"ดร.วัน-อ.จรัญ"เตือนโต๊ะเจรจาอย่าชูแค่ BRN ปูดมีนายหน้าค้าไฟใต้
วงเสวนา 10 ปีไฟใต้ อดีตประธานเบอร์ซาตูประสานเสียงนักวิชาการมุสลิม พูดคุยดับไฟใต้เดินถูกทาง แต่อย่าให้น้ำหนัก "บีอาร์เอ็น" กลุ่มเดียว เตือนมีบางกลุ่มหาประโยชน์ ครอบงำเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นนายหน้าค้าโครงการความมั่นคง
บนเวทีราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "หนึ่งทศวรรษปัญหาใต้ในมุมมองของ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน และ ดร.จรัญ มะลูลีม" ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 พ.ย.2556 วิทยากรหลักทั้ง 2 คน คือ ดร.วันกาเดร์ ในฐานะอดีตประธานเบอร์ซาตู และ รศ.ดร.จรัญ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นตรงกันว่าการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้แนวทางสันติวิธีเป็นหนทางที่ดีที่สุด พร้อมสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ แต่ต้องขยายกลุ่มพูดคุยให้กว้างขึ้น ไม่ใช่ให้น้ำหนักแค่บีอาร์เอ็นกลุ่มเดียวเหมือนที่ผ่านมา
ดร.วันกาเดร์ ซึ่งเคยเป็นแกนนำรวมกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนเพื่อความเป็นเอกภาพในการต่อสู้กับรัฐไทยในนามเบอร์ซาตู กล่าวว่า แนวทางแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทยในขณะนี้ถือว่าถูกทาง คือ 1.ใช้คนที่มีความรู้ดีไปแก้ปัญหา 2.คนที่ลงไปแก้ปัญหามีประสบการณ์สูงพอสมควร 3.ผู้รับผิดชอบการแก้ไขปัญหามีอำนาจเต็ม 4.มีงบประมาณเพียงพอที่จะแก้ปัญหา และ 5.มีระยะเวลามากพอ
"ผมคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว แต่ที่ยังแก้ไม่ได้เพราะ 1.เรายังใช้วิธีปราบปรามเป็นหลัก ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ยอมรับ 2.ต้องใช้แนวทางสันติวิธี มานั่งพูดคุยหาทางออกโดยไม่ต้องใช้ระเบิด ใช้ปืน แต่ใช้ความรู้ความสามารถมาแก้ 3.ต้องแก้ร่วมกัน ไม่ใช่ให้เจ้าหน้าที่รัฐแก้ฝ่ายเดียว แต่ต้องให้ผู้เห็นต่างจากรัฐมาแก้ด้วย ซึ่งในหมู่ผู้เห็นต่างก็มี 2 กลุ่ม คือกลุ่มเห็นด้วยกับสันติวิธี กับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ในเบื้องต้นก็ต้องดึงเอากลุ่มที่เห็นด้วยกับสันติวิธีมาร่วมกันแก้ปัญหาก่อน"
"4.ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาภายในของเรา ฉะนั้นเราต้องแก้ด้วยตัวของตัวเอง ไม่ใช่ข้ามพรมแดนให้คนอื่นมาแก้ มันผิดหลัก ไม่ต้องไปสวิตเซอร์แลนด์ หรือนอร์เวย์ แต่เราต้องแก้เองก่อน เอาทั้งหมดในประเทศมาคุยกัน ใช้สถานที่อย่าง จ.สุราษฎร์ธานี ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปที่อื่น และ 5.ต้องมีองค์กรหนึ่งที่สามารถชี้แนะได้อย่างถูกต้องแม่นยำว่าบุคคลใด กลุ่มใด องค์กรใดที่มีบทบาทในการสร้างปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ หมายถึงสามารถชี้ได้ว่าใครเป็นตัวจริง อย่าไปพูดกับคนอื่น ต้องเอาคนนี้ ไม่เช่นนั้นจะเสียเวลาเปล่า"
ป่วนใต้ฝีมือองค์กรไร้ชื่อ-แนะใช้ใต้ดินคุย
ดร.วันกาเดร์ กล่าวต่อว่า กลุ่มที่ก่อเหตุรุนแรงอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ขณะนี้ บางส่วนแตกออกจากกลุ่มองค์กรที่มีชื่อต่างๆ หลายเรื่องไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์ แต่เป็นเรื่องของความไม่พอใจ เมื่อไม่พอใจก็ก่อเหตุรุนแรง กลุ่มนี้ไม่มีชื่อกลุ่ม และเวลาทำอะไรก็ตัดสินใจเอง ไม่ได้รับคำสั่งจากใคร ฉะนั้นรัฐบาลต้องหาตัวให้เจอและพุดคุยด้วย วิธีการที่จะหาคนกลุ่มนี้ให้เจอ เมื่อเขาอยู่ใต้ดิน ก็ต้องใช้คนที่อยู่ใต้ดินในการพูดคุย
อดีตประธานเบอร์ซาตู กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเห็นว่าการแบ่งแยกดินแดนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แล้วในสมัยนี้ เพราะยุคของการยกดินแดนได้ผ่านไปแล้ว มันผิดสมัยไปแล้ว คนอื่นไม่แยกดินแดนกันแล้ว แต่เรากลับจะมาแยกดินแดน ดังนั้นควรมาอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และแก้ปัญหาโดยใช้สันติวิธี
แฉมีกลุ่มหาผลประโยชน์
