เครือข่ายปชช.-สมัชชาปฏิรูปเสนอ 7 ข้อปฏิรูปประเทศระยะเปลี่ยนผ่าน
เครือข่ายปชช.-สมัชชาปฏิรูประดับพื้นที่ระดมความเห็น ประมวลข้อมูล คสป.-คปร.ออก7 ข้อเสนอปฏิรูปประเทศระยะเปลี่ยนผ่าน ชงสางระบบการเมือง-ที่ดิน-เกษตร-ยุติธรรม-พลังงาน-การศึกษา ขับเคลื่อนปราบทุจริต ป้องกันทุนสามานย์ผูกขาด
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 เครือข่ายภาคประชาสังคมและสมัชชาปฏิรูประดับพื้นที่ จัดระดมความความคิดในเวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมรามา การ์เด้น กรุงเทพฯ และออกแถลง (ร่าง) ข้อเสนอนโยบายเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งประกอบไปด้วยข้อเสนอปฏิรูป 7 ด้าน ได้แก่
1.ปฏิรูปใหญ่ระบบการเมืองการปกครอง จัดกระบวนการสร้างเป้าหมายและหลักการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันทั้งภาคประชาสังคม ธุรกิจ พรรคการเมืองทุกขั้ว ข้าราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่นและฝ่ายวิชาการ
ดำเนินการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ครั้งที่สอง โดยออกแบบกติกา กลไกและระบบ การเมืองการปกครอง ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและหลักการร่วม โดยให้เวลาและความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้และมีส่วนร่วมของพลเมืองอย่างจริงจังสัก 2-3 ปี ก่อนที่จะมีการลงประชามติรับรอง
โดยมีประเด็นท้าทายที่ต้องหาคำตอบร่วมกัน ได้แก่ เป้าหมายและหลักการปกครอง, พระมหากษัตริย์เป็นประมุขและสัญลักษณ์, การแยกอำนาจที่ชัดเจนระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ, การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง, รัฐสภาระบบคู่และที่มาของ สส.และสว., อำนาจตรวจสอบขององค์กรอิสระ, การยกเลิกหน่วยราชการส่วนภูมิภาค, การปฏิรูประบบงบประมาณสำหรับลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมระดับพื้นที่ (งบประมาณ 5% สำหรับจังหวัดจัดการตนเอง), การปฏิรูประบบการปกครองท้องถิ่น, การคืนอำนาจให้ชุมชนจัดการตนเองในด้านต่างๆ
2.ขับเคลื่อนพลังทั้งสังคมเพื่อปฏิรูประบบป้องกันและปราบปรามการทุจริต ออก พ.ร.บ.จัดตั้งกองทุนสนับสนุนบทบาทภาคพลเมืองในการป้องกันและแก้ปัญหาทุจริต ให้สรรพากรร่วมมือกับ ป.ป.ช.ในการใช้มาตรการทางภาษีย้อนหลัง แก้ไข พ.ร.บ.เพื่อยุบรวม ป.ป.ท. เข้าไปไว้กับ ป.ป.ช. หรือ สตง.ออกระเบียบห้ามมิให้ อัยการและข้าราชการที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่งในรสก.หรือบริษัทรับค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์จากองค์กรนั้นๆ รัฐบาลและกระทรวงทุกกระทรวงจักต้องประกาศนโยบายรูปธรรมในการป้องกันและปราบปรามทุจริตในหน่วยงานตนอย่างเฉียบขาด เป็นแบบอย่างแก่สังคม
สนับสนุนการปฏิรูประบบบริหารจัดการคดีที่คั่งค้างในสำนักงาน ป.ป.ช. และทบทวนและปฏิรูประบบการดำเนินงานเม็กกะโปรเจค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจแก่สังคม อาทิ โครงการคมนาคม 2 ล้านล้าน โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน โครงการจำนำข้าว
3. ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ป้องกันทุนสามานย์ผูกขาด ได้แก่ ปฏิรูประบบการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันการผูกขาดของทุนสามานย์ สำรวจและทบทวน นโยบาย กฎหมายและโครงการที่เข้าข่ายการผูกขาดการค้าและการลงทุนอย่างจริงจัง
ปฏิรูปทุน ให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงทุนในระบบมากขึ้น สนับสนุนบทบาทสหกรณ์ กลุ่มออมทรัพย์ และกองทุนที่รัฐจัดตั้งขึ้น จัดตั้งธนาคารแรงงาน ปฏิรูปแรงงานภาคอุตสาหกรรม เพิ่มค่าจ้าง เพิ่มสวัสดิการและเพิ่มผลิตภาพ ปฏิรูประบ บการจัดการแรงงานต่างชาติ ทะเบียน การเสียภาษี การคุ้มครองสิทธิ์ สวัสดิการ (ยกเว้นหลักประกันการมีงานทำ) และสิทธิในการเลือกตั้งท้องถิ่นในบางระดับ ปฏิรูประบบสัมปทานเหมืองแร่ ทั้งบนบกและชายฝั่ง และอุตสาหกรรมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ กำกับดูแล รับผลประโยชน์จากเหมืองแร่ทุกชนิดในพื้นที่ แลกกับผลกระทบที่ต้องแบกรับ และปฏิรูประบบงานEIA/EHIA ใหัชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างสำคัญ สนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงโครงการลงทุนอื่นๆของภาคเอกชนด้วย
4. ปฏิรูปการบริหารจัดการที่ดินและการเกษตรเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้แก่ ปฏิรูปการบริหารจัดการที่ดิน ผลักดันกฎหมายที่ดินเพื่อคนจนจำนวน 4 ฉบับ คือ 1.(ร่าง) พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร พ.ศ.... 2.(ร่าง) พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ..... 3.(ร่าง) พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า พ.ศ.... และ 4.(ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ.........
ปฏิรูประบบการเกษตรอย่างครบวงจรเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เป้าหมายคือ การเกษตรกรมี มีหลักประกันและมีสุขภาวะ ผู้บริโภคมีความปลอดภัยและมีทางเลือก ทั้งในด้านที่ดินทำการเกษตร ระบบชลประทาน เงินทุน ความรู้เทคโนโลยี พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ปุ๋ย สารเคมี การควบคุมสารพิษ ไซโล ลานตาก การแปรรูป การตลาดและการประกันราคาสินค้าเกษตร
ปฏิรูประบบการดูแลฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า จัดทำ GIS ที่ดินสาธารณะรกร้างว่างเปล่าและป่าชุมชนทั่วประเทศ 30 ล้านไร่ให้ชัดเจน เฝ้าระวังมิให้ใครนำไปครอบครองเป็นสมบัติส่วนตัว แต่สนับสนุนให้มีการจัดการในเชิงสมบัติสาธารณะที่ชุมชนท้องถิ่นดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน และสร้างความสมดุลและเข้มแข็ง ทั้งเกษตรพอเพียงและเกษตรเชิงพาณิชย์-อุตสาหกรรมเกษตร เพื่อความมั่นคงทางอาหารและเพื่อการพึ่งตนเองทางพลังงาน โดยกำหนดสัดส่วนเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหารร้อยละ 70 และเพื่อการพึ่งตนเองทางพลังงานร้อยละ 30 จัดระบบการโซนนิ่งพื้นที่การเกษตร ระบบชลประทาน ระบบพันธะสัญญาที่เป็นธรรม ระบบการแปรรูปที่ชุมชนท้องถิ่น มีส่วนร่วม
5. ปฏิรูประบบยุติธรรม ได้แก่ ปฏิรูประบบงานตำรวจ ถ่ายโอนงานตำรวจแห่งชาติสู่ระบบตำรวจท้องถิ่น โอน สตช.ไปขึ้นกับกระทรวงยุติธรรมและให้มีส่วนงานเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เช่นสันติบาล ปราบจราจล สืบสวนกลาง และกองปราบ นิติเวชและรพ.ตำรวจ ปฏิรูปโครงสร้าง องค์ประกอบและศักยภาพกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในทุกระดับโดยเฉพาะคณะกรรมการสถานีตำรวจชุมชน จัดให้มีองค์กรอิสระในการรับเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนตำรวจ พัฒนาระบบกำลังคนและวิชาชีพด้านการสอบสวน
ปฏิรูประบบงานอัยการ ยกเลิกระบบงานอัยการสูงสุด เปลี่ยนเป็นสำนักงานอัยการโดยโอนไปขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม ให้อัยการมีบทบาทในการบริหารงานยุติธรรมอย่างเต็มตัว เพื่อลดจำนวนคดีที่ขึ้นสู่ศาลและราชทัณฑ์ และปฏิรูประบบการลงโทษคดีอาญา ลดโทษอาญา เพิ่มกระบวนการไกล่เกลี่ย เน้นโทษปรับที่เหมาะสมตามความผิดแทนการจำคุก
6. ปฏิรูประบบความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ทบทวนทิศทางนโยบายพลังงานแห่งชาติ ลดระบบรวมศูนย์การวางแผน การตัดสินใจ การสั่งการดำเนินการและการพึ่งพาแหล่งผลิตพลังงานขนาดใหญ่ที่ต้องนำเข้าเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพิ่มระบบการกระจายศูนย์มากขึ้น จัดความสมดุลของแหล่งที่มาของพลังงานที่หลากหลาย ให้ครอบคลุมความมั่นคงพลังงาน ทั้งในด้านเชื้อเพลิง ไฟฟ้า และการคมนาคมขนส่ง
ออก พ.ร.บ.สนับสนุนระบบพลังงานชุมชนท้องถิ่น พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ลมและชีวมวล ปฏิรูประบบและโครงสร้างความสัมพันธ์ในอำนาจการจัดการและผลประโยชน์ระดับต่างๆ ระหว่างชุมชนท้องถิ่นและส่วนกลาง อันเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและกิจการพลังงาน และทบทวนนโยบายราคาพลังงานไฟฟ้า แก็ส น้ำมันเชื้อเพลิง ให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชน ผู้บริโภค ในมาตรฐานกลุ่มประเทศอาเซียน
7. ปฏิรูประบบการเรียนรู้และการจัดการศึกษา ส่งเสริมบทบาทภาคประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาของท้องถิ่น ปรับปรุงมาตรการการคลังและวิธีการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาไปสู่ฐานชุมชนท้องถิ่นตามตัวผู้เรียน ปรับปรุงการศึกษาพื้นฐาน อาชีวะศึกษา อุดมศึกษา การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ที่สมดุล หลากหลาย มีทางเลือก พัฒนาการศึกษาและระบบดูแลกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ คือ กลุ่มแรงงาน กลุ่มลูกหลานเกษตรกร เด็กแรงงานต่างด้าว เด็กนอกระบบการศึกษา เด็กด้อยโอกาส เด็กยากจน ทบทวนระบบเงินกู้ยืมทางการศึกษา และส่งเสริมการศึกษาเพื่อการมีงานทำ เน้นทักษะทางอาชีพที่จำเป็น
โดยที่ข้อเสนอทั้งหมด อ้างอิงข้อมูลจาก มติสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย (คปร.) ในด้านต่างๆ ข้อมูลบางส่วนจาก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) และโครงการหมาเฝ้าบ้าน มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. แนวทางและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเชิงนโยบายของรัฐบาลในยุคปัจจุบัน ของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปด้านต่างๆ ของนักวิชาการ