แกะรอย“ส่วนต่าง”ระบายข้าวถุง 5,000 ล.โยงโครงการ"ธงฟ้า-ร้านถูกใจ"
เปิดสำนวนสอบคดีระบายข้าวถุง ในมือ ป.ป.ช. แกะรอยเส้นทางเงิน “ส่วนต่าง” 5,000 ล้าน โยงโครงการ"ธงฟ้า- ร้านถูกใจ"
สร้างความฮือฮาให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก เมื่อ "นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม" ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ให้ข้อมูลต่อสภาผู้แทนราษฎรในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับปัญหาการทุจริตโครงการระบายข้าวถุง ว่า ผู้มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ มีการเรียกขอรับผลประโยชน์เป็นจำนวนสูงถึง 5 พันล้านบาท ส่วนวงเงินที่เหลือมีการยกให้ผู้เกี่ยวข้องไปแบ่งกันเอง
คำถามที่น่าสนใจคือ เงินส่วนต่างจำนวน 5 พันล้านบาทดังกล่าวมีอยู่จริงหรือไม่? ยอดส่วนต่างที่แท้จริงแล้วมีจำนวนเท่าไร และปัจจุบันไปอยู่ในกระเป๋าใครกันแน่?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการระบายข้าวถุง ของคณะอนุกรรมาธิการติดตามตรวจสอบชุด ที่มี พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ที่ส่งให้ ป.ป.ช. รับไปดำเนินการสอบสวนต่ออยู่ในขณะนี้ มีการระบุถึงวงเงินส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการนี้ไว้ด้วย
ทั้งนี้ คณะอนุกมธ.ฯ ระบุว่า จากการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกมธฯ เรื่องการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าวปี 2554/55 โครงการผลิตข้าวสารธงฟ้าราคาถูกเพื่อประชาชน ที่ในเบื้องต้นมีการประเมินว่า โครงการข้าวถุงอาจมีข้าวสูญหาย แอบไปขายทำกำไรในตลาดกว่า 1.1 ล้านตัน และผลจากโครงการจำหน่ายข้าวสารธงฟ้าราคาถูกเพื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมและพี่น้องมุสลิมภาคใต้ ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2554 จำนวนประมาณ 2.25 ล้านตัน โดยให้สำรวจข้าวเก่าที่ค้างในโกดังตั้งแต่ปี 2542 – 2552
พบว่ามีจำนวนข้าว 2.189 ล้านตัน ส่วนใหญ่นำไปแจกจ่ายผู้ประสบภัย และข้าวที่จัดให้กับพี่น้อง 3 จังหวัดภาคใต้อีกประมาณ 6 หมื่นตัน มอบให้ อคส. และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ดำเนินการจัดส่งรายละ 3 หมื่นตัน
แต่การส่งมอบข้าวไปยังภาคใต้กลับไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังตามมติ กขช. เมื่อปลายปี 2554
เพราะเมื่อมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่ามีการนำส่งข้าวถุงไปจำหน่ายประมาณหลักพันตัน ถึงหมื่นตันเท่านั้น จึงยังคงมีข้าวเหลือค้างในมือ อคส. และ อตก. ที่ยังไม่ได้จัดส่งจำนวนมาก
ต่อมาได้มีมติ กขช. ครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 อนุมัติให้มีการเปลี่ยนคุณสมบัติของข้าวที่นำไปช่วยเหลือประชาชน จากเดิมกำหนดให้ใช้ข้าวสต็อกเก่า คือ ข้าวนาปรังของปี 2552 ไปเป็นสต็อกใหม่ คือข้าวนาปีที่รับจำนำปี 2554/55