ดร.วันกาเดร์ บอกด้วยว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาลไทยเคยดำเนินการมา ส่วนมากจะถูกครอบงำจากบางกลุ่มในพื้นที่ซึ่งมีผลประโยชน์แอบแฝง ทำให้คุยไม่ถูกตัว และแก้ปัญหาไม่ได้ ฉะนั้นต้องสะกิดรัฐบาลให้เอาคนที่ก่อเหตุจริงๆ มาคุย ต้องจี้คนออกคำสั่งมาให้ได้ และรัฐบาลต้องทำเอง ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งพาคนอื่น
"ตอนนี้ผมว่าเจ้าหน้าที่รัฐถูกให้ไปทางนั้นทางนี้ ต้องเข้าใจว่าพวกที่จะมาร่วมช่วยเรา เขาก็หวังผลประโยชน์ อย่าคิดว่าคนที่มาช่วยเราเขาจะเต็มที่โดยที่ไม่มีผลประโยชน์อะไร คิดอย่างนี้ผิดแน่นอน ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นคนนอกเขามีผลประโยชน์ของเขา ฉะนั้นต้องมองเห็น ถ้ากลุ่มในสามจังหวัดมีผลประโยชน์กับกลุ่มข้างนอกประเทศ อย่างนี้มันไม่มีทางสำเร็จ" อดีตประธานเบอร์ซาตู กล่าว
"จรัญ"รับมีนายหน้าค้าความมั่นคง
รศ.ดร.จรัญ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านมุสลิมศึกษา กล่าวว่า ปัญหาของการพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมา คือ การตีความข้อเสนอของฝ่ายไทย ไทยรับไม่ได้ทุกเรื่อง แล้วจะคุยไปทำไม ระยะหลังจึงมีการนำข้อเสนอที่เดิมรับไม่ได้มาพิจารณาใหม่หลายข้อ แต่ก็มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นเสียก่อน นอกจากนั้นรัฐบาลไม่ควรให้ความสำคัญกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งในลักษณะไปผูกติดกับตัวบุคคลมากเกินไป
"ภาคใต้มีนายหน้าค้าโครงการความมั่นคงกับรัฐอยู่เยอะ การไปฟังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมักไม่ได้ภาพที่แท้จริง การเจรจาที่ขีดเส้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมักไม่สำเร็จ ขณะเดียวกันเราเองยังแยกแยะสถานการณ์ต้นเหตุได้ไม่ชัดเจน วิธีการตีความของไทยมีกลุ่มผูกขาดความรักชาติ ทำให้เราขยับอะไรไม่ค่อยได้"
รศ.ดร.จรัญ กล่าวต่อว่า ถ้าให้มาเลเซียทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกอย่างเดียวก็ถือเป็นจุดอ่อน โดยหากมองกรณีที่ประสบความสำเร็จอย่างฟิลิปปินส์ จะพบว่ามีหลายกลุ่มเข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยเปิดเผยมากมาย ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย สหภาพยุโรป (อียู) องค์กรสตรี และอื่นๆ รูปแบบการพูดคุยควรจะปิดลับก่อน เหมือนกรณีปาเลสไตน์กับอิสราเอล ไปคุยกันโดยใช้นอร์เวย์เป็นคนกลาง และไม่เป็นข่าว
"ถ้าขึ้นโต๊ะแบบเปิดเผย เราไม่คุ้นเคยกับการให้อิสรภาพคนในประเทศ ก็จะเป็นปัญหาอย่างที่ปรากฏอยู่" นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุ
เตือนอย่าให้น้ำหนักบีอาร์เอ็นกลุ่มเดียว
รศ.ดร.จรัญ กล่าวอีกว่า ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ทำให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพยังไม่ประสบความสำเร็จ คือ อาจจะมีกลุ่มเคลื่อนไหวอีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้ถูกเชิญขึ้นโต๊ะเจรจาด้วย กลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรงอาจจะถูกทิ้งเอาไว้ เพราะรัฐไทยให้ความสำคัญกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นหลัก อาจจะคิดว่าเป็นกลุ่มใหญ่ ดังนั้นเราจึงต้องหันกลับไปดูและขยายโต๊ะพูดคุยให้กว้างขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม
"ยืนยันว่าปัญหาภาคใต้ไม่มีอำนาจภายนอกเข้ามาแทรกแซง เป็นเรื่องของคนในพื้นที่จริงๆ ความเชื่อที่ว่ามีการส่งเงินมาจากโลกอาหรับไม่น่าจะใช่เรื่องจริง คนที่ไปเรียนตะวันออกกลางส่วนใหญ่มีอุดมการณ์ เขาจะอยู่กับที่มากกว่าจะออกไปปฏิบัติ ฉะนั้นจึงควรแก้ปัญหาจากภายใน การเจรจาต้องได้รับความร่วมมือจากหลายสาย และเราก็สืบเสาะคนที่ร่วมเจรจาให้เอาคนที่มีบทบาท มีน้ำหนักในการพูดคุยมาร่วมด้วย" เขากล่าว
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศบนเวทีราชดำเนินเสวนา (ซ้าย) รศ.ดร.จรัญ มะลูลีม (กลาง) ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน