.ryt9.com