หลังจากนั้นอีกเพียง 3 เดือนเศษ ในการประชุม กขช. ครั้งที่ 1/2555 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ได้อนุมัติให้ อคส. นำข้าวสาร 5 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 1 แสนตัน ซึ่ง อคส. อ้างว่าได้จัดจ้างผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าว การบรรจุข้าว และกระจายสินค้าไว้แล้ว เพื่อให้มาจัดทำข้าวถุงธงฟ้าราคาประหยัดจำนวน 50,000 ตัน คิดราคาเนื้อข้าวในราคา 38.125 บาทต่อถุง 5 กิโลกรัม จำหน่ายในราคาปลายทางไม่เกินถุงละ 71 บาท เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปซื้อในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ลดค่าครองชีพของประชาชน ตามโครงการของกรมการค้าภายใน
จากมติ กขช. ที่ให้นำข้าวลงไปช่วยพี่น้องมุสลิมภาคใต้ ไปสู่การลดราคาขายข้าวในสต็อกของรัฐเหลือ 51 เปอร์เซ็นต์ เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป ก็ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ “ดึงดูด” ให้มีผู้สนใจเข้ามาร่วมการขับเคลื่อนโครงการขายข้าวถุงจำนวนมาก
เพราะถ้าบริษัทใดมีสายสัมพันธ์กันก็จะซื้อได้ในราคาถูกกว่าในท้องตลาด จากราคาขายส่งข้าวสาร 5 เปอร์เซ็นต์ของกรมการค้าภายในและสมาคมโรงสีข้าวไทยเฉลี่ย ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ตันละ 15,251 บาท คำนวณเป็นราคาเนื้อข้าว ต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 76.25 บาท/ถุง 5 กก. แต่การที่รัฐบาลลดราคาครึ่งหนึ่ง เท่ากับต้นทุนอยู่ที่ 38.125 บาท/ถุง
ดังนั้น ถ้าซิกแซกไม่นำข้าวที่ซื้อจาก อคส. ในราคาถูกนี้เข้าสู่ตลาดจริง ๆ ย่อมสร้างกำไรได้ถึงถุงละ 31.875 บาท
กขช. ได้จัดโครงการข้าวถุงธงฟ้าและข้าวถุงร้านถูกใจเบ็ดเสร็จอีก 5 แสนตัน ตามมติเมื่อวันที 31 พฤษภาคม 2555 โดยระบุว่า “อนุมัติให้นำข้าวสารขาว 5 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 4 แสนตัน และข้าวเหนียวขาว 11 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดยาวอีก 1 แสนตัน จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลจำหน่ายให้ อคส. เพื่อนำไปบรรจุถุง โดยถุง 1 กิโลกรัม ในราคาไม่เกินถุงละ 15 บาท และถุงละ 5 กิโลกรัม ราคาไม่เกินถุงละ 71 บาท จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน โดยคิดราคาเนื้อข้าวทั้ง 2 ชนิด ในราคาเดียวกันที่ราคา 7.625 บาท/ถุง 1 กิโลกรัม และราคา 38.125 บาท/ถุง 5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่ กขช. ได้เคยอนุมัติไว้ โดยให้ อคส. เป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพการบรรจุถุง และกระจายสินค้าจนถึงปลายทางตามช่องทางการตลาดทั่วไป และโครงการธงฟ้าราคาประหยัดและร้านถูกใจ”
โครงการนี้มีบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้ปรับปรุงข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ เจียเม้ง 50,000 ตัน นครสวรรค์ค้าข้าว 50,000 ตัน โชควรลักษณ์ 1.25 แสนตัน และสิงห์โตทอง 1.25 แสนตัน เป็นต้น
โดยทาง กขช. ได้ให้ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงคุณภาพข้าว ส่วนกระบวนการแจกจ่ายไปยังร้านถูกใจทั่วประเทศ มอบให้บริษัท นิ่ม ซี่ เส็ง จำกัด เป็นผู้ดำเนการและการจำหน่ายไปยังร้านค้าทั่วไปให้ สยามรักษ์ เป็นผู้ดำเนินการจัดส่ง
ต่อมาในช่วงปลายปี 2555 ก็มีมติ กขช. ออกมาอีกครั้ง อนุมัติให้นำข้าวในสต็อกออกมาจำนวน 1.8 ล้านตัน โดยอ้างโครงการธงฟ้า การลดค่าครองชีพ และร้านถูกใจ มีการเปิดประมูลให้บริษัทเอกชนเข้ามารับดำเนินการไปเป็นล็อต ๆ คราวละ 3 แสนตัน มีบริษัทที่ได้เข้าไปดำเนินการแปรสภาพเพื่อจัดจำหน่าย
ไฮไลต์อยู่ที่กลุ่ม 5 เสือในวงการค้าข้าว อาทิ เจียเม้ง พงษ์ลาภ นครหลวงค้าข้าว บวกด้วยเจ้าของฉายาเสือตัวใหม่อีก 2 เจ้าในวงการค้าข้าวคือ โชควรลักษณ์ และสิงห์โตทอง ที่ครองส่วนแบ่งโควตาข้าวในโครงการของกระทรวงพาณิชย์ได้ตลอด
ข้าวล็อตใหญ่ดังกล่าวยังคงเปิดให้ระบายผ่าน 2 ระบบ เช่นเดิม คือ ถ้าจัดส่งไปขายที่ร้านถูกใจ ต้องผ่านกระบวนการขนส่งสินค้าของบริษัท นิ่ม ซี่ เส็ง แต่ถ้าเป็นข้าวถุง อคส ที่จำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปอคส. อนุมัติการจัดจำหน่ายผ่าน 3 บริษัท คือ บริษัทสยามรักษ์ บริษัทคอนไซน์ฯ และบริษัท ร่มทอง
โครงการระบายข้าวของรัฐบาลเพื่อขายให้แก่ประชาชนในโครงการธงฟ้าและร้านถูกใจได้เปิดช่องให้ อคส. ระบายข้าวได้ในราคาต่ำเพียง 51 เปอร์เซ็นต์ของตลาด จำนวน 2.5 ล้านตัน หากคิดเป็นปริมาณข้าวถุงขนาดบรรจุ 5 กิโลกรัม จะมากถึง 500 ล้านถุง
ปรากฏหลักฐานว่า อคส. อนุมัติการส่งมอบข้าวให้เอกชนรับไปดำเนินการปรับปรุงสภาพ บรรจุถุง และจำหน่ายแล้ว 1.1 ล้านตัน แต่ในข้อเท็จจริงปรากฎว่าข้าวถุงธงฟ้า ไม่ว่าจะผ่านร้านถูกใจหรือขายตามร้านค้าทั่วไป กลับไม่ปรากฎในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
เมื่อมีการตรวจสอบเชิงลึกก็พบว่า ข้าวสารเหล่านี้ไม่ได้ถูกส่งไปจำหน่ายให้กับประชาชนตามวัตถุประสงค์
การส่งข้าวไปยังร้านถูกใจเป็นเพียงฉากหน้าเท่านั้น จริง ๆ แล้วตั้งแต่เริ่มโครงการนี้มีข้าวไปถึงมือประชาชนโดยผ่านร้านถูกใจน้อยมากแค่ 56,275 ตัน ทั้ง ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์เคยขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการร้านถูกใจถึง 10,000 แห่ง ใช้เงินไป 1,321 ล้านบาท แต่กลับไม่ได้มีการจัดส่งข้าวราคาถูกไปถึงมือประชาชนอย่างจริงจัง จึงไม่ทราบว่าข้าวที่ออกจากโกดังราคาลด 51 เปอร์เซ็นต์ จำนวนมากหายไปไหน
ทั้งนี้ เมื่อหักปริมาณข้าวที่จัดส่งไปให้ร้านถูกใจจำนวน 56,235 ตัน แล้ว จะเหลือปริมาณข้าวที่ อคส. อนุมัติระบายออกไปอีก 1 – 1.1 ล้านตัน ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่ามีการจำหน่ายให้กับประชาชนตาม “ร้านค้าทั่วไป” ในโครงการข้าวธงฟ้าราคาประหยัดเช่นเดียวกัน ตัวแทนจำหน่ายส่วนใหญ่บอกว่าไม่เคยได้รับข้าวในโครงการของรัฐดังกล่าว
ในการจัดจำหน่ายข้าวถุงธงฟ้าให้กับตัวแทนจำหน่ายทั่วไปนั้น อคส. ได้มอบให้ 3 บริษัท เป็นผู้ดำเนินการแทน โดยจะต้องส่งแผนงานด้านการตลาดมาให้ อคส. ตรวจสอบก่อน ว่าเมื่อรับข้าวสารไปบรรจุถุงแล้ว จะมีร้านค้าย่อยมารับสินค้าไปจำหน่ายให้ถึงมือประชาชนอีกทอดหนึ่ง อาทิ สยามรักษ์ ได้ส่งแผนการตลาดให้ อคส. มีร้านค้าส่งขนาดใหญ่เป็นเครือข่ายกระจายสินค้าขนาดใหญ่ และขนาดปานกลางในต่างจังหวัด 281 แห่ง และปริมณฑลอีก 1,141 แห่ง รวมเป็น 1,423 แห่ง เป็นต้น แต่ อคส. ก็ไม่เคยไปตรวจสอบว่าร้านค้าย่อย ๆ เหล่านี้เคยได้รับข้าวราคาถูกไปขายหรือไม่
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของคณะอนุ กมธ. พบว่า ร้านค้าที่ สยามรักษ์ หยิบยกขึ้นมาในแผนการตลาดส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้รับข้าวถุงธงฟ้ามาจำหน่าย และบางส่วนเคยได้รับข้าวแต่ก็ไม่ได้ขายในราคา 71 บาท/ถุง เพราะต้นทุนที่ซื้อมาสูงกว่ากำหนดไว้ และก็ไม่ได้จ่ายเงินตรงให้แก่ 3 บริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของ อคส.
แต่ถูกบังคับให้ต้องโอนเงินไปยังอีกบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าว และต้องไปรับข้าวเองที่ จ.อยุธยา จึงเกิดคำถามตามมาถึงกระบวนการครั้งนี้ว่ามีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นหรือไม่
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงจากการลงพื้นที่สำรวจตลาด พบว่ามีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเกิดขบวนการ “โยก” ข้าวถุงราคาถูกจากโกดัง อคส. ไปขายในตลาดทั่วไปหรือขายให้กับพ่อค้า แทนที่จะบรรจุถุงขายให้แก่ประชาชน ตามที่ กขช. กำหนดราคาขายไม่เกิน 71 บาท/ถุง ซึ่งคนที่ดำเนินการย่อมได้รับส่วนต่างก้อนมหาศาล เมื่อซื้อข้าวมาในราคาลด 51 เปอร์เซ็นต์ แต่ขายไปในราคาตลาด
อีกสมมติฐานหนึ่งที่คณะอนุ กมธ. คาดไว้ก็คือ มีการนำข้าวไปแปรเป็นข้าวถุงจริง ๆ แต่ตีตราแบรนด์อื่นที่ไม่ใช่ข้าวถุงธงฟ้าแล้วจำหน่ายในราคาเกินกว่า 111 บาท/ถุง เมื่อคำนวณดูแล้ว จากที่มีข้าวออกจากโกดัง อคส. ไปถึง 1.1 ล้านตัน แปรสภาพเป็นข้าวถุงขนาด 5 กิโลกรัมได้ประมาณ 221 ล้านถุง
ถ้านำไปขายในราคาตลาด นั่นก็คือส่วนต่างกำไรมากกว่าถุงละ 61 บาท เท่ากับมูลค่าเงินที่จะได้รับไปสูงถึง 13,211 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.ยุทธนา ให้สัมภาษณ์ยืนยัน สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ในการระบายข้าวของรัฐบาล มีการระบุตัวเลขไว้ที่จำนวน 2.5 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้ นับรวมกับข้าวที่จะนำมาทำเป็นข้าวถุง อยู่ด้วย
แต่ภายหลังจากที่คณะอนุกมธฯ ตรวจสอบพบความไม่ชอบมาพากลในเรื่องนี้ ก็มีการสั่งระงับการระบายข้าวถุงไป ทำให้จำนวนข้าวที่ถูกใช้ไปทำข้าวถุงอยู่ที่ตัวเลข 5 แสนกว่าตัน คิดเป็นวงเงินประมาณ 6-7 พันบาท
สอดคล้องกับ ข้อมูลของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ยืนยันว่า มีการนำข้าวไปทำข้าวถุง จำนวนแค่ 5.9 แสนตัน ส่วนข้าวที่เหลือได้สั่งให้คืนคลังทั้งหมดแล้ว
แต่ล่าสุด คณะอนุกมธฯ ระบุในรายงานการสอบสวนว่า จนถึงปัจจุบัน (22 พฤศจิกายน 2556) อคส. ยังไม่สามารถเรียกข้าวที่โรงสีเบิกไปปรับปรุงได้ครบตามจำนวนที่ แจ้งให้ทราบแต่อย่างใด
จึงทำให้ยังไม่มีตัวเลขยืนยันที่ชัดเจนว่า แท้จริงแล้ว ณ วันนี้ มีข้าวที่ถูกเบิกออกไปทำข้าวถุงเป็นจำนวนเท่าไร?
และเกิดวงเงินส่วนต่างที่แท้จริงเท่าไรกันแน่?